ตลาดการเงินโลกยังคงมีเสี่ยงและเปราะบาง
นโยบายการเงินตึงตัวยังเป็นความเสี่ยงที่ต้องจับตา และอาจกระทบต่อสถานการณ์สภาพคล่องในภาคธนาคารที่อาจจะลุกลามสู่ตลาดการเงินเป็นวงกว้างได้
InnovestX มองว่านโยบายการเงินตึงตัวยังเป็นความเสี่ยงที่ต้องจับตา และอาจกระทบต่อสถานการณ์สภาพคล่องในภาคธนาคารที่อาจจะลุกลามสู่ตลาดการเงินเป็นวงกว้างได้ โดยในฝั่งของนโยบายการเงิน ธนาคารกลางหลักทั้ง Fed และ ECB ยังคงดำเนินนโยบายทางการเงินตึงตัวขึ้นต่อเนื่องเพื่อคุมเงินเฟ้อ โดย Fed ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 25bps มาอยู่ที่ระดับ 4.75-5.00% ตามที่ตลาดคาด พร้อมทั้งปรับลดประมาณการ GDP ลงเล็กน้อย
ขณะที่ยังคงดอกเบี้ยขั้นสุดท้าย (Terminal Rate) ที่ 5.1% ส่วน ECB ขึ้นดอกเบี้ยอีก 50bps ตามที่ได้ส่งสัญญาณมาตั้งแต่การประชุมในครั้งก่อนหน้า โดยทั้งสองธนาคารยังคงจุดยืนที่จะลดอัตราเงินเฟ้อให้ลงมาสู่กรอบเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ในปัจจุบันที่ 4.8% สูงกว่าดอกเบี้ยระยะยาว 10 ปี ที่ 3.5% บ่งชี้สภาพ Inverted Yield Curve ที่รุนแรงขึ้น ด้านมาตรการรักษาเสถียรภาพภาคการเงิน ก็อาจมีความเสี่ยงมากขึ้นหลังจากที่ รมว. คลังสหรัฐฯ (นางเจเน็ต เยลเลน) กล่าวต่อสภาว่ารัฐบาลไม่ได้ประกาศที่จะประกันเงินฝากเต็มจำนวน 100% ทุกธนาคาร ต่างจากสัญญาณที่ส่งไว้ก่อนหน้าที่พร้อมจะเพิ่มการประกันเงินฝากมากกว่าระดับปัจจุบัน
บ่งชี้ว่าธนาคารขนาดกลางและเล็ก (Regional bank) ยังคงเสี่ยงต่อการที่เงินฝากไหลออกอย่างต่อเนื่อง (Silence bank run) ซึ่งทั้ง Inverted Yield Curve และ Silence Bank run ประกอบกับนโยบายภาครัฐที่ไม่ชัดเจน จะกระทบความเชื่อมั่น รวมถึงแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ และอาจนำไปสู่การตึงตัวของสภาพคล่องเป็นวงกว้างในระยะต่อไป
ส่วนภาพตลาดหุ้นไทย InnovestX มองว่า ช่วงสั้น SET จะแกว่งตัวในกรอบ 1,550-1,620 จุด โดยแม้ช่วงที่ผ่านมาการออกมาตรการที่รวดเร็วของธนาคารกลางจะช่วยลดความเสี่ยงที่วิกฤติจะลุกลามได้ดี แต่ประเมินตลาดการเงินโลกยังคงมีเสี่ยงและเปราะบาง จากผลกระทบของวิกฤติธนาคารในสหรัฐฯ และยุโรปที่ยังต้องติดตามต่อไป กลยุทธ์การลงทุนจึงแนะนำ “Selective Buy” ในธีมที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว ดังนี้
1)หุ้น Best of the best ภายใต้วิกฺฤติการเงินในสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งมีพื้นฐานและฐานะการเงินแข็งแกร่ง มีกำไรในปี 2566-67 เติบโตเฉลี่ยสูงกว่ากำไรของกลุ่มหุ้นที่เราแนะนำ Outperform และ Valuation ไม่แพง โดยซื้อขายด้วย PER และ PBV เฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ที่บริเวณ -1.0 ถึง -2.0 D. ทำให้คาด Downside เริ่มจำกัด จึงมองเป็นโอกาสซื้อสะสม เลือก AU, BBL, BDMS, CPALL และ GULF
2)นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ ซึ่งต้องการเก็งกำไรหุ้นที่คาดได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น หลังมอง กนง. จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 25bps ในการประชุมสัปดาห์หน้า เลือก KTB, KBANK
3)นักลงทุนรับความเสี่ยงได้ ซึ่งได้เข้าซื้อเก็งกำไรในหุ้นที่เคยแนะนำในช่วงที่ SET หลุด 1,600 จุด ได้แก่ PTTEP, HMPRO, CPALL, SCGP, GULF แนะนำรอจังหวะขายเมื่อมีกำไร หรือ SET กลับไปบริเวณ 1,600 จุด
4)Trading Idea :หุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งราคาหุ้นปรับตัวลงสวนทางดัชนีกลุ่ม Semiconductor ในสหรัฐฯ ขณะที่ผลประกอบการคาดจะผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาส 1/66 เลือก KCE, HANA
ขณะที่ช่วงสั้นยังคงแนะนำให้ระมัดระวังการลงทุนสำหรับหุ้นที่มีความเสี่ยงราคาปรับตัวลงหรือ Underperform ตลาด เนื่องจากแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 1/66 คาดยังหดตัวต่อเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน และจากไตรมาสก่อน ได้แก่ GFPT, CPF, BTS, ASP