SCC โยกย้าย..ถ่ายธุรกิจ
ช่วงระหว่างที่ SCGC เรือธงธุรกิจเคมิคอลส์ของกลุ่ม SCC เจอโรคเลื่อนแผนขายไอพีโอ ซึ่งเดิมกำหนดจะเข้าเทรดตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว
ช่วงระหว่างที่บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC เรือธงธุรกิจเคมิคอลส์ของกลุ่มบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC เจอโรคเลื่อนแผนขายไอพีโอ ซึ่งเดิมกำหนดจะเข้าเทรดตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว หรืออย่างช้าสุดก็ต้นปี 2566..!!
แต่จากสภาวะตลาดของธุรกิจปิโตรเคมีที่ยังอยู่ในวัฏจักรขาลง ประกอบกับมีปัจจัยกดดันจากเศรษฐกิจโลกที่อาจเข้าสู่ภาวะถดถอย ทำให้ถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่า SCGC จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เมื่อไหร่.? ซึ่งก็คงต้องร้องเพลงรอร๊อรอกันต่อไป
ระหว่างนี้ SCC ไม่ปล่อยให้นักลงทุนเฉา…ทำเซอร์ไพรส์ด้วยการใช้วิทยายุทธโยกย้ายเปลี่ยนเส้นเอ็น อุ๊ย…เดินเกม “โยกย้าย…ถ่ายโอนธุรกิจ” เพื่อจัดสตรักเจอร์ภายในกลุ่มเสียใหม่..!!
เริ่มจากการประกาศปรับโครงสร้างธุรกิจ (อีกครั้ง) โดยการยกสถานะ บริษัท เอสซีจี เดคคอร์ จำกัด (SCG Decor) หรือชื่อเดิม บริษัท เอสซีจี ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด ขึ้นเป็นเรือธงของกลุ่ม SCC ในการดำเนินธุรกิจผลิตกระเบื้องปูพื้น บุผนัง และสุขภัณฑ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ พร้อมอัพเกรดให้ SCG Decor เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
แต่เนื่องจาก SCC มีบริษัท เอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ COTTO (SCC ถือหุ้น COTTO 82.75%) ลูกอีกหนึ่งคนที่เกิดจากการควบรวมกันระหว่าง บริษัท ไทย-เยอรมัน เซรามิค อินดัสทรี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TGCI และ 4 บริษัทย่อยของ SCC นั่นคือ บริษัท เซรามิคอุตสาหกรรมไทย จำกัด, บริษัท เดอะ สยาม เซรามิค กรุ๊ป อินดัสทรี่ส์ จำกัด, บริษัท โสสุโก้ แอนด์ กรุ๊ป (2008) จำกัด และ บริษัท เจมาโก จำกัด…ทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายกระเบื้องเซรามิกและบุผนังเป็นธุรกิจหลัก ภายใต้แบรนด์ คอตโต้ (COTTO) โสสุโก้ (SOSUCO) และ คัมพานา (CAMPANA) อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่แล้ว…
ก็เลยเป็นที่มาให้ SCG Decor ประกาศตั้งโต๊ะเทนเดอร์ฯ หุ้น COTTO ส่วนที่เหลือทั้งหมด ในราคาหุ้นละ 2.40 บาท จากนั้นก็จะเพิกถอนหุ้นออกจากตลาดฯ…ปิดตำนานหุ้น COTTO ไปโดยปริยาย..!!
ส่วนผู้ถือหุ้นคนอื่น ๆ ของ COTTO ที่เห็นดีเห็นงามกับการปรับโครงสร้างครั้งนี้ ก็จะเปลี่ยนมาถือหุ้น SCG Decor แทน จากการใช้วิธีสวอปหุ้น หรือแลกหุ้น COTTO กับหุ้น SCG Decor นั่นเอง…
คำถามที่หลายคนคงอยากรู้ ทำไม SCC ต้องทำอย่างนี้ด้วยล่ะ..?
คำตอบ นอกจากเรื่องการสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ เพื่อการเติบโตในระยะยาวแล้ว อีกเหตุผลที่ซ่อนอยู่ น่าจะเป็นการอัพแวลูให้กับตัวธุรกิจผลิตกระเบื้องปูพื้น บุผนัง และสุขภัณฑ์นั่นแหละ…เพราะหลังจากเอา COTTO มาอยู่ภายใต้ SCG Decor แล้ว จะทำให้สินทรัพย์ของ SCG Decor ใหญ่ขึ้น เวลาจะกลับเข้าตลาดฯ ก็จะมีมูลค่ามากขึ้น…
ถ้านึกภาพไม่ออกให้นึกถึงกรณีบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ IVL…ซึ่งก่อนที่จะมาเป็น IVL ในปัจจุบัน เดิมเคยชื่อ บริษัท อินโดรามา โพลิเมอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ IRP แล้วกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ “อาลก โลเฮีย” ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกัน ก็ถอนหุ้น IRP ออกจากตลาดฯ จากนั้นมีการปรับโครงสร้าง แล้วเข้าตลาดฯ มาใหม่ แต่ใหญ่กว่าเดิม เป็น IVL ในปัจจุบัน…
กรณีของ SCG Decor ก็คล้ายคลึงกับ IVL แหละ…จากเล็กกลับมาใหม่ แต่ใหญ่กว่าเดิม..!!
ไม่หมดเท่านี้…SCC ยังมีการโยกย้ายผู้บริหารระดับสูง 2 ตำแหน่งอีกด้วย เริ่มจาก “ศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ” ซึ่งเดิมนั่งประธานเจ้าหน้าที่สายงานพาณิชย์ ควบด้วยรองผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจต่างประเทศ และรองผู้จัดการใหญ่ สายธุรกิจไวนิล ธุรกิจเคมิคอลส์ และ Country Director-Vietnam, SCG…ปรับให้เหลือแค่ประธานเจ้าหน้าที่สายงานพาณิชย์ และรองผู้จัดการใหญ่ สายธุรกิจไวนิล ธุรกิจเคมิคอลส์ และ Country Director-Vietnam, SCG
ฟาก “กุลเชฏฐ์ ธาราจันทร์” จากเดิมนั่งประธานเจ้าหน้าที่สายงานการเงิน ธุรกิจเคมิคอลส์ ก็โยกไปนั่งรองผู้จัดการใหญ่ สายธุรกิจโอเลฟินส์ ประเทศเวียดนาม ธุรกิจเคมิคอลส์
ถ้าสังเกต 2 ผู้บริหารที่มีการโยกย้ายนั้น เป็นในส่วนของธุรกิจเคมิคอลส์…เอ๊ะ หรือนี่จะเป็นการส่งสัญญาณว่า ใกล้ได้ฤกษ์งามยามดีที่ SCGC จะเข้าตลาดฯ อ๊ะป่าว..?
เรื่องทั้งหมดก็เป็นเช่นนี้ค่ะคุ้ณณณ…
…อิ อิ อิ…