‘มัสต์ แฮฟ & มัสต์ แครี่’ โบว์ดำกสทช.
เมื่อคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย ส่งสัญญาณว่าจะไม่ซื้อลิขสิทธิ์การแข่งขันกีฬาซีเกมส์ 2023 เนื่องจากเจ้าภาพกัมพูชาตั้งราคาสูง
เมื่อคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย ส่งสัญญาณว่าจะไม่ซื้อลิขสิทธิ์การแข่งขันกีฬาซีเกมส์ 2023 เนื่องจากเจ้าภาพกัมพูชา ตั้งราคาสูงถึง 8 แสนดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 28 ล้านบาท) แต่มีความกังวลว่าประเด็นนี้จะผิดกฎ “มัสต์ แฮฟ” และ “มัสต์ แครี่” ที่ระบุชัดว่า 7 มหกรรมกีฬาต้องถ่ายทอดให้ชาวไทยได้รับชมกันอย่างทั่วถึง นั่นคือ..ซีเกมส์, เอเชี่ยนเกมส์, โอลิมปิกเกมส์, อาเซียน พาราเกมส์, เอเชี่ยน พาราเกมส์, พาราลิมปิกเกมส์ และ ฟุตบอลโลก..!!
ล่าสุดสำนักงานกสทช.โดย “มณีรัตน์ กำจรกิจการ” รักษาการรองเลขาธิการกสทช. ระบุว่า การบังคับใช้ของกฎ “มัสต์ แฮฟ” และ “มัสต์ แครี่” จะเริ่มต้นต่อเมื่อลิขสิทธิ์ถูกซื้อมาดำเนินการในประเทศไทย แต่ถ้าหากไม่มีการซื้อเข้ามา กฎดังกล่าวไม่ได้บังคับใช้หรือสรุปง่าย ๆ ว่า “ถ้าประเทศไทยไม่ซื้อก็ไม่ได้มีความผิดอะไร แต่ถ้าหากซื้อมาแล้วต้องถ่ายทอดสดให้คนไทย ได้รับชม ตามช่องทางที่ไม่เสียเงินค่ารับชม”
ส่วนจะซื้อลิขสิทธิ์หรือไม่ เป็นเรื่องที่คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยต้องพิจารณาต่อไป
ขณะเดียวกันอนาคตกสทช.อาจมีการพิจารณาทบทวนและยกเลิกกฎ “มัสต์ แฮฟ” และ “มัสต์ แครี่” โดยต้องยึดหลักการดังนี้ คือ 1) ตลาดเรื่องกีฬามีการแข่งขันกันสูง 2) ประกันการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน 3) วิถีของวงการกีฬาของโลก 4) กรอบกติกาที่ถือปฏิบัติกันทั่วโลกที่ต้องผ่านคณะทำงาน, ฟังความเห็นสาธารณะใช้เวลา 45 วัน ก่อนจะนำเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการ เพื่อจัดทำร่างและเสนอเข้าที่ประชุมบอร์ด ลงมติและประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
โดย มัสต์ แฮฟ (must have) คือ ประกาศกสทช. ว่าด้วยเรื่อง “หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญ ที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะทางฟรีทีวี” ประกาศนี้ออกมาช่วงปี 2555 (ปี 2012) ก่อนฟุตบอลโลก 2014 โดยออกมาเพื่อให้คนไทยสามารถเข้าถึงเนื้อหารายการโทรทัศน์ได้อย่างเท่าเทียม กำหนดรายการทีวีที่สำคัญให้ออกอากาศได้เฉพาะฟรีทีวีเท่านั้น บริการทีวีระบบบอกรับสมาชิก เช่น ทรู, CTH, หรือเคเบิลทีวีอื่น ๆ จะดูได้ผ่านทางช่องฟรีทีวีเช่นกัน
ส่วน มัสต์ แครี่ (must carry) คือ ประกาศกสทช. ว่าด้วยเรื่อง “หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป” เป็นประกาศที่ออกมาเพื่อป้องกันจอดำ โดยกำหนดให้รายการใน “ฟรีทีวี” ต้องสามารถดูได้ผ่านทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นภาคพื้นดินหรือระบบผ่านดาวเทียมหรือเคเบิลทีวี ไม่ว่าจะมีค่าสมาชิกหรือไม่ก็ตาม
ในอดีตมีฟรีทีวีที่อยู่ในรายการ must carry แค่ 6 ช่อง 3, 5, 7, 9, 11 และไทยพีบีเอส แต่ล่าสุดรายการ must carry เพิ่มขึ้นเป็น 36 ช่อง คือ ทีวีดิจิทัล ประเภทธุรกิจ 24 ช่อง และทีวีดิจิทัลบริการสาธารณะ 12 ช่อง (ไม่รวมทีวีดิจิทัลบริการชุมชน 12 ช่องแต่ละชุมชนจะมีช่องไม่เหมือนกัน) เพื่อให้ประชาชนคนไทยทุกคน สามารถรับชมการเผยแพร่กีฬา ที่สำคัญของโลกได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
จากวันนั้น..มาถึงวันนี้..พิสูจน์ชัดว่าด้วย “ความหวังดี” ของกสทช.มันกลายเป็น “ประสงค์ร้าย” แทนที่สามัญชนคนไทยจะได้ดูกีฬาอย่างทั่วถึงกลายเป็นไม่ได้ดูกันไปซะงั้น.!?
แทนที่จะเป็นผลงานชิ้น “โบว์แดง” กลับกลายเป็นผลงานชิ้น “โบว์ดำ” ที่ช้ำใจกันทั้งประเทศซะอย่างงั้น..!?
เมื่อกสทช.เป็น “ผู้ผูก” จึงต้องเป็น “ผู้แก้” เพราะขืนยังใช้กันต่อไป..คงไม่มีเอกชนหน้าไหนจะใจบุญ “ยอมซื้อลิขสิทธิ์” มาถ่ายทอดสดให้ดูฟรี ๆ โดยไม่ได้อะไรเลย
ยกเว้นซะแต่ว่าต้องใช้กำลังภายใน..เหมือนดั่ง “เอกชนบาง (ช่อง) ค่าย” ที่ทำให้เห็นมาแล้ว..นั่นเอง
แต่จะมีกี่เจ้าล่ะที่ทำได้แบบนี้..ไม่รู้..ไม่รู้..!!??