โรงงานเอเชียไม่จับมือไปด้วยกัน

ข้อมูลกิจกรรมโรงงานในเอเชียเดือน ก.พ.ที่ออกมาในช่วงนี้ ยังไม่ดีอย่างที่คิด ในขณะที่บางประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งจีน ดีอย่างน่าประหลาดใจ


ข้อมูลกิจกรรมโรงงานในเอเชียเดือน กุมภาพันธ์ที่ออกมาในช่วงนี้ ยังไม่ดีอย่างที่คิดและไม่ใปในทิศทางเดียวกัน ในขณะที่บางประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งจีน ดีอย่างน่าประหลาดใจ แต่ในญี่ปุ่นกลับสวนทาง นั่นหมายถึงว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ ยังไม่แน่นอนและยังมีโอกาสที่จะถดถอยได้อยู่ เนื่องจากเศรษฐกิจของชาติตะวันตกก็ยังไม่ฟื้นตัว กิจกรรมในภาคผลิตของสหรัฐฯ ก็หดตัวเป็นเดือนที่ 4 ในเดือนที่ผ่านมา ไหนจะภาวะ เงินเฟ้อและดอกเบี้ยที่ยังสูงอยู่ทั่วโลก

ข้อมูลที่ใช้วัดกิจกรรมโรงงานคือ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (พีเอ็มไอ) ในภาคผลิต ซึ่งหากตัวเลขสูงกว่า 50 ถือว่ากิจกรรมโรงงานขยายตัว แต่หากต่ำกว่า 50 ถือว่าหดตัว ดัชนีตัวนี้ยังเป็นตัววัดแนวโน้มเศรษฐกิจที่สามารถให้ข้อมูลสำคัญแก่ธุรกิจ ธนาคารกลาง รัฐบาล และนักลงทุนเกี่ยวกับสภาพธุรกิจในปัจจุบันและในอนาคตได้

จากข้อมูลดัชนีพีเอ็มไอของ เอสแอนด์พี โกลบัล เศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับแรงขับเคลื่อนจากภายในประเทศมากกว่า มีดัชนีพีเอ็มไอที่ขยายตัวต่อเนื่องในเดือน กุมภาพันธ์  แต่ศูนย์กลางการผลิตที่เน้นการส่งออกในเอเชียเหนืออย่างเช่น ญี่ปุ่น  เกาหลีใต้และไต้หวัน ยังขยายตัวได้ช้ากว่าและยังไม่พ้นดงหนาม

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดัชนีพีเอ็มไอของบ้านเราขยายตัว 54.8 ในเดือน กุมภาพันธ์ จาก 54.5 ในเดือน มกราคม ถือว่าดีที่สุดในภูมิภาค เนื่องจากอัตราผลผลิตและการผลิตในภาคการผลิตเพิ่มขึ้น ขณะที่ดัชนีพีเอ็มไอของเวียดนามก็โตขึ้นอย่างรุนแรงจาก 47.4 ในเดือน มกราคม เป็น 51.2 ในเดือน กุมภาพันธ์ ส่วนดัชนีพีเอ็มไอของฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และแม้แต่เมียนมาก็เป็นบวกทั้งสิ้น

การฟื้นตัวของกิจกรรมโรงงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปในทิศทางเดียวกับการฟื้นตัวของกิจกรรมในโรงงานจีนซึ่งขยายตัวรายเดือนสูงสุดในรอบ 11 ปี โดยดัชนีพีเอ็มไอเดือน กุมภาพันธ์อยู่ที่ 52.6 จาก 50.1 ในเดือน มกราคม และยังดีกว่าผลสำรวจของบลูมเบิร์กที่นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าจะอยู่ที่ 50.6 นอกจากนี้ตัวเลขดัชนีพีเอ็มไอนอกภาคผลิตของจีนทั้งในภาคบริการและก่อสร้างก็เพิ่มขึ้นเป็น 56.3 จาก 54.4 ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 54.9 เช่นกัน

ในทางกลับกัน กิจกรรมโรงงานในเอเชียเหนือบางประเทศ หดตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งญี่ปุ่น ดัชนีพีเอ็มไอโตลดลงเหลือ 47.7 ต่ำสุดในรอบกว่าสองปี ข้อมูลนี้ชี้ว่าธุรกิจในญี่ปุ่นยังคงเผชิญกับปัญหาหลัก ๆ เช่น การชะลอตัวทั่วโลก ต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น และการเรียกร้องให้บริษัทขึ้นค่าแรงแก่คนงาน ขณะเดียวกันโรงงานผลิตรถยนต์และชิพคอมพิวเตอร์ ได้ประกาศลดกำลังการผลิตในอัตราที่รวดเร็วสุดในรอบ 8 เดือนเมื่อเดือน มกราคม

กิจกรรมโรงงานของเกาหลีใต้ก็หดตัวเป็นเดือนที่แปดติดต่อกัน ดัชนีพีเอ็มไอเดือน กุมภาพันธ์อยู่ที่ 48.5 ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือน มกราคม เนื่องจาก อัตราผลผลิตและคำสั่งซื้อใหม่ยังหดตัวแม้ว่าจะกระเตื้องขึ้นบ้างแล้ว

ในเอเชียเหนือ กิจกรรมโรงงานในไต้หวันถือว่า ดีขึ้นมากสุด โดยดัชนีพีเอ็มไอกระโดดจาก 44.3 เป็น 49 แต่ก็ยังคงถือว่าหดตัวอยู่ ขณะเดียวกันตัวเลขเศรษฐกิจอื่น ๆ เช่น คำสั่งซื้อใหม่ และอัตราผลผลิต ก็ลดลง แม้ว่าแรงกดดันต่อซัพพลายเชนดีขึ้น

ส่วนในเอเชียใต้ ดัชนีพีเอ็มไอของอินเดียเดือน กุมภาพันธ์อยู่ที่ 55.3 ต่ำกว่า 55.4 ในเดือน มกราคมเล็กน้อย แต่ดีกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดไว้ที่ 54.3

สาเหตุที่ทำให้ดัชนีพีเอ็มไอในบางประเทศขยายตัวเป็นเพราะว่าอุปสงค์ในบริษัทจำนวนหนึ่งดีขึ้นโดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าจีนผ่อนคลายมาตรการคุมโควิด แต่ข้อมูลที่ยังไม่ไปในทางเดียวกันทั้งเอเชียก็ชี้ว่า จำเป็นต้องให้อุปสงค์ฟื้นตัวทั่วโลกจึงจะสนับสนุนการฟื้นตัวทั่วโลกได้

อย่างไรก็ดี มีข้อมูลที่เป็นข่าวดีนิดนึงเช่นกัน มูดีส์ ได้ปรับประมาณการเติบโตของจีนซึ่งเป็นเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก จาก 4% เป็น 5% ทั้งในปีนี้และปีหน้า เนื่องจากคาดว่าอุปสงค์ที่อัดอั้นไว้ในภาคที่ไม่เกี่ยวกับการค้า จะช่วยหนุนการบริโภคให้ฟื้นตัวตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลินี้ นอกจากนี้นักเศรษฐศาสตร์ของแคปิตอล อีโคโนมิกส์ ระบุว่า ประมาณการเติบโตต่อเศรษฐกิจจีนที่บริษัทได้คาดไว้ที่ 5.5% ในปีนี้ ก็อาจจะน้อยเกินจริง

การดีดตัวของดัชนีฮั่งเส็ง 4% หลังข้อมูลดัชนีพีเอ็มไอของจีนดีเกินคาดเมื่อวันพุธ เป็นการเน้นย้ำว่าข้อมูลกิจกรรมโรงงาน จะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นต่อไปทุกเดือน

Back to top button