TikTok กับการเลือกตั้งไทย
ตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา หนึ่งในแอปพลิเคชันที่ได้รับความนิยมมากสุด นั่นคือ TikTok และเป็นแพลตฟอร์มที่ถูกหยิบขึ้นมาเพื่อใช้กันอย่างแพร่หลาย
ตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา หนึ่งในแอปพลิเคชันที่ได้รับความนิยมมากสุด นั่นคือ TikTok และเป็นแพลตฟอร์มที่ถูกหยิบขึ้นมาเพื่อใช้กันอย่างแพร่หลาย โดย TikTok (หรือ Douyin ในประเทศจีน) เป็นแพลตฟอร์ม Social Media สังกัดของ ByteDance ที่เริ่มให้บริการเมื่อ 29 ก.ย. 2559 จุดเด่นคือการสร้างและแชร์วิดีโอสั้น ๆ กับเพื่อนบนโลกออนไลน์ โดยตัวแอปพลิเคชัน มีเอฟเฟกต์ต่าง ๆ ทั้งภาพและเสียง ให้ผู้ใช้ได้สนุกกับการแต่งวิดีโอของตัวเองตามที่ต้องการ
ช่วงที่ประเทศไทย กำลังเริ่มนับถอยหลังเพื่อเข้าสู่โหมด “การเลือกตั้ง” เป็นช่วงเดียวกันที่ TikTok ประเทศไทย ออกมาประกาศนโยบายของแพลตฟอร์มรับการเลือกตั้ง ตามมาด้วยข้อห้ามต่าง ๆ เริ่มจาก “ห้ามนักการเมือง-พรรคการเมืองซื้อโฆษณา-รับบริจาค” รวมถึงห้ามใช้ TikTok Shop ที่สำคัญมีการประกาศเดินหน้าเข้าหานักการเมืองและพรรคการเมืองต่าง ๆ เพื่อให้มีการลงทะเบียนเพื่อยืนยันตัวตน ป้องกันแอคเคานต์ปลอมด้วย
“ชนิดา คล้ายพันธ์” Head of Public Policy ของ TikTok ประเทศไทย ระบุชัดว่า “บนแพลตฟอร์ม TikTok จะไม่มีการอนุญาตให้มีการโปรโมตหรือการทำโฆษณาที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมืองโดยเด็ดขาด TikTok จึงได้มีการจัดประเภทของบัญชีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองให้เป็นบัญชีของรัฐบาลนักการเมืองและพรรคการเมืองหรือใช้ชื่อว่า GPPPA (Government, Politician, and Political Party Account) เพื่อสร้างขอบเขตที่ชัดเจนในการไม่อนุญาตให้บัญชีประเภทนี้ เกี่ยวข้องกับการสร้างรายได้ในทุกประเภทบนแพลตฟอร์ม TikTok”
ผู้ใช้งาน TikTok ที่เป็น GPPPA จะถูกจำกัดการใช้งานคลังดนตรีเชิงพาณิชย์ (CML) เพื่อป้องกันปัญหา ที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้เนื้อหาที่มีลิขสิทธิ์ เพื่อวัตถุประสงค์ด้านการโปรโมตแนวคิดทางการเมืองด้วย
โดย CML คือ แหล่งรวมแทร็กเพลงแบบไม่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์และได้รับอนุมัติล่วงหน้ากว่า 160,000 รายการ ที่พร้อมใช้งานทั่วโลก และมาจากศิลปินที่กำลังมาแรงและค่ายเพลงระดับแนวหน้า โดยมีแทร็กเพลงทั้งแบบมีและไม่มีเนื้อเพลงทุกแนว ตั้งแต่ดนตรีร็อกจนถึงโฟล์กด้วย
ที่สำคัญทีมงาน TikTok จะมีการเชิญให้พรรคการเมืองและนักการเมือง เข้ามาลงทะเบียนยืนยันตัวตน เพื่อป้องกันปัญหาแอคเคานต์ปลอม ที่อาจนำไปสู่การสร้างเนื้อหาและข้อมูลข่าวสารเท็จได้
เท่านั้นไม่พอ TikTok มีการสร้างศูนย์ข้อมูลการเลือกตั้ง (Election Centre) เพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานเข้าถึงข้อมูลที่เป็นทางการเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ทั้งขั้นตอนในการใช้สิทธิ์ ข้อมูลของพรรคการเมืองและนักการเมืองและข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง
มีการเชื่อมต่อข้อมูลกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะหน่วยงานที่ควบคุมดูแลการจัดการเลือกตั้งของไทยและเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้ใช้งานส่งต่อเนื้อหาที่ไม่ถูกต้องในช่วงของการเลือกตั้ง ก่อนที่ผู้ใช้งานจะกดยืนยันในการส่งต่อเนื้อหาจะมีข้อความขึ้นเตือนให้ผู้ใช้งานพิจารณาและตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน
หากผู้ใช้งานเห็นว่าเนื้อหาดังกล่าว ละเมิดหลักเกณฑ์สำหรับชุมชนหรือเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ผู้ใช้งานสามารถใช้ปุ่ม Election Report Button หรือ ปุ่มรายงานเนื้อหาเกี่ยวกับการเลือกตั้ง เพื่อรายงานเนื้อหาดังกล่าวได้เช่นกัน
ด้วยพลวัตทางเทคโนโลยี ทำให้สื่อโซเชียลมีเดียอย่าง TikTok กลายเป็นหนึ่งในช่องหลัก ที่จะถูกใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารเพื่อการเลือกตั้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ว่าแต่ละผู้เกี่ยวข้องจะใช้สื่อสารข้อมูลแบบใดและเพื่อประโยชน์อย่างใดเท่านั้นเอง และการออกมากำหนดนโยบายของ TikTok กับการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นไม่นานจากนี้
จึงดูเหมือนรู้เท่าทันเกมการเมืองได้อย่างดีทีเดียว..!!??