ปฏิบัติการขู่ฟ้องสื่อ! ตีแผ่ “ความจริง” คดีใหญ่พลังงาน

ซื้อของใครก็ต้องจ่าย หากไม่จ่ายคือเป็นหนี้ เคลียร์หนี้ได้มีทางเดียว นั่นคือการจ่ายหนี้!


การยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการโดย “ผู้เรียกร้อง” เกิดขึ้นเมื่อคู่สัญญา หรือในที่นี้คือ “คู่กรณี” ได้มีการกระทำผิดหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญา จนเกิดข้อพิพาท ข้อขัดแย้ง หรือข้อเรียกร้องใดๆ จึงนำมาสู่การระงับข้อพิพาททางเลือกนอกศาล โดยไม่ได้ให้ศาลเป็นผู้ตัดสิน แต่ให้อนุญาโตตุลาการซึ่งเป็นบุคคลที่สามที่มีความเป็นกลางและอิสระรวมทั้งมีความเชี่ยวชาญชี้ขาด

ข้อพิพาทส่วนใหญ่เกิดจากการที่คู่สัญญาผิดสัญญาไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญา โดยอาจเป็น “สัญญาซื้อขาย” “สัญญาเช่า” หรือ “สัญญาว่าจ้างก่อสร้าง” และเมื่อผู้เรียกร้องเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการแล้ว คู่กรณีฝ่ายตรงข้ามมีหน้าที่ต้องยื่นคำคัดค้าน หรือเรียกว่าเป็น “ผู้คัดค้าน” ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความยุติธรรมต่อทั้ง 2 ฝ่าย

ตัวอย่างสำหรับการกระทำผิด “สัญญาซื้อขาย” อาจเป็นกรณีที่ผู้ซื้อไม่ดำเนินการชำระราคาหรือมูลค่าตามตกลง ซึ่งอาจเป็นการไม่ชำระทั้งจำนวน ชำระบางส่วน ชำระไม่ครบ หรือชำระไม่เพียงพอ เพราะดอกเบี้ยที่เกิดจากความล่าช้า ในทางกลับกันหากฝั่งผู้ซื้อเป็นผู้เสนอข้อพิพาท อาจหมายถึงผู้ขายไม่สามารถส่งมอบทรัพย์สินได้ครบถ้วนหรือสมบูรณ์ หรือผิดคำรับรองตามสัญญาที่ตกลงกันไว้

แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว หาก “ผู้ขาย” เป็นผู้เสนอข้อพิพาท นั่นหมายถึงผู้ขายกำลังบอกว่าถูก “เบี้ยวหนี้ !!”…..

ส่วนข้อพิพาทของ “สัญญาเช่า” หรือ “สัญญาว่าจ้างก่อสร้าง” ก็มีลักษณะคล้ายคลึงกัน คือจะเกิดขึ้นต่อเมื่อคู่สัญญากระทำผิดหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญา

วัตถุประสงค์ในการขอให้อนุญาโตตุลาการเข้ามาเป็นผู้ระงับข้อพิพาทมีอยู่หลายประการด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือการปกป้องภาพพจน์ทางธุรกิจ ชื่อเสียงบุคคล ตลอดจนรักษาความลับทางธุรกิจ เนื่องจากเมื่อเข้าสู่กระบวนการแล้ว ในหลายกรณีกำหนดให้คู่กรณีตกลงร่วมกันที่จะเก็บรักษาข้อเท็จจริงรายละเอียดต่างๆไว้เป็นความลับ เว้นแต่มีการตกลงกันเป็นอื่น

อย่างไรก็ตาม แม้คู่กรณีอาจมีการตกลงร่วมกันในเรื่องของการรักษาความลับทางคดีไว้ตั้งแต่เริ่มต้น แต่บางครั้งฝั่ง “ผู้เรียกร้อง” อาจเป็นผู้เปิดเผยรายละเอียดหรือคำตัดสินของอนุญาโตฯ ต่อสาธารณะเอง เพื่อจะใช้สิทธิตามกฎหมายที่จะบังคับตามคำชี้ขาด โดยเฉพาะหากว่าฝ่าย “ผู้คัดค้าน” ไม่ดำเนินการตามคำตัดสิน รวมถึงมีพฤติกรรมเพิกเฉยต่อการบังคับตามคำชี้ขาด ซึ่งอาจส่อถึงวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้

ยกตัวอย่างกรณีเกี่ยวข้องกับสัญญาซื้อขาย เมื่อผู้เรียกร้องคือผู้ขายไม่ได้รับการชำระค่าสินค้าตามสัญญา (เบี้ยวหนี้) จึงมีการยื่นคำเสนอข้อพิพาท โดยภายหลังอนุญาโตฯ ตัดสินให้ผู้คัดค้าน (ผู้ซื้อ) ต้องชำระให้ครบถ้วนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย แต่ผู้คัดค้านไม่มีทีท่าว่าจะดำเนินการให้สอดคล้องตามคำชี้ขาด ฝั่งผู้เรียกร้องจึงตัดสินใจเปิดเผยผลการตัดสินให้สาธารณชนได้รับทราบหลังจากผ่านช่วงระยะเวลาหนึ่งไปแล้ว

โดยอาจใช้ช่องทางสื่อสารมวลชนในการเผยแพร่ข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการ ก็เป็นได้…..

มีการตั้งข้อสังเกตว่าการเปิดเผยผลการตัดสินในลักษณะนี้ของผู้เรียกร้องเองถือเป็นการละเมิดคู่กรณีหรือไม่ และใครคือผู้ละเมิดระหว่าง “ผู้เรียกร้อง” หรือ “สื่อมวลชน” พร้อมเกิดคำถามเกี่ยวกับอำนาจในการบังคับของอนุญาโตตุลาการที่เกี่ยวข้องกับการเก็บรักษาความลับ ว่ามีผลครอบคลุมถึงบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่คู่กรณีในข้อพิพาทได้ด้วยหรือไม่??

ประเด็นนี้นำมาสู่การตั้งข้อสังเกตต่อไปว่าหาก “ผู้คัดค้าน(คนเบี้ยวหนี้)” มองว่าตัวเองถูกละเมิด และมีการฟ้องร้อง “ผู้เรียกร้อง(คนถูกเบี้ยวหนี้)” สื่อมวลชนที่นำเสนอข่าวเรื่องคำตัดสิน ซึ่งเป็นข้อเท็จจริง จะพลอยถูกฟ้องร้องในฐานะผู้ให้การสนับสนุนการเผยแพร่ข้อเท็จจริงดังกล่าวด้วยหรือไม่??

คำตอบคือ “มีโอกาส” แต่มากหรือน้อยนั้น คงขึ้นอยู่กับนิสัยใจคอ ทัศนคติ และความชอบค้า (ความ) ของผู้คัดค้าน โดยเฉพาะว่าเป็นพวกชอบใช้สิทธิทางศาลเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเองด้วยหรือไม่…แต่อย่างไรก็คงไม่สำคัญไปกว่าที่ว่า

แม้สื่อฯจะพลอยถูกฟ้องไปด้วย แต่ผู้ฟ้องจะพิสูจน์ความผิดได้อย่างไร หากว่าการนำเสนอนั้นอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง และผู้เรียกร้องเป็นคนเปิดเผยเอง

ก่อนหน้านี้เคยมีเหตุการณ์ลักษณะคล้ายคลึงกับกรณีข้างต้นเกิดขึ้น โดยอนุญาโตตุลาการมีคำตัดสินให้ผู้คัดค้านต้องดำเนินการจ่ายค่าหุ้นพร้อมดอกเบี้ยให้ครบทั้งจำนวน แต่จนแล้วจนรอดผู้เรียกร้องก็ไม่ได้รับการชำระเงินสักที ซ้ำร้ายฝั่งผู้คัดค้าน ผู้ซึ่งมีโหงวเฮ้งหน้าตาที่บ่งชี้ว่าสามารถต้านแรงเสียดทานสังคมได้ดี ก็ยังนิ่งเฉยเป็นทอง(เก๊)ไม่รู้ร้อน ประหนึ่งคุ้นชินกับการละเลยคำสั่งทางกฎหมายจนกลายเป็นนิจศีล อย่างไรก็อย่างนั้น

จนฟากผู้เรียกร้องตัดสินใจเปิดเผยคำตัดสินข้างต้นต่อสาธารณชน และเมื่อสื่อมวลชนทราบข้อเท็จจริงจึงมีการนำเสนอข่าวเป็นวงกว้าง แต่หลังจากนั้นมีรายงานว่า สื่อฯหลายสำนักได้รับการติดต่อให้ยุติการนำเสนอข่าวดังกล่าว โดยมีการอ้างถึงสิทธิในการดำเนินคดีทางกฎหมายหากว่าไม่ปฏิบัติตามอย่างสอดคล้อง

เรื่องราวที่เกิดขึ้นนับเป็นกรณีศึกษาที่ดี โดยสามารถบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์พิพาทที่อาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ ทั้งในแง่ของคู่กรณีโดยตรงและปาร์ตี้อื่นๆโดยอ้อม รวมถึงเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงการคุกคามของพวกฝักใฝ่การใช้สิทธิทางศาลเพื่อปิดบังอำพรางพฤติกรรมทุจริตว่ามีอยู่จริง ซึ่งถือเป็นอุปสรรคต่อการสรรสร้างความยุติธรรมในสังคมอย่างร้ายกาจ

Back to top button