วัดใจ ‘เฟด’ ชะลอขึ้นดอกเบี้ย
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาธนาคารในสหรัฐฯ ถึง 2 แห่ง ปิดกิจการลงภายในระยะเวลาห่างกันไม่ถึง 48 ชั่วโมง ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงกันถ้วนหน้า
เส้นทางนักลงทุน
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีธนาคารในสหรัฐฯ ถึง 2 แห่ง คือ “Silvergate Capital” (SI) ผู้ให้บริการสินเชื่อด้านคริปโทเคอร์เรนซี และ “Sillicon Valley Bank” (SVB) ธนาคารที่เน้นการลงทุนและการปล่อยกู้ให้แก่สตาร์ตอัพ ต้องปิดกิจการลงภายในระยะเวลาห่างกันไม่ถึง 48 ชั่วโมง
การปิดกิจการของแบงก์ดังกล่าวส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงกันถ้วนหน้า เพราะมีความวิตกกังวลกันว่าอาจเป็นระเบิดลูกใหม่ที่ลุกลามจนกลายเป็นวิกฤตสถาบันการเงิน ดั่งเช่น “วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์” (Hamburger Crisis) หรือ “วิกฤตซับไพรม์”
ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) เร่งสร้างความเชื่อมั่นโดยสั่งการให้หน่วยงานกำกับดูแลด้านธนาคารของสหรัฐฯ (Federal Deposit Insurance Corporation : FDIC) หยุดความตื่นตระหนกการแห่ถอนเงินของผู้ฝากเงิน ด้วยการให้ FDIC เข้าคุ้มครองเงินฝาก SVB ทั้ง 100% จากเดิมจำนวนไม่เกิน 2.5 แสนดอลลาร์ฯ ต่อราย พร้อมสั่งปิดกิจการเพิ่มอีก 1 แบงก์ คือ Signature Bank ให้ความคุ้มครอง 100% เช่นกัน
แถม Fed ยังประกาศตั้ง Bank Term Funding Program เพื่อเป็นเครื่องมือให้ยืมเงินไม่จำกัดจำนวนแก่แบงก์เป็นระยะเวลา 1 ปี ซึ่งใช้พันธบัตรเป็นสินทรัพย์ค้ำประกัน และใช้วงเงินจำนวน 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ จากกระทรวงการคลัง
ความล่มสลายของ SI และ SVB แตกต่างกัน แต่อาจก่อให้เกิดปัญหาลุกลามได้หากขาดความเชื่อมั่น โดยปมปัญหาของ SI เกิดจากนักลงทุนเร่งถอนเงินออกจากบัญชีภายในระยะเวลาอันสั้นมากกว่า 8 พันล้านดอลลาร์ฯ จนแบงก์ขาดสภาพคล่อง อันเป็นผลจากลูกค้ารายใหญ่อย่าง FTX แพลตฟอร์มซื้อขายสกุลเงินคริปโทฯ ประกาศล้มละลายเมื่อปลายปีที่แล้ว และผู้ก่อตั้งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีข้อหาทุจริตทางการเงินหลายคดี
ส่วน SVB แบงก์ขนาดใหญ่ลำดับ 16 ของสหรัฐฯ ก่อตั้งในปี 2526 ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย เกิดภาวะล้มละลาย คนแห่ถอนเงิน หรือ Bank run จนถูกสั่งปิดกิจการ ลูกค้าของ SVB ไม่สามารถถอนเงินออกได้ชั่วคราว ทำให้เกิดผลกระทบต่อทรัพย์สินและกระแสเงินสดของบริษัทเทคและสตาร์ตอัพหลายแห่งที่ได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุนกลุ่ม Venture Capital หรือ VC
โดยนับตั้งแต่ Fed ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2565 ที่ผ่านจากระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ สู่ระดับ 4.75% เพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ ต้นทุนทางการเงินแพงขึ้น นักลงทุนจำนวนมากจึงเลือกลดความเสี่ยง ส่งผลต่อการระดมทุนของบริษัทเทคโนโลยีสตาร์ตอัพที่เป็นลูกค้าของ SVB
นอกจากนี้ ยังกระทบต่อแผนไอพีโอของสตาร์ตอัพให้ต้องหยุดชะงัก ส่วนการระดมทุนนอกตลาดก็มีค่าใช้จ่ายสูง ลูกค้า SVB จึงหันมาถอนเงินเพื่อนำไปเสริมสภาพคล่อง
ขณะเดียวกัน SVB ยังนำเงินฝากส่วนใหญ่ของลูกค้าไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เมื่อเกิดปัญหาขาดสภาพคล่อง ทำให้ต้องขายพอร์ตพันธบัตรมูลค่า 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ เพื่อหาเงินเสริมสภาพคล่อง แต่ด้วยดอกเบี้ยนโยบายที่สูงขึ้น ทำให้ผลตอบแทนเฉลี่ยในพอร์ตดังกล่าวอยู่ในระดับต่ำเพียง 1.79% SVB จึงต้องบันทึกขาดทุน 1.8 พันล้านดอลลาร์ฯ จากการขายในครั้งนี้
รวมทั้งยังไม่สามารถเพิ่มทุน หรือขายหุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิแปลงสภาพ มูลค่า 2.25 พันล้านดอลลาร์ฯ เพื่อหาเงินมาอุดรอยรั่วของปัญหาได้ เพราะนักลงทุนไม่เชื่อมั่นและแห่เทขาย กดราคาหุ้นตกลงกว่า 60%
ขณะที่ กองทุน venture capital บางราย เช่น Founders Fund ของ Peter Thiel เริ่มแนะนำให้สตาร์ตอัพในเครือข่ายถอนเงินออกจาก SVB ทั้งหมดทันที หรือลดจำนวนเงินฝากลงเพื่อกระจายความเสี่ยงจากการแห่ถอนเงิน กระทั่ง FDIC ได้มีคำสั่งปิดสำนักงานใหญ่และเข้าดูแลทรัพย์สินของแบงก์ทันที
“ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์” ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) ระบุว่า สถานการณ์ดังกล่าวเป็นสัญญาณให้ต้องระมัดระวัง เนื่องจากอาจไม่ใช่ SVB เพียงรายเดียวที่มีปัญหา และอาจไม่ใช่แบงก์สุดท้าย โดยนักลงทุนยังต้องเฝ้าระวังว่าสินทรัพย์อื่น ๆ ที่ปรับฐานลงมาพร้อม ๆ กันจะมีความเสี่ยงด้วยหรือไม่
รวมทั้งเห็นว่า Fed ต้องกลับมาทบทวนปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดกั้นเงินเฟ้อ เพราะนอกจากจะไม่สามารถหยุดยั้งเงินเฟ้อได้แล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงิน และการขึ้นดอกเบี้ยไม่ควรรุนแรง จากเดิมที่มีแนวโน้มว่าจะปรับขึ้นสู่ระดับกว่า 5-6% เพื่อหยุดผลกระทบปัญหาของสถาบันการเงินจากภาวะ Bank run เป็นการหยุดโรคระบาดทางการเงินได้
แม้ตลาดหุ้นทั่วโลกจะมีสัญญาณดีขึ้น ภายหลัง Fed ประกาศอุ้มผู้ฝากเงิน 100% และจะช่วยเหลือสภาพคล่องของแบงก์ แต่ “ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์” เชื่อว่านักลงทุนต่างชาติจะยังไม่กลับมาลงทุนในตลาดหุ้นไทย โดยระบุว่านักลงทุนกลุ่มนี้จะโฟกัสตลาดหุ้นไทยอีกครั้งเมื่อการเลือกตั้งในประเทศเสร็จสิ้น มีความชัดเจนว่าพรรคการเมืองใดจะได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล รวมทั้งใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของประเทศไทย
ดังนั้น การลงทุนระยะสั้นอาจต้องรอความชัดเจน ส่วนการลงทุนระยะยาวถือเป็นโอกาสในการสะสมสินทรัพย์ที่ราคาปรับตัวลงมาแรง โดยมองว่าการลงทุนในกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หรือกองรีท มีความปลอดภัยมากที่สุด
ก็หวังว่า Fed จะสามารถสกัดการลุกลามของปัญหาไม่ให้กลายเป็นโดมิโนได้ รวมทั้งกลับมาคิดใหม่ ทำใหม่ ด้วยการตัดสินใจชะลอขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งตอนนี้ทั่วโลกต่างพากันลุ้นว่า Fed จะตัดสินใจอย่างไรในการประชุมวันที่ 21-22 มีนาคม 2566 นี้ หลังจากเห็นการล่มสลายของ 3 แบงก์แล้ว