DELTA ฟรีโฟลตซ่อนรูป.!?

ตั้งแต่หุ้น บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) หรือ DELTA ถูกนำเข้าคำนวณดัชนี SET50 ยิ่งทำให้ “ทวีความบิดเบือน” ของดัชนีหุ้นไทยมากขึ้น


ตั้งแต่หุ้นบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA ถูกนำเข้าคำนวณดัชนี SET50 ยิ่งทำให้ “ทวีความบิดเบือน” ของดัชนีหุ้นไทยมากขึ้น เพียงแค่ “กดหรือดัน” หุ้น DELTA ก็เสกให้ดัชนีหุ้นไทย บวกหรือลบได้ตามใจปรารถนา..ไม่ต้องไปสนว่าหุ้นตัวไหนจะเป็นอย่างไร..แค่ใช้บริการหุ้น DELTA ตัวเดียวจบ..!!

ระหว่างที่ตลท.ยัง “ตาบอดคลำทาง” กับปัญหาหุ้น DELTA ทำดัชนีบิดเบือน คนในวงการตลาดทุนมีการเสนอถึงขั้น ให้ถอดออกจากดัชนี SET50 ไปเลย..มีการเทียบเคียงตลาดหุ้นต่างประเทศ หุ้นที่มูลค่าที่ผิดปกติแพงมากเกินไป หรือถูกมากเกินไป หรือ OUTLIER จะถูกตัดออกจากการคำนวณดัชนี เพื่อป้องกันการบิดเบือน..

การที่ตลท.ยอมให้หุ้นตัวนี้เข้ามาคำนวณดัชนี SET50 จึงมองได้ว่าเป็นการตีตรายอมรับให้ DELTA เข้ามาครอบงำตลาดและมีอิทธิพลเหนือตลาด ทั้งที่มันไม่ควรเกิดขึ้นกับตลาดหุ้นไทย..!!

ประเด็นสำคัญของหุ้น DELTA นั่นคือเรื่องฟรีโฟลตที่หากดูแบบผิวเผินถือว่ามีฟรีโฟลตตามเกณฑ์ตลาด แต่หากดูรายละเอียด เกลื่อนตาไปด้วยนักลงทุนสถาบันหรือกองทุนส่วนบุคคล (ไพรเวทฟันด์) แทบทั้งนั้น..และด้วยระดับราคาหุ้นที่เป็นอยู่มีแต่สถาบันและกองทุนที่จะเข้าถึงได้เป็นส่วนใหญ่

และนั่นอาจไม่ใช่ “ฟรีโฟลตที่แท้จริง” ใช่หรือไม่..!?

นิยามของ “ฟรีโฟลต” คือปริมาณการถือครองหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อยวัดจากเปอร์เซ็นต์การถือครองหุ้นยกตัวอย่างเช่น Free Float 20% นั่นหมายถึงมีรายย่อยถือหุ้น 20% ที่เหลืออีก 80% ถือเป็นรายใหญ่หรือเจ้าของบริษัท โดยทั่วไปมีการแบ่งนักลงทุนที่ถือหุ้นเป็น 3 ประเภทได้แก่ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ผู้ถือหุ้นรายย่อย ผู้ถือหุ้นที่เป็นเจ้าของเอง (ให้ถือว่าจัดเป็นรายใหญ่)

โดยตลท.กำหนดให้สัดส่วนหุ้นฟรีโฟลต ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องไม่น้อยกว่า 15% และมีผู้ถือหุ้นรายย่อยไม่น้อยกว่า 150 ราย หากบริษัทใดมีฟรีโฟลตต่ำกว่า 15% เมื่อครบปีจะถูกประกาศชื่อขึ้นทำเนียบบริษัทที่มีฟรีโฟลตต่ำกว่าเกณฑ์..

กลับมาที่คีย์เวิร์ด “ฟรีโฟลตที่แท้จริง” ในความหมายคือ “ฟรีโฟลต” ที่เราเห็นมันคือภาพลวงตาหรือไม่..!?

เพราะหากดูโครงสร้างผู้ถือหุ้นหลายบริษัท ที่ถูกจัดว่าเป็นหุ้นที่มีฟรีโฟลต (ตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ) มักพบเห็นผู้ถือหุ้นในรูปนิติบุคคล ทั้งนักลงทุนสถาบันหรือกองทุนส่วนบุคคล (ไพรเวทฟันด์) ที่เข้ามาถือหุ้นต่ำกว่าระดับ 5% เพื่อหลบเลี่ยงเข้าข่ายนิยามว่า “เป็นนักลงทุนรายใหญ่”

นั่นจึงทำให้หุ้นดังกล่าวเป็นหุ้นที่มีฟรีโฟลตเป็นไปตามเกณฑ์ตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งที่จริงแล้ว “หุ้นกระจุกตัว” และสาละวนอยู่กับพอร์ตของนักลงทุนกลุ่มดังกล่าว

และสารตั้งต้นตรงนี้เอง…ที่เป็นตัวการปิดบังซ่อนเร้น “ฟรีโฟลตที่แท้จริง” ใช่หรือไม่.!?

การแก้ปัญหาเรื่อง DELTA บิดเบือนดัชนี อาจต้องมาเริ่มกันที่เรื่อง “ฟรีโฟลต” หรือไม่ เพราะนั่นหมายถึงข้อจำกัดสำคัญในการเข้าคำนวณดัชนี SET50 ที่เป็นต้นตอสำคัญให้ดัชนีหุ้นไทย “บิดเบือน” อย่างที่เห็นและเป็นอยู่ขณะนี้…!!

Back to top button