พาราสาวะถี
สอดรับกันอย่างมีนัยสำคัญ กกต.ประกาศแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 เขตทั่วประเทศเรียบร้อยแล้ว เตรียมส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาโดยเร็ว
สอดรับกันอย่างมีนัยสำคัญ กกต.ประกาศแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 เขตทั่วประเทศเรียบร้อยแล้ว เตรียมส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาโดยเร็ว ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นวันนี้ (17 มีนาคม) ขณะที่ วิษณุ เครืองาม ก็ยอมรับว่า ได้มีการร่างพระราชกฤษฎีกาประกาศยุบสภาไว้รอเรียบร้อยแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้เงื่อนเวลาที่มีการคาดหมายก่อนหน้าก็คือ จะมีการยุบสภาในวันที่ 20 มีนาคมนี้ การประชุม ครม.ที่มีอำนาจเต็มเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาจึงถือเป็นนัดสุดท้ายทิ้งทวน ที่มีการเทกระจาดงบประมาณกันเป็นว่าเล่น
อย่างไรก็ตาม หลังการยุบสภา เนติบริกรศรีธนญชัยได้อ้างความเห็นของกฤษฎีกายืนยันว่า แม้จะมีการยุบสภาไปแล้ว แต่การประชุม ครม.ก็มีได้ตามปกติ และมีหลายเรื่องที่นายกรัฐมนตรีลงนามเสนอเรื่องบรรจุวาระเข้าที่ประชุมได้อยู่ สิ่งสำคัญคือคำว่า ครม.รักษาการ เป็นภาษาพูดที่เรียกกันโดยตลอด แต่ในทางกฎหมายไม่ได้เรียก เพราะถ้าเรียกจะเกิดปัญหาขึ้น และในการลงนามหนังสือของรัฐมนตรีไม่ต้องวงเล็บว่ารักษาการ เรื่องนี้คณะกรรมการกฤษฎีกาเคยติงไว้แล้ว
มีแนวทางจากคำแนะนำของเนติบริกรศรีธนญชัยกันแบบนี้ ก็น่าสนใจว่าการทำหน้าที่รัฐบาลหลังการยุบสภาของรัฐบาลสืบทอดอำนาจ อาจจะไม่เหมือนรัฐบาลในอดีต ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าจะมีการใช้กลไกหรือไสยศาสตร์ทางกฎหมายเพื่อประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้องอย่างหนึ่งอย่างใดหรือไม่ แต่นั่นเป็นภาระและความรับผิดชอบที่ถือว่าผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและผู้ที่กล้าทำพร้อมที่จะเผชิญแล้ว คงไม่ใช่สาระที่คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจ
นาทีนี้อาจจะเรียกได้ว่าเข้าสู่โหมดเลือกตั้งแบบเต็มตัวได้แล้ว การตั้งข้อสังเกตต่อการแบ่งเขตเลือกตั้งของ กกต.โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม.ของหลายพรรคการเมือง เป็นเรื่องที่สามารถจะไปยื่นร้องขอความเป็นธรรม โดยที่บางพรรคการเมืองก็ได้ไปร้องต่อศาลปกครองแล้ว ต้องรอดูผลว่าจะเป็นอย่างไร ในทางการเลือกตั้งก็ถือว่า เมื่อมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ถือเป็นหน้าที่ของทุกพรรคการเมืองที่ต้องเตรียมความพร้อมในการวางตัวผู้สมัครรับเลือกตั้ง
วันนี้ สมศักดิ์ เทพสุทิน มีนัดแถลงความชัดเจนเรื่องการย้ายพรรค แทบจะไม่ต้องสืบแล้วว่าตีจากพรรคสืบทอดอำนาจไปสังกัดพรรคไหน เพื่อไทยคือบ้านหลังเก่าที่ผู้ยิ่งใหญ่แห่งสุโขทัยจะหวนกลับคืน เพราะบรรดาลูกทีมในสังกัดกลุ่มสามมิตรได้เปลี่ยนสีเสื้อมาซบพรรคนายใหญ่ไปก่อนหน้านี้แล้ว คงไม่ใช่การกลับมาคนเดียวในระดับนำ คำพูดของสมศักดิ์ก็คือ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ไปไหนตนก็ไปด้วย หมายความว่ามากันแบบแพ็คคู่เลยทีเดียว
ประเด็นที่คอการเมืองให้ความสนใจคือ ทำไมคนที่เป็นเจ้าของวลีทอง “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” อันหมายถึงคนของพรรคสืบทอดอำนาจในวันที่เป็นแกนหลักเพื่อการสนับสนุนผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจให้อยู่ในตำแหน่งนายกฯ อีกสมัยหลังการเลือกตั้งปี 2562 จึงกล้าที่จะย้ายข้าง มีสัญญาณอะไรที่ชัดเจนถึงขั้นสร้างความมั่นใจเกี่ยวกับทิศทางการเมืองหลังเลือกตั้งอย่างนั้นหรือ อย่าลืมว่าเจ้าตัวเพิ่งให้สัมภาษณ์ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ ทุกครั้งที่ตนตัดสินใจทางการเมืองจะต้องได้เป็นพรรครัฐบาลเท่านั้น
ตรงนี้ จะเป็นการสอดรับกับการนัดกินข้าวร่วมกันของ พี่ใหญ่แก๊ง 3 ป. กับ อนุทิน ชาญวีรกูล พร้อมด้วย ศักดิ์สยาม ชิดชอบ ที่หอบเอา ชาดา ไทยเศรษฐ์ ผู้กว้างขวางจากอุทัยธานีไปร่วมโต๊ะด้วย ที่ถูกมองว่าเป็นการแสดงพลังทางการเมือง ส่งซิกเรื่องความเป็นพันธมิตรหลังเลือกตั้ง อันจะมีผลต่อขั้วการเมืองที่จะเกิดขึ้น ยังคงเป็นขั้วการเมืองเดิม หรือขั้วการเมืองใหม่ ประสานักเลือกตั้งอาชีพย่อมสงวนท่าทีรอดูผลเลือกตั้งก่อนว่า แต่ละพรรคจะได้ ส.ส.กันกี่เสียง
ในแวดวงของกุนซือทั้งสองพรรคประเมินกันไว้เบื้องต้น ทั้งภูมิใจไทยและพลังประชารัฐ น่าจะได้ ส.ส.รวมกันไม่น้อยกว่าร้อยที่นั่ง และอาจจะเป็นสองพรรคที่เบียดกันมาเข้าป้ายในอันดับที่สองและสาม หรือสามและสี่ ปัจจัยชี้วัดสำคัญอยู่ที่ว่าเพื่อไทยจะแลนด์สไลด์อย่างที่ตั้งเป้าไว้หรือไม่ หากได้เสียงข้างมากและทิ้งห่างรวมไทยสร้างชาติของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ทั้งสองพรรคก็พร้อมที่จะเข้าร่วมทันที แต่ตรงนี้มีข้อแม้ว่าเพื่อไทยจะต้องได้ ส.ส.ไม่เกิน 270 หรือ 300 เสียง
เพราะถ้าพรรคนายใหญ่ได้ ส.ส.ในจำนวนที่ว่าจริง อาจจำเป็นจะต้องเลือกใช้บริการพรรคใดเพียงพรรคเดียว เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในเรื่องโควตารัฐมนตรี หากเป็นเช่นนั้นจริง ความเป็นไปได้ของพรรคพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.ก็จะมีมากกว่า เนื่องจากการต่อรองจะไม่หนักหน่วงเท่ากับพรรคของเสี่ยหนูที่มีอาจารย์ใหญ่จากบุรีรัมย์คอยบัญชาการเกม แต่ถ้าตัดประเด็นขอคุมกระทรวงใหญ่ กระทรวงเดิมไปได้ ก็น่าจะเป็นเหตุผลให้ได้รับการพิจารณาเข้าร่วมรัฐบาลอยู่
กรณีที่คนเป็นห่วง พันธมิตรฝ่ายค้านเดิมอย่างเสรีรวมไทยและก้าวไกล จะได้เข้าร่วมรัฐบาลหรือไม่นั้น พรรคของ พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส อาจจะไม่มีปัญหา แต่ก้าวไกลคงอยู่ที่การตัดสินใจของแกนนำไม่เฉพาะ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในฐานะหัวหน้าพรรคเท่านั้น คนเบื้องหลังอย่าง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ ปิยบุตร แสงกนกกุล ก็จะมีบทบาทต่อเรื่องนี้ด้วย ส่วนปมที่พลังประชารัฐและภูมิใจไทยตั้งการ์ดเรื่องแนวทางการเมืองที่มีข้อเสนออันเป็นเรื่องอ่อนไหวของก้าวไกลนั้น เมื่อถึงเวลาสิ่งที่เรียกว่าแสวงจุดร่วมสงวนจุดต่างก็จะถูกนำมาใช้ทันที
สำหรับข้อกังวลต่อการจ้องจะยุบพรรคทั้งเพื่อไทย ก้าวไกล พลังประชารัฐ และอาจพ่วงภูมิใจไทยไปด้วยนั้น มันอยู่ที่ความกล้าของผู้ที่จะลงมือพร้อมจะเผชิญกับการลุกฮือของผู้คนจำนวนมากหรือไม่ ปัจจัยสนับสนุนมันต่างจากก่อนและหลังเลือกตั้งปี 2562 อย่างสิ้นเชิง เวลานั้นอาจแยกได้ชัดว่าเป็นฝ่ายหนุนอนุรักษ์นิยมสุดโต่งกับฝ่ายประชาธิปไตย การชูเลือกความสงบจบที่ลุงจึงขายได้ แต่มา พ.ศ.นี้มันเป็นเรื่องของกลุ่มเอาลุงกับไม่เอาลุงไปแล้ว เห็นกันชัดว่าส่วนใหญ่นั้น “เบื่อลุง” และอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง