‘ต่างชาติ’ ขายหุ้นเอาเงินไปใช้ ‘เลือกตั้ง’ พ.ค.นี้ !?
ช่วงเดือน กุมภาพันธ์ มีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินที่ใหญ่ระดับโลก ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลก
ช่วงเดือน กุมภาพันธ์ มีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินที่ใหญ่ระดับโลก ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลก
นับตั้งแต่กรณีของการปิดตัวลงของ Silicon Valley Bank (SVB) ในช่วงต้นเดือน กุมภาพันธ์ ไม่กี่วันถัดมา ธนาคาร เครดิต สวิส (CS) ได้เกิดปัญหาสภาพคล่อง การปฏิเสธ เพิ่มทุนของกลุ่ม Saudi National Bank ผู้ถือหุ้นใหญ่เพราะจะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นเกิน 10% ซึ่งขัดต่อระเบียบ
โดยสองปัญหาดังกล่าว ได้ถูกรับปากจากธนาคารกลางของทั้งสองประเทศ (สหรัฐฯ-สวิส) พร้อมที่จะเข้ามาช่วยเหลือ เพิ่มสภาพคล่อง หากมีความจำเป็น
การเข้ามาช่วยเหลือรัฐบาลกลางคลายความกดดัน ความกังวลให้กับตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึงตลาดหุ้นไทยด้วย
ทั้งนี้ หากมองลึกลงไป ตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง เกิดขึ้นนับตั้งแต่ต่างชาติเริ่มขายสุทธิ ช่วงปลายเดือน มกราคม (30 ม.ค.) จนถึงปัจจุบัน ระยะเวลาเพียงแค่ 29 วันทำการ นั้น ดัชนีหายจากจุดสูงสุดที่ทำไว้ที่ 1,695 จุด (10 ม.ค.) นั้น หายไป 177 จุด หรือคิดเป็นการปรับตัวลดลง 10% เทียบจุดต่ำสุดระหว่างในวันที่ 14 มีนาคม ที่ระดับ 1,518 จุด
ฉะนั้น การจะออกมาตอบคำถามว่า ปัญหาของ SVB-CS จะเป็นชนวนที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยปรับลดลง คงจะเป็นคำตอบที่ถูกเพียงครึ่งเดียว
หากดูการปรับตัวที่ลดลง ที่ดิฉันพยายามสื่อสารผ่านคอลัมน์ก่อนหน้านี้ มันมีมาก่อนหน้าที่จะเกิดปัญหาของสถาบันการเงินดังกล่าว
แม้สถานการณ์สถาบันการเงินจะถูกเยียวยา หรือ ถูกดึงขึ้นมาจากหลุม แต่ใช่ว่า นักลงทุนต่างชาติ จะกลับมาซื้อหุ้นไทย เหมือนที่กลับเข้าไปซื้อหุ้นในแถบภูมิภาคเอเชีย
ฉะนั้น ต้องกลับมาโฟกัสถึง เหตุผลของการพลิกจากซื้อสุทธิ มาเป็น ขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติก่อนหน้านี้ เพราะประเด็นที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติ ที่เคยเขียนไปแล้วก่อนหน้านี้ คือ
“ต่างชาติผิดหวัง ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน”
โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่ม SET50 ที่เป็นหุ้นเป้าหมายของนักลงทุนต่างชาติ
ประเด็นความผิดหวัง ของผลประกอบการ อันนี้พอเข้าใจได้ แต่การเทขาย แม้ผลประกอบการจะออกมาเป็นที่ประจักษ์และรับรู้แล้วว่าไตรมาส 4/65 หรือทั้งปี 2565 ไม่ดี แล้วอนาคตล่ะ แนวโน้มปี 2566 ล่ะ ทำไมต่างชาติจึงเทขาย ต่อ?
นักลงทุนต่างชาติบางส่วน มองว่า แนวโน้มผลประกอบการในไตรมาส 1/66 หรือของทั้งปี 2566 อาจจะยังไม่ฟื้น อาจจะยังเมาหมัดโควิดที่ยังมีฤทธิ์ข้ามมาจากไตรมาส 4/65 หรือปี 65 เลยจึงมีแรงขายออกมาบ้าง
แต่ประเด็นหลัก ที่พอจะเห็นเค้าลางบ้าง คงมาอยู่ที่ประเด็น ใกล้จะมีการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ และนักลงทุนต่างชาติ ที่ซื้อสุทธิหุ้นไทยมาตลอดปี 65 จำนวน 2 แสนล้านบาท มีส่วนหนึ่ง (ส่วนใหญ่) เป็น “ฝรั่งหัวดำ” ที่มีความเกี่ยวข้องกับ “การเมือง”
ฝรั่งหัวดำ เหล่านี้ ต้องการดึงทุนกลับ เพื่อนำไปใช้เป็นกระสุนดินดำ และเสบียงกรัง ในการสู้ศึกเลือกตั้ง
ดิฉันจึงไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมข่าวดีการทะลักของตัวเลขนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาจับจ่ายใช้สอยในเมืองไทยใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิด จะสวนทางกับราคาหุ้น AOT ที่วันนี้ราคาต่ำกว่าช่วงต้นปี 66 อย่างเห็นได้ชัด
โดยราคาหุ้นอยู่ที่ 75.50 บาท (27 ม.ค.) เทียบกับราคา 68.50 บาท (10 มี.ค.) ก่อนเหตุการณ์ SVB-CS จะเกิดขึ้น ราคาหุ้นปรับลง 7 บาท หรือ 9.27%
ยังไม่นับรวมหุ้นที่ได้ประโยชน์จากภาครัฐ อาทิ กลุ่มที่ทำแบตเตอรี่, หุ้นรถอีวี และหุ้นโบรกเกอร์
รวมถึงหุ้นที่ทำธุรกิจตู้กดน้ำ สองแม่ลูก และยังมีหุ้นขนส่งสาธารณะ อีกด้วย
หุ้นเหล่านี้ หากเทียบช่วงเดียวกันกับหุ้น AOT ที่ราคาหุ้นทำจุดสูงสุดและจุดต่ำสุดของปีนี้ไปในทิศทางเดียวกัน อย่างไม่น่าเชื่อ และลงหนักกว่าเกือบเท่าตัว
ทั้งหลายทั้งปวง สิ่งที่น่าเชื่อถือที่สุด คือ “ราคาหุ้น” เพราะราคาหุ้นจะแสดงความคิดของอนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้น
ยิ่งถ้าใครไม่มีอินไซด์ และไม่ได้ใช้กราฟ เหมือนอย่างที่ “เสี่ยป๋อง วัชระ แก้วสว่าง” เซียนกราฟของเมืองไทย เคยบอกไว้ว่า “กราฟไม่เคยหลอกใคร” คงจะมึนงง กับ พฤติกรรมของราคาหุ้นที่ลงสวนทางกับ ข่าวดีที่ทะลักเข้ามา