KBANK รุกไฮเพอร์เชส.!?
ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ภาพจำของแบงก์สีเขียว KBANK คือพ่อพระของผู้ประกอบการรายย่อย พิสูจน์ได้จากสัดส่วนพอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอีที่อยู่ในระดับสูง..!
ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ภาพจำของแบงก์สีเขียว ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK คือพ่อพระของผู้ประกอบการรายย่อย หรือเอสเอ็มอี ดี ๆ นี่เอง…พิสูจน์ได้จากสัดส่วนพอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอีที่อยู่ในระดับสูง..!!
แต่ด้วยความเป็นพ่อพระของ KBANK ก็ย้อนกลับมาทำร้ายตัวเอง…เนื่องจากเอสเอ็มอีเป็นลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ทำให้เมื่อเจอวิกฤตก็มักซวนเซมีปัญหา เห็นได้ชัดในช่วง 2-3 ปีมานี้ ซึ่งมีวิกฤตโควิด เป็นเหตุให้ KBANK ต้องตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) หรือสำรองหนี้เสียบานตะไท โดยเฉพาะปีที่แล้วมีการตั้งสำรองฯ สูงถึง 51,919 ล้านบาท แค่ไตรมาส 4/2565 ไตรมาสเดียวตั้งสำรองฯ มากถึง 22,784 ล้านบาท…
กลายเป็นตัวการสำคัญฉุดรั้งกำไรสุทธิปี 2565 ของ KBANK ให้เหลือแค่ 35,770 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2564 ที่มีกำไรสุทธิ 38,053 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน สะท้อนว่าลูกค้ากลุ่มเอสเอ็มอียังมีปัญหา บางรายยังไม่ฟื้น ที่ฟื้นก็มีแค่กะปริบกะปรอย KBANK จึงต้องร้องเพลง…หนักเกินไปแล้ว เกินจะแบก แบกมันไว้จนเต็มบ่า…
เลยเป็นที่มาทำให้ต้องคิดใหม่ทำใหม่..!! เห็นได้จากการปรับกลยุทธ์หันมาเน้นลูกค้ารายใหญ่และบุคคลมากขึ้น พร้อมตั้งเป้าหมายปรับสัดส่วนสินเชื่อในระยะ 3 ปีจากนี้ (2566-2568) ให้มีความสมดุลเฉลี่ยต่อกลุ่มอยู่ที่ 30% ทั้งกลุ่มรายใหญ่ บุคคล และเอสเอ็มอี…
แต่คงไม่ได้เน้นแค่ลูกค้ารายใหญ่และบุคคลเท่านั้นหรอก ดูแล้ว KBANK ยังจะลงมาเล่นตลาดรากหญ้ามากขึ้นด้วย โดยเฉพาะสินเชื่อไฮเพอร์เชส จากการประกาศจัดตั้งบริษัท เงินให้ใจ จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท มีบริษัท กสิกร อินเวสเจอร์ จำกัด ถือหุ้น 100% เพื่อประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลประเภทสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน สินเชื่อรถที่เป็นหลักประกัน และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์
หลายคนอาจสงสัยว่า ที่จริงตลาดนี้กลายเป็นทะเลสีเลือดไปแล้ว มีทั้งหน้าเก่า หน้าใหม่ รายเล็ก และรายใหญ่ เต็มไปหมด แล้วทำไม KBANK ยังกระโดดมาเล่นในทะเลสีเลือดด้วยล่ะ..?
ถ้าให้วิเคราะห์ อาจเป็นเพราะด้วยเป็นเค้กก้อนใหญ่ มูลค่าหลายแสนล้านบาท บวกกับมีมาร์จิ้นสูง จากการคิดอัตราดอกเบี้ยได้ค่อนข้างสูง (แม้หน่วยงานรัฐมีความเพียรพยายามตั้งเพดานเพื่อกดให้ดอกเบี้ยลดต่ำลง) ก็ยังหอมหวนมากพอที่จะดึงดูดให้เข้ามาชิงเค้กก้อนนี้
แล้วด้วยศักดิ์และศรีของ KBANK ที่เป็นแบงก์ใหญ่ ก็ดูมีภาษีเหนือกว่าคู่แข่งหลาย ๆ ราย โดยเฉพาะเช่าซื้อห้องแถว..!!
ที่สำคัญ อย่าลืมว่า KBANK มีฐานลูกค้าที่เป็นเอสเอ็มอีอยู่แล้ว ก็อาจผกผันไปเป็นลูกค้าสินเชื่อส่วนบุคคล ลูกค้าจำนำทะเบียนรถยนต์ และอื่น ๆ ก็ได้นะจิบอกให้..??
จะว่าไปการมาร่วมแจมในตลาดสินเชื่อไฮเพอร์เชสของ KBANK ครั้งนี้ คงเขย่าขวัญทั้งเจ้าเล็ก เจ้าใหญ่ ได้ไม่น้อยเลยทีเดียว…ว่าป๊ะล่ะ
ขณะเดียวกัน ก็เป็นโจทย์หินของ KBANK นะว่า 1) จะสร้างมูลค่าเพิ่มจากฐานลูกค้าที่มีอยู่ในมือได้มากน้อยแค่ไหน..?
และ 2) จะงัดโปรฯ เด็ดให้เร้าใจมาสู้ศึกในตลาดยังไง…?
เพราะถ้าทำแล้วไม่ปัง…ก็คงเสียชื่อแบงก์หญ่ายยยฝั่งธนได้นะออเจ้า…
…อิ อิ อิ…