‘ทางสามแพร่ง’ ค่าไฟฟ้า (งวดใหม่)
การพิจารณาค่า Ft งวดใหม่ และนำไปสู่ตัวเลขค่าไฟฟ้าทั้งครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม กลายเป็นโจทย์ร้อนของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน
การพิจารณาค่าเอฟที (Ft) งวดใหม่ (พ.ค.-ส.ค. 66) และนำไปสู่ตัวเลขค่าไฟฟ้าทั้งครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม กลายเป็นโจทย์ร้อนของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ถูกจับจ้องมากเป็นพิเศษจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งในฐานะผู้ผลิต-ผู้จำหน่าย-ผู้ใช้ไฟฟ้า ที่ต่างมีมุมมองเฉพาะตัวแตกต่างกันไป
นั่นจึงเป็นที่มา..ที่กกพ.เปิดรับฟังความเห็น 3 ทางเลือก ค่าเอฟทีงวด พ.ค.-ส.ค. 66 (ผ่านเว็บไซต์สำนักงานกกพ. ตั้งแต่วันที่ 10-20 มี.ค. 66) โดยพิจารณาจากการจ่ายคืนภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริง (คงค้าง) ของกฟผ. ส่งผลให้ 3 ทางเลือกค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 4.77 บาทต่อหน่วย หรือ 4.84 บาทต่อหน่วย หรือ 6.72 บาทต่อหน่วย
กรณีแรก (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้าง 1 งวด) ค่าเอฟที เรียกเก็บประจำงวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 66 จำนวน 293.60 สตางค์ต่อหน่วย แบ่งเป็นเอฟที ขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน พ.ค.-ส.ค. 66 จำนวน 63.37 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของกฟผ.ทั้งหมด หรือ เงินภาระต้นทุนคงค้างสะสมเดือน ก.ย. 64-ธ.ค. 65 จำนวน 150,268 ล้านบาท คิดเป็น 230.23 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.72 บาทต่อหน่วย
กรณีที่สอง (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้าง 5 งวด) ค่าเอฟที เรียกเก็บประจำงวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 66 จำนวน 105.25 สตางค์ต่อหน่วย แบ่งเป็นเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน พ.ค.-ส.ค. 66 จำนวน 63.37 สตางค์ต่อหน่วย และเงินทยอยเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงที่คาดว่าจะคงเหลือจากเดือน ม.ค.-เม.ย. 66 จำนวน 136,686 ล้านบาท บางส่วน
(เงินภาระต้นทุนคงค้างสะสมเดือน ก.ย.-ธ.ค. 65 หักภาระต้นทุนคงค้างที่ กกพ.เห็นชอบให้ทยอยเรียกเก็บบางส่วนเดือน ม.ค.-เม.ย. 66 จำนวน 22.22 สตางค์ต่อหน่วย เป็นเงินประมาณ 13,584 ล้านบาท)
โดยแบ่งเป็น 5 งวด งวดละ 27,337 ล้านบาท หรืองวดละ 41.88 สตางค์ต่อหน่วย เพื่อให้กฟผ.ได้รับเงินคืนครบภายในเดือน ธ.ค. 67 โดย กฟผ.ต้องบริหารภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชนจำนวน 109,349 ล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้า ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.84 บาทต่อหน่วย
กรณีที่สาม (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้าง 6 งวด) ค่าเอฟที เรียกเก็บประจำงวดเดือน พ.ค.-ส.ค 66 จำนวน 98.27 สตางค์ต่อหน่วย แบ่งเป็นเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน พ.ค.-ส.ค. 66 จำนวน 63.37 สตางค์ต่อหน่วย และเงินทยอยเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงคาดว่าจะคงเหลือจากเดือน ม.ค.-เม.ย. 66 จำนวน 136,686 ล้านบาท บางส่วน
โดยแบ่งเป็น 6 งวด งวดละ 22,781 ล้านบาท หรืองวดละ 34.90 สตางค์ต่อหน่วย เพื่อให้กฟผ.รับเงินคืนครบภายใน 2 ปี (ภายใน เม.ย. 68) โดยกฟผ.ต้องบริหารภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชนจำนวน 113,905 ล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้า ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.77 บาทต่อหน่วย
และนี่คือ “ทางสามแพร่งค่าไฟ” ที่ไม่ว่าเลือกทางไหนค่าไฟฟ้าต้องปรับขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขึ้นอยู่กับว่า..จะเลือก “เจ็บหนักแต่จบ” หรือ “เจ็บน้อยแต่ไม่จบ” เท่านั้นเอง..!!??