พาราสาวะถีอรชุน
แล้วก็เดินทางไปไม่ถึงอุทยานราชภักดิ์อีกหนึ่งคณะ สำหรับขบวนนักศึกษาและประชาชนภายใต้การนำของ “จ่านิว” สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ที่นัดหมายกันเดินทางไปชมสถานที่ยิ่งใหญ่แต่มีปมแปดเปื้อน ภายใต้ชื่อ “นั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ส่องไฟฉายหากลโกง” ตั้งต้นขบวนกันที่สถานีรถไฟบางกอกน้อยก่อนที่จะไปโดนรวบกันที่สถานีบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี
แล้วก็เดินทางไปไม่ถึงอุทยานราชภักดิ์อีกหนึ่งคณะ สำหรับขบวนนักศึกษาและประชาชนภายใต้การนำของ “จ่านิว” สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ที่นัดหมายกันเดินทางไปชมสถานที่ยิ่งใหญ่แต่มีปมแปดเปื้อน ภายใต้ชื่อ “นั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ส่องไฟฉายหากลโกง” ตั้งต้นขบวนกันที่สถานีรถไฟบางกอกน้อยก่อนที่จะไปโดนรวบกันที่สถานีบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี
คำถามย่อมตามมามากมาย เหตุใดจึงต้องปิดปั้นและเกรงกลัวกันขนาดนั้น นับตั้งแต่โทรศัพท์ไปหาแม่และยายของจ่านิวจนกระทั่งเรียกแม่จ่านิวมาพูดคุย ก่อนที่โฆษกรัฐบาล สรรเสริญ แก้วกำเนิด จะแถลงว่า อย่าทำสถานที่สูงส่งแปดเปื้อน ท่ามกลางข้อสงสัยว่า ใครกันที่ทำให้สถานที่สูงส่งนี้มัวหมอง มีมลทินเพราะความละโมบโลภมาก
หากโครงการที่สูงส่งเช่นนี้ไม่มีการโกง ซึ่งวันนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่แสดงความเป็นห่วงน้องอย่าง พลเอกอุดมเดช สีตบุตร แต่ก็ยอมรับอยู่ในทีทหารสองรายที่หนีไปต่างทั้งประเทศทั้ง พลตรีสุชาติ พรมใหม่ กับ พันเอกคชาชาต บุญดี ที่เวลานี้ถูกถอดยศเป็นนายคชาชาต เป็นผู้ที่กระทำความผิด ไม่ว่าจะมีเจตนาใดก็ตาม ก็ต้องย้อนถามไปยังโฆษกไก่อูว่า รู้หรือยังใครกันที่ทำให้สถานที่สูงส่งนั้นแปดเปื้อน
เห็นวิธีคิดและการกระทำของฝ่ายทหารแล้ว คงต้องหยิบยกเอาบทความของ บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่องพลเมืองไม่ใช่พลทหาร มหาวิทยาลัยคือพื้นที่ของความเห็นต่าง มานำเสนอเพราะมีมุมวิเคราะห์เกี่ยวกับท่วงทำนองดังกล่าวของคนมีสีได้อย่างน่าสนใจ
บทความนี้ผู้เขียนพยายามทำความเข้าใจกับวิธีคิดและมุมมองของหัวหน้าคสช.และเสนอข้อโต้แย้งในสามประเด็น เพื่อแสดงให้เห็นว่า หากพลเอกประยุทธ์เรียนรู้ที่จะเข้าใจบทบาทของตนเองในฐานะนายกรัฐมนตรี และมหาวิทยาลัยในฐานะพื้นที่แห่งการเรียนรู้แล้ว พลเอกประยุทธ์จะสามารถทำสิ่งที่สร้างสรรค์กว่าต่อสังคมได้มากกว่าการแสดงอารมณ์เกรี้ยวกราดทางสาธารณะ
ข้อจำกัดเชิงวิธีคิดของพลเอกประยุทธ์ก็คือ พลเอกประยุทธ์โตมากับกองทัพ ที่มีวัฒนธรรมองค์กรอีกแบบ ต่างจากสังคมพลเรือนข้างนอก ทำให้แม้จะพ้นจากตำแหน่งผบ.ทบ.มามากกว่าหนึ่งปีแล้ว และเป็นนายกรัฐมนตรีมาปีเศษแล้ว แต่ดูเหมือนพลเอกประยุทธ์ จะยังไม่เข้าใจว่า การเป็นนายกรัฐมนตรีที่ต้องบริหารประเทศที่มีพลเมืองที่ต่างก็มีความคิดเห็นเป็นของตัวเองนั้น ไม่เหมือนกับการปกครองในกรมทหาร
พลเอกประยุทธ์ ยังคิดราวกับว่า พลเมืองคือพลทหารที่ผู้บังคับบัญชาจะสั่งซ้ายหัน ขวาหันได้ โดยปราศจากการตั้งคำถาม พลเอกประยุทธ์ยังเผลอไผลคิดว่า ตัวเองเป็นผู้บังคับบัญชาประชาชน ด้วยวิธีคิดแบบนี้ของพลเอกประยุทธ์ จึงปะทะกับคนภาคส่วนอื่นๆ ในสังคม ที่พลเมืองมีสิทธิที่จะตั้งคำถามและวิพากษ์ในประเด็นสาธารณะ สองภาคส่วนที่ปะทะเข้ากับพลเอกประยุทธ์ชัดๆ ก็คือ สื่อมวลชนและนักวิชาการ
เราจึงเห็นพลเอกประยุทธ์หงุดหงิดเมื่อถูกผู้สื่อข่าวถามคำถามที่สังคมอยากรู้ เพราะพลเอกประยุทธ์โตมากับกรมกองทหารผู้ใต้บังคับบัญชาไม่อาจจะตั้งคำถาม ตรวจสอบผู้บังคับบัญชาได้ ส่วนนักวิชาการก็เช่นกัน เพราะนักวิชาการ ถูกฝึกมาให้คิดและตั้งคำถามอย่างวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อความงอกเงยทางปัญญา เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ สร้างความคิดทางเลือกที่หลากหลายให้สังคมได้มีทางเลือก ดังนั้น วิถีหรือวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยจึงแตกต่างกับค่ายทหารอย่างสิ้นเชิง
ปัญหาเชิงวิธีคิดอีกประเด็นของพลเอกประยุทธ์ก็คือ หัวหน้าคสช.มักจะลดทอนความหมายของประชาธิปไตยว่า คือความวุ่นวาย อันที่จริงหลักการพื้นฐานอันหนึ่งของประชาธิปไตยคือ การเคารพสิทธิของตนเองและผู้อื่น ตราบเท่าที่ผู้คนในสังคมต่างใช้สิทธิ รวมถึงการแสดงความคิดเห็น และให้เหตุผลอย่างสันติ มิได้ข่มขู่ คุกคาม ใช้ความรุนแรงต่อผู้อื่น ตราบนั้นสังคมย่อมไม่เกิดความวุ่นวาย
ดังนั้น การที่นักวิชาการแถลงว่า มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหารนั้น หากพลเอกประยุทธ์หรือขุนทหารคนใดไม่เห็นด้วย หรือคิดว่ามหาวิทยาลัยควรเป็นดังค่ายทหาร ก็ควรชี้แจงให้เหตุผล ให้นักวิชาการเหล่านั้นได้รับรู้ถึงเหตุผลที่ดีกว่า และสังคมก็จะได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน หาใช่การใช้วิธีเอาคำสั่งคณะรัฐประหาร (ที่ถูกพูดให้สวยหรูว่าเป็นกฎหมาย) หรือใช้ถ้อยคำผรุสวาทมากดดันข่มขู่ไม่
เนื่องด้วย ข้อเท็จจริงที่ว่า สังคมมีพลเมืองที่มีอุดมการณ์ ความเห็น สถานะและผลประโยชน์แตกต่างกัน สังคมจำเป็นต้องมีพื้นที่ให้พลเมืองเหล่านี้ได้ถกเถียงกันอย่างสันติบนพื้นฐานของข้อเท็จจริงและการรับฟังเหตุผลซึ่งกันและกัน อย่างไรก็ดี ผู้เขียนตระหนักว่า ในช่วงห้าถึงสิบปีที่ผ่านมา ผู้คนถูกสวมหมวก ใส่สีเสื้อ จนไม่มีใครฟังใคร
แต่เราไม่ควรให้สภาวะแบบนี้ดำรงอยู่ต่อไป สังคมจำเป็นต้องรื้อฟื้นวัฒนธรรมความอดทนต่อความคิดเห็นที่แตกต่างขึ้นมาใหม่ ให้พลเมืองสามารถ “มองต่างมุม” กันได้ โดยไม่ต้องตีกัน บนเงื่อนไขเช่นนี้ ไม่มีพื้นที่ไหนที่มีความเหมาะสมต่อการเป็นพื้นที่เพื่อการแลกเปลี่ยนอย่างสันติ เท่ากับพื้นที่ในมหาวิทยาลัย เพราะในรั้วมหาวิทยาลัยและในสังคมปัญญาชนที่มีวัฒนธรรมการถกเถียงหักล้างกันด้วยข้อเท็จจริงและเหตุผล
มหาวิทยาลัยจึงควรเป็นพื้นที่แรกๆ ที่มาก่อร่างวัฒนธรรมการถกเถียงกันอย่างสันติขึ้นมาใหม่ โดยหวังว่า พื้นที่ของการถกเถียงกันด้วยเหตุด้วยผลนี้ จะขยายออกไปนอกรั้วมหาวิทยาลัย เมื่อนั้น เราจึงพอจะมีความหวังขึ้นมาบ้างว่า หลังยุคคสช.บ้านเมืองจะไม่ปั่นป่วน วุ่นวายเหมือนเดิมอีก แทนที่คสช.จะมาตรวจตราการจัดอภิปรายสาธารณะในมหาวิทยาลัย จนหลายสถาบันไม่อยากจะจัดงาน คสช.ควรส่งเสริม ให้คนที่เห็นแตกต่างกันมาแลกเปลี่ยนถกเถียงกันอย่างสันติ ในรั้วมหาวิทยาลัย
แทนที่ คสช.จะส่งแค่ฝ่ายข่าวมาจดบันทึกการอภิปรายของนักวิชาการ คสช.ควรส่งตัวแทน เช่น โฆษกคสช. เสนาธิการทหาร มาอภิปรายแลกเปลี่ยนกับนักวิชาการคนอื่นๆ บ้าง ทำนองเดียวกัน นักวิชาการที่สนับสนุนการรัฐประหาร ก็ควรมีพื้นที่สำหรับการให้เหตุผลต่อท่าทีของตนเองด้วย
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ แสดงให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร พลเมืองไม่ใช่พลทหาร คสช.ต้องส่งเสริมสิทธิในการแสดงออกอย่างสันติ ซึ่งเป็นสิทธิของพลเมืองทุกคนไม่ใช่เฉพาะนักวิชาการ แน่นอนว่า ไม่ใช่เฉพาะสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกแสดงความเห็นเท่านั้น แต่รวมไปถึงสิทธิในการตรวจสอบโดยเฉพาะโครงการที่แสดงออกถึงความจงรักภักดีของประชาชนอย่างอุทยานราชภักดิ์ด้วย