พาราสาวะถี
ถ้าจำกันได้เคยบอกไปแล้วว่า นโยบายอย่างหนึ่งที่พี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.จะไม่เหมือนกับน้องเล็กอย่างแน่นอนคือ การก้าวข้ามความขัดแย้งและสร้างความสามัคคีของคนทุกกลุ่ม
ถ้าจำกันได้เคยบอกไปแล้วว่า นโยบายอย่างหนึ่งที่พี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.จะไม่เหมือนกับน้องเล็กอย่างแน่นอนคือ การก้าวข้ามความขัดแย้งและสร้างความสามัคคีของคนทุกกลุ่ม ยืนยันแล้วจากจดหมายเปิดผนึกล่าสุด ที่พี่ใหญ่ได้สะท้อนให้เห็นปัญหาของการใช้ปลายกระบอกปืนมาล้มอำนาจจากการเลือกตั้ง ใช้กลุ่มอีลิทมาหนุนหลังเผด็จการเพื่อหวังว่าจะทำให้ประเทศชาติดีขึ้น นำไปสู่การปฏิรูป แต่สุดท้ายอำนาจที่อนุรักษ์นิยมให้การช่วยเหลือ ก็ไม่สามารถพาประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤตของความแตกแยกไปได้
การเปิดใจแบบนี้ เท่ากับเป็นการชี้ให้เห็นความแตกต่างอีกประการต่อวิถีทางการเมืองของพี่ใหญ่กับน้องเล็ก พี่ใหญ่เชื่อมั่นในกลไกและระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงซึ่งมีนักการเมืองเป็นตัวขับเคลื่อนจะสามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ดีกว่าอำนาจนอกระบบ นั่นเป็นเพราะการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารที่ผ่านการเลือกตั้งมานั้น มันถูกเลือกโดยประชาชน เช่นเดียวกับฝ่ายนิติบัญญัติในนามนักการเมืองที่ถูกโจมตีจากอำนาจเผด็จการนั้น ที่แท้จริงแล้วคนเหล่านี้ได้รับความเชื่อถือ ศรัทธาจากประชาชนมากกว่ากลุ่มอีลิททั้งหลายเสียด้วยซ้ำ เพราะคลุกคลี เข้าถึงและรับรู้ปัญหาของประชาชน
ไม่เพียงเท่านั้น จดหมายเปิดผนึกรอบนี้ของพี่ใหญ่ยังฉายให้เห็นภาพที่มุ่งกระแทกหมัดตรงไปยังน้องเล็ก โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ 2 ประการ หนึ่งคือ ต้นตอของปัญหาที่สร้างความขัดแย้ง ขยายเป็นความแตกแยก ระหว่าง “ฝ่ายอำนาจนิยม” กับ “ฝ่ายเสรีนิยม” ที่หาจุดลงตัวร่วมกันไม่ได้ เพราะพยายามหาทางให้ฝ่ายตัวเองชนะอย่างเด็ดขาด ทำลายอีกฝ่ายให้สิ้นสูญ กลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ กระทบต่อความเชื่อมั่นของต่างชาติ
มันสวนทางกับสิ่งที่น้องเล็กโพนทะนาทุกเมื่อเชื่อวันว่า ตัวเองและรัฐบาลตั้งแต่เผด็จการ คสช.จนถึงเผด็จการสืบทอดอำนาจได้รับเสียงชื่นชมและตอบรับจากต่างชาติเป็นอย่างดี นี่คือบทพิสูจน์ที่ว่า กว่า 8 ปีที่ผ่านมานั้น การถูกโจมตีว่าฝ่ายกุมอำนาจไม่ได้แก้ปัญหาความขัดแย้ง แต่ต้องการให้ความแตกแยกคงอยู่ต่อไปเพื่อที่ตัวเองจะได้อยู่ในอำนาจยาวนานต่อไปนั้นเป็น “เรื่องจริง” ถือเป็นเรื่องที่สร้างความอึดอัด ลำบากใจให้กับพี่ใหญ่และคนของพรรคสืบทอดอำนาจเป็นอย่างยิ่ง
ประการต่อมาที่พี่ใหญ่สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นจริงทางการเมืองนั่นก็คือ แม้ในการเลือกตั้งทุกครั้ง “ผู้ยึดครองอำนาจด้วยวิธีพิเศษ” จะตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาสู้ ซึ่งแม้จะหาทางได้เปรียบในกลไกการเลือกตั้ง แต่ผลที่ออกมาฝ่ายอำนาจนิยมจะพ่ายแพ้ต่อฝ่ายประชาธิปไตยเสรีนิยมทุกคราว จุดนี้อาจจะเป็นการเตือนไปถึงความพยายามของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและเหล่ากุนซือทั้งหลาย ที่ตั้งเป้าไว้ว่าหลังเลือกตั้งถ้ารวมเสียง ส.ส.ได้จำนวนหนึ่งบวกกับ ส.ว.ลากตั้ง จะสามารถทำให้ตัวเองกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ แม้จะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยก็ตาม
ความคิดแบบนี้ตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่า หากตั้งรัฐบาลได้จริงแม้จะเป็นเสียงข้างน้อยในระยะเริ่มต้น แต่จะสามารถใช้กล้วยสร้างแรงจูงใจ ล่อใจให้นักเลือกตั้งเสือหิวทั้งหลาย เปลี่ยนใจหรือย้ายสังกัดมาร่วมงานกันได้ ความเชื่อมั่นตรงนี้คงลืมไปว่าเสียงของ ส.ว.ลากตั้งไม่ได้แข็งแกร่ง สั่งซ้ายหันขวาหันเหมือนเมื่อคราวหลังเลือกตั้งปี 2562 อีกแล้ว สิ่งสำคัญการฝืนกระแสเสียงข้างมากของประชาชนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมามันก็มีให้เห็นแล้วว่า จุดจบเป็นอย่างไร
อย่างไรก็ตาม การก้าวข้ามความขัดแย้ง การแสวงหาแนวร่วมเพื่อทำให้เกิดความรัก ความสามัคคีของคนในชาติได้อย่างเป็นรูปธรรมตามที่พี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.ได้เปิดประเด็นมานั้น มีจุดที่ต้องขีดเส้นใต้คือ บรรดากลุ่มอีลิทที่ไปเป็นกองหนุนให้อำนาจเผด็จการหรือฝ่ายอนุรักษ์นิยมสุดโต่งนั้น ความจริงแล้วก็อยากที่จะเข้ามามีบทบาทหน้าที่ร่วมบริหารประเทศกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเหมือนกัน แต่ถูกระบบการเมืองกีดกัน เพราะต้องจัดสรรเก้าอี้ทางการเมืองตามโควตา ส.ส.ที่ได้รับเลือกมา
ถ้าเช่นนั้น ก็อาจจะมองต่อไปได้ว่าทิศทางนโยบายเรื่องการสร้างความปรองดองของพรรคสืบทอดอำนาจ ผ่านกระบวนการคิดของพี่ใหญ่และทีมที่ปรึกษาทั้งหลาย อาจจะมีเงื่อนไขหรือข้อเสนอสำหรับพรรคร่วมรัฐบาลในอนาคตที่จะต้องเชิญตัวแทนกลุ่มอีลิทบางรายเข้ามาร่วมเป็นเสนาบดี ทั้งนี้ เพื่อให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมสุดโต่งยอมรับ หรืออีกนัยหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นบทบาทที่ไม่ได้รับการเปิดเผยของพี่ใหญ่และทีมประสานคือ การถางทางเพื่อให้พรรคที่ชนะเลือกตั้งได้รับไฟเขียวในการตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง
แนวคิดเช่นนี้มีสัญญาณมาจากฝ่ายที่เคยถือหางขบวนการสืบทอดอำนาจมาก่อนว่าเป็นหนทางที่น่าจะทำให้ประเทศชาติก้าวข้ามปัญหาที่หมักหมมมานานอย่างแท้จริง แม้แต่ หม่อมเจ้าจุลเจิม ยุคล ยังได้โพสต์แสดงความเห็นต่อกรณีนี้ว่า ข้อเสนอของพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป. คือ ระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนเลือกผู้บริหารประเทศ แต่เปิดโอกาสให้ผู้มีความรู้ความสามารถเข้ามามีบทบาทร่วมในการพัฒนาประเทศ ถึงขนาดที่ว่าเจ้าตัวได้ขอนัดหมายพี่ใหญ่สอบถามถึงวิธีการที่จะดำเนินการเลยว่าเป็นอย่างไร
ต้องไม่ลืมเป็นอันขาดว่า ที่ผ่านมาประชาชนเสียงส่วนใหญ่เป็นฝ่ายเลือกผู้บริหารประเทศ แต่สุดท้ายเมื่อไม่ได้ดั่งใจหรือสร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มอีลิท ก็จะพากันรวมหัวทำทุกวิถีทางเพื่อล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ที่ท้ายที่สุดหนีไม่พ้นการรัฐประหาร เชื่อแน่ว่าผลพวงจากการรัฐประหารกว่า 8 ปีที่ผ่านมานั้น นอกจากไม่ตอบโจทย์การนำพาประเทศเดินไปข้างหน้าแล้ว ผู้ที่ได้รับผลกระทบไปเต็ม ๆ นอกเหนือจากความทุกข์ยากแสนเข็ญของประชาชนก็คือกลุ่มอีลิทเหล่านั้นนั่นเอง
อาการประหวั่นพรั่นพรึงของขบวนการสืบทอดอำนาจ รับรู้ได้จากการปล่อยข่าวพี่ใหญ่ไม่ได้ดีลตั้งรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย จนถึงการปรามาส เศรษฐา ทวีสิน ของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจที่ว่าเป็นใคร ไม่รู้ว่าเก่งมาจากไหน พร้อมการกระแนะกระแหนว่า ทีมเศรษฐกิจต้องทำเพื่อประเทศไม่ใช่ทำเพื่อครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง และบอกว่าประเทศไม่ใช่ธุรกิจ เพื่อกลบปมด้อยของตัวเองที่คนรู้กันทั้งประเทศว่าไม่มีฝีมือในการบริหาร ไม่ต้องพูดถึงวิสัยทัศน์ เหล่านี้คือ อาการปากกล้าขาสั่นอย่างแท้จริง