ผู้ร้ายตัวปลอมพลวัต 2015

ข่าวลือ และการขายหุ้นทิ้ง เป็นของคู่กันสำหรับตลาดหุ้นไม่ว่าที่ไหน การรับมือกับข่าวลือนั้นไม่ยาก แต่การรับมือกับการขายหุ้นทิ้งแบบเทกระจาด ยากยิ่งกว่ายาก


ข่าวลือ และการขายหุ้นทิ้ง เป็นของคู่กันสำหรับตลาดหุ้นไม่ว่าที่ไหน การรับมือกับข่าวลือนั้นไม่ยาก แต่การรับมือกับการขายหุ้นทิ้งแบบเทกระจาด ยากยิ่งกว่ายาก

โดยเฉพาะเมื่อวานนี้แรงขายหลักมาจากพอร์ตโบรกเกอร์เป็นหลัก ยิ่งอธิบายยากขึ้นไปอีก เพราะหาเหตุผลยากมากว่าอยู่ดีๆ ขายทำไม

การออกมาให้ข่าวโต้กระแสของผู้จัดการตลาดในตอนบ่ายวานนี้ นางเกศรา มัญชุศรี ที่ระบุว่า บริษัทจดทะเบียนของตลาดไทยมีพื้นฐานแกร่ง สามารถรับมือเศรษฐกิจผันผวนได้ เผยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิตั้งแต่ต้นปี เนื่องจากมองว่าตลาดเกิดใหม่ไม่โดดเด่น ไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก และไม่ทำให้เกิดแรงซื้อกลับ เพราะเข้าใจไปว่าคนขายหลักคือต่างชาติ ทั้งที่วานนี้ต่างชาติซื้อสุทธิ

ยิ่งรองนายกรัฐมนตรี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ด้วยแล้ว ออกมาระบุว่าอยากเตือนอย่าตื่นข่าวลือ EU คว่ำบาตรไทย ยืนยันยังไม่มีรายงานใดๆ เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ก็เป็นคนละเรื่องไปเลย

ดัชนีตลาดหุ้นไทย กลับไปที่จุดต่ำกว่าต้นเดือนตุลาคมอีกครั้ง คราวนี้เพราะพอร์ตโบรกเกอร์เล่นบทผู้ร้ายเสียเอง แม้จะไม่ถึงจุดต่ำสุดเมื่อต้นเดือนกันยายน หมิ่นเหม่

ไม่น่าแปลกใจ  เพราะดูเหมือนในช่วงนี้ นักวิเคราะห์หลายสำนัก แนะให้ขายมากกว่าซื้อเหมือนจะสมคบคิดกับเทรดเดอร์ของพอร์ตโบรกเกอร์เสียเอง เพื่อช่วยกันผลิตข่าวร้าย แล้วทำให้สมจริงขึ้นมาเพื่อสร้างอิทธิพลเหนือตลาด

หุ้นดี ที่พื้นฐานแข็งแกร่งแค่ไหน เจอสถานการณ์ตลาดแบบยี้ ก็ไม่สามารถมีสภาพแบบ “ดอกบัวบานในโคลนตม”

ยามนี้ ปัจจัยภายนอกของตลาดหุ้นไทย ถือว่าพ้นจากจุดต่ำสุดมาแล้ว แม้ว่ายังมีความเปราะบางอย่างมาก  ไม่ว่าจะเป็น

– ผลประกอบการโดยเฉลี่ยของบริษัทส่วนใหญ่ในสหรัฐ ยูโรโซน ญี่ปุ่น และจีน ต่ำกว่าคาด

– ราคาสินค้าโภคภัณฑ์รวมน้ำมันและทองคำ ยังคงถูกแรงกดดันจากอุปทานล้นเกิน

– เศรษฐกิจจีนที่แม้จะไม่เลวร้าย แต่ก็ยังปรับฐานต่อเนื่องจากกำลังการผลิตล้นเกินและยังต้องปรับสมดุลต่อไปอีกนานหลายเดือน

 การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดมีโอกาส ทำให้ค่าดอลลาร์สร้างความปั่นป่วนให้ตลาดเงินและตลาดทุนมหาศาล

ปัจจัยภายนอกดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องใหม่ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ และไม่ใช่ความไร้เหตุผล เป็นเรื่องที่ตลาดซึมซับไปหมดแล้วหลายครั้ง แต่การผลิตซ้ำเพื่อจะทำให้เกิดแรงขายระลอกใหม่ในตลาดหุ้นไทยล่าสุด น่าจะเกิดจากปัจจัยภายในที่ไม่สามารถผลิตข่าวดีได้มากเกินพอในการต่อสู้กับปัจจัยลบจากภายนอก

เจ พี มอร์แกน เชส แห่งสหรัฐ มีมุมมองตรงกันข้ามกับนักวิเคราะห์ไทย โดยล่าสุด ออกเอกสารชี้นำการลงทุนในตลาดหุ้นเกิดใหม่ทั่วโลกเมื่อวานนี้ว่า ช่วงเวลาของการขายแบบเทกระจาดในตลาดเกิดใหม่ ได้ผ่านเลยไปแล้ว ช่วงเวลาต่อจากนี้ไปจนถึงปีหน้าคือช่วงเวลาของการซื้อกลับ

เจพี มอร์แกน มองว่า ในปีหน้า ราคาหุ้นกู้โดยเฉลี่ยในตลาดเกิดใหม่จะเพิ่มขึ้น3.7% หลังจากที่ 3 ปีที่ผ่านมานี้ร่วงลงไปมากถึง 25% ส่วนหนึ่งมาจากอัตราการเติบโตของจีดีพีเฉลี่ยในตลาดเกิดใหม่จะดีขึ้นเพราะการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยคาดว่าจีดีพีเฉลี่ยจะโต3.7% เช่นกัน

คำพูดชี้แนะประเภท “ตลาดหุ้นผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว” ไม่ใช่คำใหม่ และหลายครั้ง ทำให้นักลงทุนที่เคยเจ็บตัว กับคำพูดคุ้นหูดังกล่าว ซึ่งเคยได้ยินซ้ำซากจากนักวิเคราะห์ในตลาดหุ้น หรือคนที่เกี่ยวข้องกับตลาดหุ้น จนลดความน่าเชื่อถือไปมาก พากันเข็ดขยาด และมองเห็นเป็นเพียงคำอธิบายเชิงปลอบประโลมใจในยามสถานการณ์เลวร้าย ที่ไม่ได้มีข้อมูลอะไรรองรับมากมาย

บางคนเลยเถิดถึงขั้นตั้งคำถามเชิงสงสัยว่า คนที่พูดประโยคนี้ ซ่อนความหมายอะไรแอบแฝงไว้ หรือมีเบื้องหลังที่ซ่อนความหมายเอาไว้

สิ่งที่น่าสนใจยามนี้ ที่สะท้อนว่ามีข้อความสนับสนุนน่าสนใจสำหรับข้อสรุปว่าตลาดหุ้นไทยและตลาดเกิดใหม่ทั่วโลก (ยกเว้นบางประเทศที่พื้นฐานเลวร้ายเกินกำลัง) มีโอกาสจะเทิร์นอะราวด์ รอบใหม่ได้ จากปัจจัยหลายด้านคือ

– ตลาดหุ้นทั่วโลกไม่ได้มีปัจจัยลบมากมายจนกระทั่งจะถล่มทลายซื้ออีกครั้งแบบเดือนสิงหาคมปีนี้

 สถิติจากสำนักวิเคราะห์กลยุทธ์ลงทุนระดับโลกหลายแห่งยืนยันตรงกันว่า เมื่อใดก็ตามที่ตลาดหุ้นเกิดใหม่ทั่วโลก มีทิศทางดิ่งลงแรงมากกว่าตลาดหุ้นหลักในประเทศที่เติบโตเต็มที่ การเหวี่ยงกลับเป็นขาขึ้นจะกลับแรงกว่าปกติ เหตุผลคือกองทุนเฮดจ์ฟันด์ระดับโลก จะปรับเปลี่ยนมุมมองว่า ราคาหุ้นในตลาดเกิดใหม่ ถูกและมีโอกาสให้ผลตอบแทนสูงกว่าตลาดหุ้นหลักของโลกเสมอ

ตัวเลขขายสุทธิตลาดปี2558 ของต่างชาติมากกว่า 1.22 แสนล้านบาทรวมทั้งวานนี้ อาจจะไม่มีนัยสำคัญมากไปกว่า การปรับพอร์ตเชิงกลยุทธ์ระยะยาวตามธรรมดา แต่ถามว่า พวกเขาจะกลับมาซื้อสุทธิต่อเนื่องยาวไกลอีกครั้งเมื่อใด คนที่จะให้คำตอบ คงไม่ใช่ผู้จัดการตลาดหุ้นไทย รองนายกสมคิด หรือกระทั่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

ในกรณีของเศรษฐกิจไทยและบริษัทจดทะเบียนในตลาดไทย ซึ่งถือเป็นหัวกระทิของเศรษฐกิจไทยนั้น หากเชื่อในมุมมองของธนาคารโลกที่ว่า ปี 2558 จะขยายตัวได้ราว 2.5% จากการใช้จ่ายภาครัฐ และรายรับจากการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะขยายตัวอย่างเข้มแข็ง ขณะที่ปี 2559 คาดการณ์ GDP ไทยขยายตัว 2% และในปี 60 ขยายตัวได้ 2.4% ก็ทำให้เศรษฐกิจไทยมีความหวังพอสมควร ไม่ถึงกับห่อเหี่ยวเสียทีเดียว และมีโอกาสที่จะเกิดการไหลกลับของทุนเก็งกำไรได้

เหตุการณ์ที่ขายหุ้นทิ้งเลวร้ายกว่านี้ เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับตลาดหุ้นไทย ยิ่งคนขายคือพอร์ตโบรกเกอร์ด้วยแล้ว โอกาสรีบาวด์กลับยิ่งเร็วขึ้น เพราะตัวผู้ร้ายรายนี้ ไม่ได้มีพลังอะไรมากมายนัก เป็นแค่กาฝากของตลาดเท่านั้นเอง

 

 

Back to top button