KTC ตั้งสำรองสูงรับการเติบโต
KTC โครงสร้างรายได้ตามประเภทธุรกิจ ณ สิ้นปี 2565 1.บัตรเครดิต 60.6% 2.สินเชื่อบุคคล 38.2% 3.สินเชื่อตามสัญญาเช่า 1.2% ในปี 2565
คุณค่าบริษัท
บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC โครงสร้างรายได้ตามประเภทธุรกิจ ณ สิ้นปี 2565 1.บัตรเครดิต 60.6% 2.สินเชื่อบุคคล 38.2% 3.สินเชื่อตามสัญญาเช่า 1.2% ในปี 2565 พอร์ตสินเชื่อรวมขยายตัว 12.5% จากปี 2564 มีจำนวนพอร์ตรวมเท่ากับ 104,194 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นลูกหนี้บัตรเครดิตรวม 69,462 ล้านบาท (ขยายตัว 15.4%) ลูกหนี้สินเชื่อบุคคลรวม 32,283 ล้านบาท (ขยายตัว 10.4%) และลูกหนี้ตามสัญญาเช่า 2,449 ล้านบาท (ลดลง 23.5%)
KTC รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 4/2565 มีกำไรสุทธิ 1,666 ล้านบาท เติบโต 33.49% จากไตรมาส 4/2564 แต่ลดลง 6.03% จากไตรมาส 3/2565 ที่มีกำไร 1,773 ล้านบาท กำไรสุทธิที่ลดลงจากไตรมาสก่อน เนื่องจากค่าใช้จ่ายตั้งสำรองที่สูงขึ้น 18.1% และค่าใช้จ่ายการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น 10.7% จากค่าใช้จ่ายการตลาดที่สูงขึ้น อีกทั้งตัดจำหน่ายหนี้สูญที่เพิ่มขึ้นเป็น 1,300 ล้านบาท ขณะที่กำไรก่อนตั้งสำรอง (PPOP) ไตรมาส 4/2565 อยู่ที่ 3,609 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.2% จากไตรมาส 4/2564 และเพิ่มขึ้น 3.5% จากไตรมาส 3/2565 รายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น 16% จากปี 2564 และขยายตัว 10% จากไตรมาส 3/2565 จากการเบิกเงินสดล่วงหน้าเพิ่มขึ้น
อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio) ดีขึ้น โดยปรับลดลงมาที่ 1.8% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2564 ที่ 3.6% และไตรมาส 3/2565 ที่ 2.0% จากการตัดจำหน่ายหนี้สูญ โดยเฉพาะสินเชื่อเก่า KTBL (กรุงไทยลีสซิ่ง) ที่เป็นลูกหนี้ปรับโครงสร้าง ทำให้ credit cost ไตรมาส 4/2565 เพิ่มขึ้นเป็น 6.0% สูงขึ้นจากไตรมาส 3/2565 ที่ 5.3% โดย NPL ของลูกหนี้บัตรเครดิต, ลูกหนี้สินเชื่อบุคคล และลูกหนี้ตามสัญญาเช่าอยู่ที่ 1.1%, 2.8% และ 8.9% ตามลำดับ ด้านอัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) เพิ่มขึ้นเป็น 476.3% จาก 448.5% ในไตรมาส 3/2565 ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มมาก ส่วนต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาที่ 2.55% เทียบกับไตรมาส 3/2565 ที่ 2.44% จากการเน้นกู้เงินระยะยาวหรือตราสารหนี้ระยะยาวเพิ่มขึ้นเพื่อลดผลกระทบจากดอกเบี้ยขาขึ้น นอกจากนี้ยังมีวงเงินกู้เหลือจาก KTB อีกราว 20,709 ล้านบาท เป็นทางเลือกในการบริหารต้นทุนทางการเงิน
สำหรับไตรมาส 4/2565 และงวดปี 2565 ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรของ KTC มีอัตราขยายตัวที่ 19.3% และ 21.7% หรือมีมูลค่า 69,225 ล้านบาท และ 238,257 ล้านบาท ตามลำดับ ในปี 2565 ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรของ KTC เพิ่มขึ้นที่ 21.7% สูงกว่าการขยายตัวของอุตสาหกรรมที่ 21.5% พอร์ตสินเชื่อไตรมาส 4/2565 ขยายตัวได้ดีที่ 7.4% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2565 (สินเชื่อบัตรเครดิต ขยายตัว 13.1%, สินเชื่อส่วนบุคคล ขยายตัว 6%, สินเชื่อเช่าซื้อ เติบโต 26.6%) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย, การเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายภายในประเทศ และภาคการท่องเที่ยวที่เร่งตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ KTC มีกำไรสุทธิงวดปี 2565 จำนวน 7,079 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.4% จากปี 2564
บล.ดาโอ (ประเทศไทย) ระบุว่า คงประมาณการกำไรสุทธิปี 2566 ของ KTC ที่ 7.8 พันล้านบาท (เพิ่มขึ้น 10% จากปี 2565) จาก 1.สินเชื่อที่ขยายตัว 9% จากปี 2565 หนุนโดยการใช้จ่ายผ่านบัตรที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหมวดท่องเที่ยวที่กลับมาดีขึ้น จากการรับรู้การเปิดประเทศเต็มปี 2.loan yield ที่เพิ่มขึ้นเป็น 16.5% จากการกลับมาปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคล (high yield) ขณะที่ 3.ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 2.5% จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่เพิ่มขึ้น และ 4.credit cost สูงขึ้นเป็น 5.6% ตามการตัดจำหน่ายหนี้สูญที่เพิ่มขึ้น ทั้งสินเชื่อ KTBL เดิม และเป็นการบริหารจัดการให้ NPL ทรงตัวในระดับต่ำที่ 1.9% และประเมินว่า KTC มีความเสี่ยงที่ต่ำ จาก NPL ที่ทรงตัว ภายใต้ LLR/loan (ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม) ที่สูงถึง 9%
สำหรับการประเมินมูลค่า (Valuation) หุ้น KTC ราคาปัจจุบัน (ราคาปิดวันที่ 24 ก.พ. 2566 ที่ 58.75 บาท) ซื้อขายกันที่ P/E 21.40 เท่า สูงกว่า P/E กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ที่ 20 เท่า ส่วนค่า P/BV ของหุ้น KTC อยู่ที่ 4.83 เท่า สูงกว่า P/BV กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ที่ 2.33 เท่า