HTC โละทิ้ง 3 บริษัทลูก
ทันทีที่เข้าหน้าร้อน หนึ่งในหุ้นที่จะฮอตปรอทแตกรับอากาศร้อนทะลุ 40 องศา ต้องมีหุ้นน้ำดำ บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) หรือ HTC รวมอยู่ด้วยเสมอ
ทันทีที่เข้าหน้าร้อน หนึ่งในหุ้นที่จะฮอตปรอทแตกรับอากาศร้อนทะลุ 40 องศา ต้องมีหุ้นน้ำดำ บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) หรือ HTC รวมอยู่ด้วยเสมอ…
ด้วย HTC เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มน้ำดำ หรือน้ำอัดลมที่เราคุ้นเคยกันดีอย่าง “โค้ก” โดย HTC ได้รับลิขสิทธิ์จากโคคา-โคลา คัมปะนี (ประเทศสหรัฐอเมริกา) ให้ผลิตและจำหน่ายสินค้าภายใต้แบรนด์ “โคคา-โคลา” “แฟนต้า” “สไปรท์” และอื่น ๆ ที่โคคา-โคลา คัมปะนี เป็นเจ้าของ มีขอบเขตพื้นที่รับผิดชอบอยู่ใน 14 จังหวัดทางภาคใต้
สินค้าจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ผลิตภัณฑ์น้ำอัดลม คิดเป็นประมาณ 90% ของรายได้ทั้งหมด ได้แก่ โค้ก, แฟนต้า, สไปรท์ และผลิตภัณฑ์น้ำไม่อัดลม ได้แก่ น้ำผลไม้มินิทเมด, รูทเบียร์ เอ แอนด์ ดับบลิว และน้ำดื่มน้ำทิพย์
ทำให้ช่วงหน้าร้อนเป็นซีซันในการขาย ยอดขายจะโตระเบิดระเบ้อ ส่วนช่วงเวลาอื่นยอดขายจะดร็อปลงไป…
ดังนั้น พอเข้าหน้าร้อน ก็มักจะเห็นหุ้น HTC กระโดดโลดเต้น นักลงทุนเข้ามาไล่ราคากันอย่างเมามันส์..!!
หันไปดูผลงานในช่วงที่ผ่านมา ก็เติบโตดีนะ โดยปี 2561 มีรายได้รวม 5,722 ล้านบาท กำไรสุทธิ 249 ล้านบาท ปี 2562 มีรายได้รวม 6,790 ล้านบาท กำไรสุทธิ 440 ล้านบาท ปี 2563 มีรายได้รวม 6,444 ล้านบาท กำไรสุทธิ 566 ล้านบาท ปี 2564 มีรายได้รวม 6,544 ล้านบาท กำไรสุทธิ 535 ล้านบาท
แต่น่าเสียดายที่ผลงานปี 2565 ดร็อปลงไป…กำไรสุทธิอยู่ที่ 435 ล้านบาท ลดลง 18.7% จากปีก่อน และมีรายได้จากการขายอยู่ที่ 7,048 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.1% จากปีก่อน
สาเหตุที่ฉุดให้กำไรลดลง มาจากขาของต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนขายอยู่ที่ 4,228 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.6% ต้นทุนในการจัดจำหน่าย 1,449 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.4% และค่าใช้จ่ายในการบริหาร 878 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.1% ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารรวมอยู่ที่ 2,328 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.9% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายส่งเสริมการขาย ต้นทุนค่าขนส่ง ต้นทุนราคาน้ำมัน และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับบุคลากร
อ้อ…มีการบันทึกด้อยค่าของสินทรัพย์และขาดทุนจากการตัดทรัพย์สินจากการเลิกกิจการบริษัทย่อย 3 บริษัท จำนวน 23.4 ล้านบาทด้วยนะ
ก็สอดคล้องกับก่อนหน้านี้ที่ HTC แจ้งปิดกิจการ 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท หาดทิพย์ คอมเมอร์เชียล จำกัด ประกอบธุรกิจจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค, บริษัท หาดทิพย์ ฟู้ด แอนด์ เบฟเวอร์เรจเจส จำกัด ประกอบธุรกิจขายอาหารและเครื่องดื่ม และบริษัท กินดีอยู่ดี 2020 จำกัด ประกอบธุรกิจขายอาหารและเครื่องดื่ม
โดยให้เหตุผลว่า ทั้ง 3 บริษัทมีผลขาดทุนต่อเนื่อง ประกอบกับภาวการณ์ดำเนินงานไม่เอื้ออำนวย…
ชัดเจนว่า เมื่ออยู่ไม่ไหว… HTC ก็ถอยดีกว่า ไม่เอาดีกว่า..!!
ที่จริงทั้ง 3 บริษัท เป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นไล่เลี่ยกันเมื่อ 3 ปีก่อน หรือในเดือน ก.พ. 2563 แต่แทนที่จะมาช่วยสร้างการเติบโต กลับเป็นตัวฉุดซะงั้น HTC ก็เลยตัดสินใจ โละทิ้งไปเลยละกัน..!!
เอ๊ะ..!! หรือนี่เป็นการวางกลยุทธ์ใหม่ภายใต้การนำของคน GEN 2 หลังจากก่อนหน้านี้มีการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ในกลุ่ม “รัตตกุล” โดยมีการโอนหุ้นของ “ร.ต.ไพโรจน์ รัตตกุล” ให้กับลูก ๆ หลาน ๆ ไป…
ก็คงเป็นแนวคิดแบบหัวก้าวหน้าของคนรุ่นใหม่ล่ะมั้ง ถ้าทำแล้วไม่ซัคเซสก็ปิดไปเลย ไม่ต้องทู่ซี้ทำต่อไปให้กลายเป็นแผลเรื้อรังกัดกร่อนกำไร…
เรียกว่า ยอมเจ็บ…แต่จบ อะนะ..!!
…อิ อิ อิ…