ผลประโยชน์ชาติไทยหรือจีนขี่พายุ ทะลุฟ้า

MSCI ดัชนีชี้วัดการลงทุน ที่ได้รับความเชื่อถือไปทั่วโลก ได้ปรับลดน้ำหนักลงทุนในตลาดหุ้นไทยไปแล้วในงวดประเมินที่มีผลบังคับตั้งแต่ 1 ธ.ค.ศกนี้เป็นต้นมา


MSCI ดัชนีชี้วัดการลงทุน ที่ได้รับความเชื่อถือไปทั่วโลก ได้ปรับลดน้ำหนักลงทุนในตลาดหุ้นไทยไปแล้วในงวดประเมินที่มีผลบังคับตั้งแต่ 1 ธ.ค.ศกนี้เป็นต้นมา

แต่ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก ยืนยันว่า อาจจะมีการปรับน้ำหนักลงทุนเพิ่มขึ้นใหม่ในปีหน้า โดยเฉพาะหากโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล มีการลงมือดำเนินการที่เป็นจริง

ครับเงื่อนไขการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทยก็ดี การฟื้นตัวของตลาดหุ้นไทยก็ดี ล้วนแล้วแต่ผูกชะตาอนาคตไว้กับการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐบาล ที่เฝ้ารอคอยมาแล้วเล่าด้วยกันทั้งนั้น

โครงการลงทุน 2.2 ล้านล้านบาทของรัฐบาลที่แล้ว ก็ล้มไปเพราะศาลรัฐธรรมนูญตัดสินชี้ขาดว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เนื่องจากถนนลูกรังยังไม่หมดไปจากประเทศไทย

มาถึงรัฐบาลอันเกิดจากการรัฐประหารชุดนี้อีก เวลาได้ล่วงเลยผ่านมาแล้ว 1 ปีครึ่ง ก็ยังไม่เห็นจะมีวี่แววอะไรให้เห็นเลย

ท่วงท่าการทำงานของกระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นจักรกลใหญ่รับงานเมกะโปรเจ็กต์ ไม่สร้างความน่าเชื่อถือให้เห็นเลยในการบรรลุความสำเร็จ

ตั้งแต่พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ยันอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เห็นแต่รายการขี่ม้าเลียบค่ายซะเป็นส่วนใหญ่

ก็คงจะเหมือนกับที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องออกมาโวยล่ะครับว่า ประชุมไทย-จีนไป 8 รอบแล้ว ก็ยังไม่เห็นความคืบหน้าโครงการ

สาระประเด็นใหญ่ของการเจรจา โดยเฉพาะในเรื่องของอัตราดอกเบี้ย มูลค่าเงินลงทุนโครงการ และรูปแบบการลงทุน ยังสรุปกันไม่ได้เลย แม้การประชุมล่วงก้าวเข้าไปครั้งที่ 9 แล้ว

แต่ก็ยังยืนยันจะเปิดปฐมฤกษ์ เปิดตัวโครงการในวันที่ 19 ธ.ค.ที่จะถึงนี้

เป็นงงดีไหมครับ รายละเอียดโครงการอันเป็นสาระใหญ่ ยังตกลงกันไม่ได้เลย แต่เตรียมจะวางศิลาฤกษ์ผูกพันกันซะแล้ว

ฝ่ายจีนขยับตัวเลขการลงทุนจาก 4 แสนล้านบาท เป็น 5 แสนล้านบาท ทางฝ่ายเราก็ยังไม่มีข้อมูลไปคัดง้างว่า ตัวเลขที่งอกออกมาเป็น 1 แสนล้านบาท มันงอกออกมาได้อย่างไรในเวลาไม่นานนัก และมีความสมเหตุสมผลเพียงใด

การทำงานของกระทรวงคมนาคม มีลักษณะหลวมโพลกมาก ที่จนบัดนี้แล้วก็ยังไม่มีบริษัทที่ปรึกษา ซึ่งดูแลข้อมูลทั้งในเชิงวิศวกรรม การเงิน และโครงสร้างการลงทุนมาช่วยในการตัดสินใจ

เอาแต่พึ่งพาข้อมูลทางฝ่ายจีน ซึ่งเป็นคู่สัญญาถ่ายเดียว แล้วมันจะเหลืออะไรในการต่อรองผลประโยชน์ให้กับฝ่ายไทยหรือ

ดอกเบี้ยก็แพง วงเงินลงทุนก็สูง จึงนำมาสู่คำถามใหญ่ว่า ทำไมเราต้องเลือกลงทุนรถไฟความเร็วปานกลางกับจีน

ทำไมเราไม่ทำตัวว่างๆ ปลอดจากภาระผูกพันกับใคร แล้วก็เปิดประมูลแบบอินเตอร์เนชั่นแนล บิดดิ้ง ที่เป็นการเชิญชวนบริษัททั่วโลกมาประมูลงาน

ใครเสนอสินค้าคุณภาพดี และราคายุติธรรมก็ได้งานไป

เรื่องอะไรจะมาพัวพันอยู่แต่จีน และก็อาจจะต้องรับเงื่อนไขที่ฝ่ายไทยต้องตกเป็นเบี้ยล่าง เสียเปรียบในเรื่องของผลประโยชน์

เรื่องของรถไฟความเร็วสูง เมื่อมองในภาพรวมแล้ว ต้องถือว่าเทคโนโลยีของจีน ยังเป็นน้องใหม่ ที่ต้องรอบทพิสูจน์อีกมาก

มีเจ้าเก่าแก่ ที่พิสูจน์ได้ถึงคุณภาพการใช้งานอยู่มากมายทั้งฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และเยอรมนี นอกจากนั้นในยุโรปอีกหลายประเทศ ก็ยังมีเทคโนโลยีรถไฟฟ้าที่เป็นของตัวเอง ใช้งานกันมาเป็นหลายสิบปีแล้วด้วย

เรามีทางเลือกอยู่มากมาย ไฉนเอาตัวเข้ามุมอับมาอยู่กับจีนเจ้าเดียว

หรือจะเป็นภาคบังคับที่ต้องเดิน ในการคบจีนเพื่อถ่วงดุลตะวันตก ซึ่งไม่ได้ตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจ และการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติแต่อย่างใดเลย

Back to top button