‘เครดิต สวิส’ กระทบชิ่งแบงก์ไทย
วิกฤติธนาคารรอบนี้ เริ่มต้นจากสหรัฐเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จากการล้มละลายของธนาคารซิลเวอร์เกต ตามด้วยธนาคารซิลิคอนแวลลีย์ ธนาคารขนาดใหญ่อันดับ 16 ของสหรัฐ
วิกฤติธนาคารรอบนี้ เริ่มต้นจากสหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จากการล้มละลายของธนาคารซิลเวอร์เกต (Silvergate Bank) ธนาคารด้านคริปโทเคอร์เรนซี ตามด้วยธนาคารซิลิคอนแวลลีย์ (Silicon Valley Bank) ธนาคารขนาดใหญ่อันดับ 16 ของสหรัฐฯ จากสินทรัพย์มีมูลค่าตลาดสูงถึง 16,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 584,000 ล้านบาท มีความเชี่ยวชาญด้านการปล่อยสินเชื่อให้บริษัทด้านเทคโนโลยีเป็นการล้มละลายครั้งใหญ่สุดของธนาคารสหรัฐฯ นับตั้งแต่ปี 2008 และอีกหนึ่งธนาคารด้านคริปโทเคอร์เรนซี นั่นคือ..ธนาคารซิกเนเจอร์ (Signature Bank) ปิดตัวตามไปอีกราย..!!?
สัปดาห์นี้ข้ามฟากมาฝั่งยุโรป หุ้นธนาคารเครดิต สวิส (Credit Suisse Bank) ธนาคารขนาดใหญ่อันดับ 2 ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์และอันดับ 17 ของยุโรป
เนื่องจาก Credit Suisse เป็นธนาคารที่มีธุรกรรมในต่างประเทศค่อนข้างเยอะรวมถึงสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการสูงถึง 1.6 ล้านล้านฟรังก์สวิส หรือคิดเป็นเกือบ 10% ของ GDP ของ EU ส่งผลให้ Credit Default Swap (CDS) โดยเฉลี่ยปรับขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์
ล่าสุด UBS Group AG ธนาคารรายใหญ่ที่สุดของสวิตเซอร์แลนด์ บรรลุข้อตกลงเข้าซื้อกิจการธนาคารเครดิต สวิส วงเงิน 3,000 ล้านฟรังก์สวิส (3,230 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยหน่วยงานฝ่ายกำกับดูแลด้านการเงินของรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ ได้เข้ามามีส่วนการทำข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์นี้
“ดีลการซื้อกิจการ” ดังกล่าว เกิดขึ้นภายใต้การดำเนินงานร่วมมือกันระหว่างธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์, รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์และหน่วยงานกำกับดูแลตลาดการเงินของสวิตเซอร์แลนด์ โดยธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ ให้คำมั่นว่าจะจัดสรรเงินกู้ยืมจำนวนสูงถึง 100,000 ล้านฟรังก์สวิส (108,000 ล้านดอลลาร์) เพื่อสนับสนุนการเทกโอเวอร์กิจการ ขณะที่รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ ได้อนุมัติเงินค้ำประกันจำนวนสูงถึง 9,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อลดความเสี่ยงให้ UBS นั่นเอง
“ธนาคารที่ผ่านการควบรวมกิจการครั้งนี้จะมีสินทรัพย์ทั้งสิ้น 5 ล้านล้านดอลลาร์ และภายใต้ข้อตกลงกลุ่มผู้ถือหุ้นเครดิตสวิส จะได้รับหุ้น UBS จำนวน 1 หุ้นต่อหุ้นเครดิตสวิสทุก ๆ 22.48 หุ้นที่ถือครองอยู่”
“ธนาคารเครดิต สวิส” เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1856 ถือเป็นธนาคารที่เผชิญกับเรื่องอื้อฉาวมาหลายครั้ง ตลอดช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รวมถึง “ข้อหาฟอกเงิน” ด้วย ช่วงปี 2021-2022 เครดิต สวิส ต้องสูญเสียเงินจำนวนมหาศาล ถือเป็นปีเลวร้ายที่สุดของทางธนาคาร นับแต่วิกฤติทางการเงินปี 2008 ธนาคารส่งสัญญาณว่าไม่คิดว่าจะสร้างกำไรได้จนถึงปี 2024
แม้มีความชัดเจนกับแนวทางแก้ปัญหา “ธนาคารเครดิต สวิส” แต่หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยปรับตัวลง จากประเด็นกรณีมีการเทขายตราสารทางการเงิน ที่นับเป็นกองทุนสำรองส่วนเพิ่มชั้นที่ 1 (Additional Tier 1 หรือ AT1) ที่มีมูลค่ารวมกัน 275,000 ล้านดอลลาร์ หลังจากผู้ถือ AT1 ของ CS ไม่ได้รับสิทธิ์การเรียกร้อง (ประมาณ 17,000 ล้านดอลลาร์) ทั้งที่ผู้ถือหุ้นสามัญยังได้รับเงินคืนบ้าง (ประมาณ 3,250 ล้านดอลลาร์)
จากประเด็นดังกล่าวถูกมองจากวิเคราะห์ว่ามีผลเชิงลบที่จำกัดต่อกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทย เนื่องจากธนาคารไทย มีเงินกองทุนสำรองชั้นที่ 1 (Core Tier I) ถือว่าสูงอยู่แล้ว ที่สำคัญธนาคารไทยมี AT1 เพียง 3% ของเงินกองทุน นอกจากนี้แม้ว่าราคา AT1 ในตลาดของธนาคารจะปรับตัวลดลง แต่ไม่ต้องมีการปรับราคาตามตลาด (mark to market) เนื่องจากธนาคารเป็นผู้ออกตราสารมิใช่ผู้ถือตราสารดังกล่าว
นั่นถือเป็นเซนติเมนต์เชิงลบ..กระทบชิ่งมาถึงธนาคารพาณิชย์ไทย หากแต่จะ “ใช้ความกลัว..มาเป็นโอกาส” ช่วงเวลานี้ถือว่าน่าสนใจไม่น้อยทีเดียว..!!?