IMF ส่งสัญญาณ..เศรษฐกิจโลกโตต่ำ 3%
ถือเป็นแรงงกระเพื่อม ที่สร้างความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกขึ้นมาอีกระลอก เมื่อ IMF ออกมาประเมินว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกปีนี้จะต่ำกว่า 3%
ถือเป็นแรงกระเพื่อม ที่สร้างความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกขึ้นมาอีกระลอก เมื่อ “กองทุนการเงินระหว่างประเทศ” (IMF) ออกมาประเมินว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกปีนี้จะต่ำกว่า 3% หลังพบความเสี่ยงเชิงลบที่เกิดขึ้น
โดย “คริสตาลินา จอร์เจียวา” กรรมการผู้จัดการ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่า การเติบโตของเศรษฐกิจโลกปีนี้จะต่ำกว่า 3% และยังคงอยู่ที่ประมาณ 3% ต่อไปอีกตลอดช่วง 5 ปีข้างหน้า เนื่องจากความเสี่ยงด้านลบมีมากขึ้น
ตัวเลขการเติบโตระยะ 5 ปีข้างหน้า ที่คาดว่าจะเติบโตไม่เกิน 3% เป็นคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกระยะกลางที่ต่ำสุด เท่าที่ IMF เคยมีการคาดการณ์นับตั้งแต่ปี 2533 และต่ำกว่าการเติบโตเฉลี่ย 3.8% ช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา
การดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่แข็งแกร่ง เพื่อตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครนช่วงที่ผ่านมา ได้ป้องกันผลลัพธ์ไม่ให้เลวร้ายมาก แต่แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจยังอ่อนแอ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงอย่างต่อเนื่อง ความล้มเหลวของธนาคารในสวิตเซอร์แลนด์และสหรัฐฯ บ่งชี้ให้เห็นความเปราะบางในระบบการเงินที่เพิ่มความเสี่ยงด้านลบ (downside risk) ให้กับเศรษฐกิจโลก
“แม้ตลาดแรงงานสหรัฐฯ จะยืดหยุ่นและทานทนอย่างน่าประหลาดใจ และอุปสงค์การบริโภคก็แข็งแกร่ง แม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะปรับตัวดีขึ้น แต่คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตน้อยกว่า 3% ในปีนี้” กรรมการผู้จัดการ IMF กล่าว
“การเติบโตยังคงอ่อนแอเป็นประวัติการณ์..ทั้งขณะนี้และอนาคตระยะกลาง”
ด้วยความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น บวกกับอัตราเงินเฟ้อที่สูง การฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งที่ยังเข้าใจยากและนั่นเป็นอันตรายต่อโอกาสของทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่เปราะบางสุดและประเทศที่เปราะบางสุด
ปี 2565 การเติบโตของเศรษฐกิจโลกอยู่ที่ 3.4% ลดลงเกือบครึ่งจากปี 2564 ที่ฟื้นตัวจากโควิด-19 ได้ด้วยอัตราการเติบโต 6.1%
ขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจอินเดียและจีน จะมีสัดส่วนเป็นครึ่งหนึ่งของการเติบโตของเศรษฐกิจโลกปี 2566 แต่ประมาณ 90% ของประเทศที่พัฒนาแล้ว จะเห็นอัตราการเติบโตปีนี้ลดลง
“ประเทศที่มีรายได้ต่ำ ต้องแบกรับภาระต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นและการส่งออกลดลง การเติบโตของรายได้เฉลี่ยต่อหัวจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศตลาดเกิดใหม่”
IMF มีการเรียกร้องให้ธนาคารกลาง คงอยู่ในแนวทางการต่อสู้กับเงินเฟ้อ ตราบที่แรงกดดันทางการเงิน ยังมีจำกัด แต่ให้จัดการกับความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงิน ผ่านการจัดหาสภาพคล่องอย่างเหมาะสม
ความล้มเหลวของธนาคารในสวิตเซอร์แลนด์และสหรัฐฯ ได้เปิดเผยให้เห็นถึงความล้มเหลว เรื่องการบริหารความเสี่ยงของธนาคารบางแห่งและการกำกับดูแลที่ผิดพลาด…กุญแจสำคัญคือ การติดตามความเสี่ยงอย่างรอบคอบ ทั้งธนาคารและสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร รวมถึงจุดอ่อนในภาคต่าง ๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์
“ความเสี่ยงด้านลบเพิ่มขึ้นชัดเจน ทำให้เห็นความเสี่ยงบางอย่างในภาคการเงินเปิดเผยออกมามากขึ้น”
“จอร์เจียวา” ระบุอีกว่า มีความมั่นใจเต็มร้อยว่า ธนาคารกลางและสถาบันที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ มีความระมัดระวังอย่างมาก ขณะที่ผู้กำหนดนโยบายได้ตอบสนองต่อความเครียดที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในภาคธนาคารและการเงิน แต่ความกังวลเกี่ยวกับช่องโหว่ที่อาจเกิดขึ้นยังคงมีอยู่ทั้งในภาคธนาคารและภาคส่วนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ธนาคาร
เพื่อเพิ่มโอกาสการเติบโตของเศรษฐกิจและผลิตภาพ เธอเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงขั้นตอนสำคัญ รวมถึงการใช้จ่ายด้านพลังงานหมุนเวียนประมาณ 1,000,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี และดำเนินการเพื่อหลีกเลี่ยงการแตกแยกกระจายตัวของเศรษฐกิจโลก
นั่นหมายถึงอาจลดค่าใช้จ่าย-ต้นทุนของทั่วโลกได้มากถึง 7% ของ GDP และการแยกส่วนทางเทคโนโลยี อาจทำให้บางประเทศประสบความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงถึง 12% ของ GDP ได้เช่นกัน..!?