การเมืองแบบมาคิอาเวลลี

แบบแผนการเมืองในโหมดเลือกตั้งเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้น่าจะถึงเวลาของการเมืองแบบแฉ ซึ่งเป็นสูตรทั่วไปของมาคิอาเวลลีอย่างไม่ต้องสงสัย


แบบแผนการเมืองในโหมดเลือกตั้งเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้น่าจะถึงเวลาของการเมืองแบบแฉ ซึ่งเป็นสูตรทั่วไปของมาคิอาเวลลีอย่างไม่ต้องสงสัย

การเมืองแบบมาคิอาเวลลีคือการเมืองที่เน้นการได้มาซึ่งอำนาจ และรักษาอำนาจโดยไม่คำนึงถึงศีลธรรมและคุณธรรม

บรรยากาศแบบนี้เราเคยเห็นจนคุ้นชินมาแล้วได้แก่ การเปิดโปงหรือแฉโพยความผิดพลาดส่วนตัวของนักการเมืองที่เคยสร้างภาพเป็นคนดี หรือคนที่ทำประโยชน์เพื่อสังคม ซึ่งการเมืองทำนองนี้จะทำให้คนเบื่อหน่ายนักเลือกตั้ง หรือพรรคการเมืองจนเปิดช่องให้กองทัพทำรัฐประหาร โดยให้เหตุผลเรื่องคืนคุณธรรมให้สังคมหรือคืนความสงบให้สังคม

เราเห็นบรรยากาศของการเมืองแบบมาคิอาเวลลีได้จากการลุกขึ้นมากล่าวหาพรรคภูมิใจไทยและคนในตระกูลชิดชอบ ของนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ซึ่งอ้างฐานะความเป็นสื่อต่อนโยบายกัญชาเสรีและคำสั่งศาลคดีบุกรุกที่ดินเอามาทำสนามฟุตบอลและสนามแข่งรถในจังหวัดบุรีรัมย์

การแก้ตัวของพรรคภูมิใจไทยที่เป็นรูปธรรมด้วยการเพิ่มงบค่าตอบแทนให้แก่ อสม. ทั่วประเทศและนำเสนอเป้าหมายนโยบายที่ถูกใจลูกหนี้ที่เป็นเกษตรกรทั่วประเทศด้วยการพักชำระหนี้สถาบันการเงินเพื่อดึงคะแนนเสียงจากเกษตรกรโดยไม่สนใจกับปัญหาวินัยทางการเงิน ซึ่งอาจทำลายสถาบันทางการเงินได้ ซึ่งคงจะช่วยพรรคภูมิใจไทยไม่ได้มากนัก เพราะนโยบายพักชำระหนี้นั้นคงจะไม่เกิดขึ้นได้เนื่องจากถึงเวลาตั้งรัฐบาลพรรคการเมืองนี้อาจจะพลิกลิ้นได้เสมอและมีตัวอย่างให้เห็นมาแล้วตอนที่หาเสียงเลือกตั้งครั้งก่อน จะไม่สนับสนุน พลเอกประยุทธ์ แต่พอจะเข้าร่วมรัฐบาล บอกว่าไม่เคยพูดหน้าตาเฉยเสียยังงั้น

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งอ้างว่าเป็นพรรคเก่าแก่ที่สุดมีการแตกพรรคออกมาหลากหลายและหันมาแข่งกันเองแม้กระทั้งฐานเสียงเก่าของพรรคในเขตกทม. และภาคใต้ที่เคยประกาศว่าขนาดส่ง “เสาไฟฟ้า” ก็ยังจะได้รับเลือกเป็นส.ส. ก็เริ่มไม่ชัดเจนเสียแล้วว่า ภายใต้คุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ที่เป็นผู้นำแสนจะจืดชืด ซึ่งดูแล้วไม่มีบารมีเพียงพอจะสร้างคะแนนนิยมจากบัญชีรายชื่อกี่มากน้อย

พรรคนี้หลังเลือกตั้งอาจกลายเป็นพรรค “ต่ำกว่าสิบ” ได้ง่าย ๆ เพราะที่ผ่านมาแทบจะไม่มีผลงานอะไรเลย นอกจากการเดินตามหลังข้าราชการที่เป็นผู้กำหนดนโยบายที่แท้จริงมายาวนานแล้ว

การแฉล่าสุดจากเจ้าหน้าที่ตำรวจคดียาเสพติดที่มีชื่อของนาย อุปกิต ปาจรียางกูร ส.ว.ชื่อตระกูลดังนักการทูตพัวพันด้วยดูเผิน ๆ แล้วไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองหรือนักการเมืองคนไหน แต่หากมองให้ลึกแล้วงานนี้สะเทือนถึงหญิงหน่อย หรือคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (เกิด 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2504) เป็นประธานมูลนิธิไทยพึ่งไทย รวมถึงเป็นประธานและผู้ก่อตั้งพรรคไทยสร้างไทย และหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย ที่หลายคนมองว่าน่าจะเป็นติ่งของพรรคเพื่อไทย

เหตุผลก็คือนายอุปกิตนั้นเคยเป็นนอมินีให้กับคุณหญิงสุดารัตน์ในหุ้นที่ไม่ประสบความสำเร็จทางการเงินในการทำกำไร แต่เพิ่มทุนหลายครั้งด้วยราคาหุ้นเพิ่มทุนใหม่ที่เกินจริงได้ทุกเมื่อ อย่างบริษัท UPA ก่อนที่จะไปเป็นส.ว.จนถึงวันนี้

คุณหญิงสุดารัตน์คงต้องทำการแก้ต่างกรณีของนายอุปกิตว่า “หน่อยไม่เกี่ยว ๆ ๆ” หรือกลับเข้าไปซบตักพรรคเพื่อไทยในฐานะส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคเพื่อไทย โดยไม่จำต้องดันทุรังเป็นหัวหน้าพรรคเล็ก ๆ ที่ไม่มีนโยบายโดดเด่นอะไรเลย อย่างพรรคไทยสร้างไทย

พรรคเพื่อไทยของคุณอุ๊งอิ๊ง แพทองธารที่อุ้มท้องเอาเคล็ดที่หวังกวาด 310 ของส.ส.ทั้งแบบปาร์ตี้ลิสต์ภายใต้กลไกพรรคใหญ่ได้เปรียบที่ไม่เน้นนโยบายสนับสนุนประยุทธ์พร้อมทั้งชูแนวคิดเชิงยุทธศาสตร์บริหารประเทศด้วยแนวทาง “Creative Economy” ของพันศักดิ์ วิญญรัตน์ เพื่อเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจภายหลังยุคโควิด-19 ท่ามกลางความระทึกใจว่า พรรคนี้ จะสามารถก้าวข้ามกับดักของการรัฐประหารได้หรือไม่จากแนวทางการต่อสู้แบบ “สู้ไป กราบไป” ของการเมืองแบบมาคิอาเวลลีที่จะต้องเกิดขึ้นอีกครั้ง

บรรยากาศทางการเมืองแบบมาคิอาเวลลีนี้ มีคำเตือนสติแบบนวนิยายของรัดยาร์ด คลิปปิ้ง เรื่อง เมาคลี ลูกหมาป่า คือ “ถ้าคุณไม่อยากถูกล่า ก็ต้องเป็นนักล่าเสียเอง”

Back to top button