SET ยังขาดแรงหนุน รอดูงบ 1Q66 และประชุมเฟด พ.ค. กลยุทธ์การลงทุนแนะนำ ‘Selective Buy’
ช่วงที่ผ่านมา ภาพปัจจัยเศรษฐกิจต่าง ๆ บ่งชี้ถึงความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยในระยะต่อไปที่มากขึ้น โดยเงินเฟ้อสหรัฐฯ มี.ค. ขยายตัว 5% ต่ำกว่าคาด
InnovestX มองว่า ช่วงที่ผ่านมา ภาพปัจจัยเศรษฐกิจต่าง ๆ บ่งชี้ถึงความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยในระยะต่อไปที่มากขึ้น โดยเงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือน มี.ค. ขยายตัว 5% ต่ำกว่าคาด และชะลอตัวลงต่ำสุดในรอบ 2 ปี และเมื่อพิจารณารายละเอียด พบว่าเงินเฟ้อชะลอทั้ง 3 องค์ประกอบใหญ่ ได้แก่
(1) โภคภัณฑ์ จากพลังงาน (2) เงินเฟ้อจาก Supply chain ทรงตัว และ (3) เงินเฟ้อจากภาคบริการ เริ่มลดลง ด้านตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอลงต่อเนื่อง โดย (1) ตัวเลขยอดค้าปลีก ปรับลดลง -1% และ
(2) การผลิตภาคอุตสาหกรรม หดตัว -0.5% ต่อเดือน
ภาพดังกล่าวสอดคล้องกับรายงาน Fed Beige book ที่ส่งสัญญาณเศรษฐกิจชะลอตัวและการปล่อยสินเชื่อเริ่มตึงตัวขึ้นหลังเกิดวิกฤตธนาคาร ในขณะที่ Fed Minute ระบุว่าจะเกิด Recession แบบอ่อน ๆ แต่ก็ยังคงขึ้นดอกเบี้ย โดยคณะกรรมการเชื่อว่า หนึ่งในเงื่อนไขที่ Fed จะทำให้เศรษฐกิจชะลอลงคือ สภาพคล่องทางการเงินจะต้องตึงตัวจนสินเชื่อหดตัวลง InnovestX จึงเชื่อว่า Fed น่าจะยังขึ้นดอกเบี้ยอีก 25 bps ในการประชุมเดือน พ.ค. สอดคล้องกับ FedWatch Tool ระบุความเป็นไปได้ของอัตราดอกเบี้ยเป้าหมาย 5.00-5.25% อยู่ที่ 83.7%
ในส่วนของเศรษฐกิจจีน ตัวเลข GDP ดีกว่าคาด โดยเป็นการฟื้นตัวของภาคการบริโภคเป็นหลัก แต่ตัวเลขรายเดือนอื่น ๆ ยังคงชะลอตัวต่ำกว่าคาด โดยเฉพาะการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนสินทรัพย์ถาวร ประกอบกับตัวเลขภาคอสังหาฯ ฟื้นตัวอย่างเชื่องช้า โดยเฉพาะการลงทุนใน Property ที่ยังหดตัว ทำให้ InnovestX มองว่า ภาพเศรษฐกิจจีนจะยังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยปัจจัยที่จะติดตามต่อ คือ ตัวเลขเงินฝากซึ่งปัจจุบันยังขยายตัวสูงกว่าเงินกู้ โดย InnovestX เชื่อว่าอัตราขยายตัวเงินฝากจะเริ่มชะลอลงขณะที่เงินกู้เริ่มสูงขึ้นในช่วงไตรมาส 2 เป็นต้นไป ทำให้มองว่าเศรษฐกิจจีนน่าจะขยายตัวได้ประมาณ 5.3-5.7% ในปีนี้
ส่วนภาพตลาดหุ้นไทย InnovestX มองว่า ช่วงสั้น SET ยังมี Upside จำกัดและมีโอกาสอ่อนตัว เนื่องจากยังขาดปัจจัยหนุน และภาพรวมผลประกอบการไตรมาส 1/66 คาดยังมีแนวโน้มอ่อนแอ โดยที่หุ้นเทคโนโลยีและธนาคารเล็กของสหรัฐฯ รวมทั้ง บจ. ไทยที่จะออกมาสัปดาห์หน้ามีโอกาสแย่กว่าคาด อีกทั้งมองนักลงทุนอยู่ระหว่างรอดูความชัดเจนทิศทางดอกเบี้ยจากการประชุมนโยบายการเงินของเฟดในวันที่ 2-3 พ.ค. นี้
ดังนั้นกลยุทธ์การลงทุนแนะนำ “Selective Buy” ในธีมที่มีปัจจัยบวกเฉพาะ ดังนี้
1)หุ้น Best of the best ภายใต้วิกฤตการเงินในสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งมีพื้นฐานและฐานะการเงินแข็งแกร่ง มีกำไรในปี 2566-67 เติบโตเฉลี่ยสูงกว่ากำไรของกลุ่มหุ้นที่เราแนะนำ Outperform และ Valuation ไม่แพง โดยซื้อขายด้วย PER และ PBV เฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ที่บริเวณ -1.0 ถึง -2.0 D. จึงมองเป็นโอกาสซื้อสะสม เลือก AU, BBL, BDMS, CPALL และ GULF สำหรับนักลงทุนที่มีหุ้นอยู่แล้ว แนะนำ Let Profit Run
2)หุ้นที่คาดผลการดำเนินงานไตรมาส 1/66 จะออกมาตามตลาดคาด และจะเป็นจุดต่ำสุดของปีนี้ หรือ ผลการดำเนินงานมีสัญญาณฟื้นตัวในไตรมาส 2/66 เลือก HMPRO, ADVANC, KCE, MINT, AOT และ OSP
3)หุ้นปันผลดี ซึ่งปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่งและราคาหุ้นยังมี Upside น่าสนใจเกิน 15% เลือก AP (XD 9 พ.ค. @65 บาท) และ LH (XD 8 พ.ค. @0.35 บาท) โดยคิดเป็น Div. Yield เกิน 3%
ขณะที่มีกลุ่มหุ้นแนะนำ “ขายหรือหลีกเลี่ยงการลงทุนไปก่อน” เนื่องจากผลการดำเนินงานยังไม่สดใส และมีความเสี่ยงที่ต้องติดตาม ได้แก่ NRF, LPN, MST, SAWAD, QH, KTC, PSH, THRE, TCAP, MTC, KEX, KISS, TU, CBG, GFPT, BTG, BTS, BEM, JASIF, SAT, IIG และ NER