นโยบายจีน VS ท่องเที่ยวไทย
การประกาศนโยบายกลางที่ประชุมคณะกรรมการเศรษฐกิจและการเงินพรรคคอมมิวนิสต์จีน ว่าด้วยเศรษฐกิจยุคใหม่ มุ่งเน้นความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน
การประกาศนโยบายกลางที่ประชุมคณะกรรมการเศรษฐกิจและการเงินพรรคคอมมิวนิสต์จีน ว่าด้วยเศรษฐกิจยุคใหม่ มุ่งเน้นความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน (Common Prosperity) ที่ความมั่งคั่งจะถูกกระจายให้กับประชาชนทุกคน พร้อมการดูแลความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและการเงิน..ของ “ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง”
หมายถึงการดูแลไม่ให้ทรัพย์สินส่วนใหญ่ในประเทศกระจุกตัวอยู่กับคนกลุ่มน้อย รวมถึงชักจูงให้กลุ่มเศรษฐีและคนร่ำรวยตอบแทนสังคมมากขึ้น เพื่อร่วมกันยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชาติให้ดีขึ้นและเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทำให้ตลอดช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลจีนมีการจัดการกับกลุ่มคนระดับบนของสังคมจริงจังมากขึ้น เห็นได้จากการควบคุมอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ที่สร้างมหาเศรษฐีขึ้นจำนวนมากในประเทศ
มีการประเมินตัวเลขประชากรจีนในเมืองเศรษฐกิจชายฝั่งอย่างเซี่ยงไฮ้ มีรายได้ต่อหัวเฉลี่ยประมาณ 7,000 หยวนต่อเดือน สูงกว่าประชากรในเขตเมืองอื่น ๆ ที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวประมาณ 4,000 หยวนต่อเดือน ส่วนประชากรเขตชนบทส่วนใหญ่มีรายได้เฉลี่ยเพียงประมาณ 1,500 หยวนต่อเดือน
สำหรับแนวความคิด “ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน” ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1950 สมัยประธานาธิบดีเหมา เจ๋อตุง โดยช่วง ค.ศ. 1978 จีนเริ่มเปิดประเทศมีการมุ่งเน้นผลักดันคนมีงานทำ เพื่อจะได้มีรายได้และทำให้คนจนลดลง ผลักดันให้จำนวนเศรษฐีเพิ่มมากขึ้น
นั่นเป็นเหตุทำให้ตัวเลข GDP เติบโตอย่างรวดเร็วตลอดช่วง 30 ปี หลังเปิดประเทศ จนทำให้รัฐบาลจีนเริ่มมีการลดเป้าการเติบโตของตัวเลข GDP ลง พร้อมปรับการเติบโตเน้นลึกและกว้างมากขึ้น เริ่มตั้งแต่มีเทคโนโลยีของตัวเอง มีแบรนด์สินค้าที่อยู่ในเรดาร์ของผู้บริโภคทั่วโลก
ทำให้ Common Prosperity เกิดความสนใจกระจายไปทั่วโลก
ในรอบปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่านโยบายความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันของจีน เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น มุ่งเน้นการปฏิรูประบบเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เพื่อความเท่าเทียมกันมากขึ้นมีการกระจายรายได้ ลดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน และเป็นส่วนหนึ่งทำให้ตลาดหุ้นของจีนได้รับผลกระทบในภาพรวมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ส่วนไทยมีความเสี่ยงกับนโยบาย Common Prosperity ด้วยเช่นกันโดย KKP Research ประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย เริ่มจาก “ด้านการค้า” ด้วยเหตุการณ์ชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนระยะสั้น ทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศลดลง โดยเฉพาะประเทศแถบอาเซียน-เอเชีย และประเทศผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ
สำหรับ “ด้านการเงิน” การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) จากจีน ที่ก่อนหน้านี้เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวช่วงที่ผ่านมา มีการชะลอตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเกี่ยวข้องกับโครงสร้างการค้าไทยและจีน อาทิ ยางและพลาสติก รถยนต์และชิ้นส่วน การค้าส่งและค้าปลีก รวมไปถึง ภาคอสังหาริมทรัพย์
ที่สำคัญ “ด้านการท่องเที่ยว” เนื่องด้วยที่รัฐบาลจีนต้องการทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศ เป็นเครื่องยนต์หลักแต่กังวลเรื่องการเกิดภาวะขาดดุลบัญชีเดินสะพัด เนื่องจากทำให้ระดับหนี้เพิ่มสูงขึ้น ทำให้การลดการขาดดุลภาคบริการ อาจเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ดังกล่าว ทำให้ภาครัฐอาจใช้วิธีกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ
นั่นก็คือสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศและหากเกิดขึ้นจริง นั่นอาจทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนเข้าไทย ที่เคยสูงระดับ 11 ล้านคน (ช่วงก่อนโควิด-19) มีโอกาสลดลงอย่างมีนัยสำคัญเลยทีเดียว