อียิปต์: อดีตที่ยังเรืองรอง
ช่วงมีนาคมที่ผ่านมานี้ ผมได้มีโอกาสเดินทางแบบทัศนศึกษาไปยังสาธารณรัฐอียิปต์ อู่อารยธรรมโลกอีกแห่งหนึ่ง ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 5,000 ปี
ช่วงปลายเดือน มีนาคมที่ผ่านมานี้ ผมได้มีโอกาสเดินทางแบบทัศนศึกษาไปยังสาธารณรัฐอียิปต์ อู่อารยธรรมโลกอีกแห่งหนึ่ง ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 5,000 ปี และยังคงทิ้งร่องรอยมรดกแห่งความรุ่งเรืองให้เห็นประจักษ์ตา ตราบจนถึงมนุษยชาติยุคปัจจุบันนี้
น่าทึ่ง! ที่ยังเห็นมัมมี่ฟาโรห์ทูทันคามุนอายุกว่า 3,000 ปีในหุบผากษัตริย์หรือ Valley of the Kings ที่ยังคงสภาพสังขารเป็นมนุษย์เหมือนพร้อมจะไปใช้ชีวิตหลังความตาย เพียงแต่สีพระศพเปลี่ยนแปรไปเป็นสีดำ พร้อมกับทางเข้าสู่สุสานที่มีภาพฝาผนังสดใส เป็นของเดิม ๆ มาทั้งสิ้น
เขาดองพระศพมัมมี่ด้วยน้ำยาอะไรและใช้วัสดุอะไรทำสีผนัง ถึงคงทนคงสภาพสดใสมาจนถึงทุกวันนี้ โน–ฮาวยุคก่อนคริสตกาลเป็นพัน–สองพันปีในเรื่องนี้ ยังไม่มีคำเฉลย
สิ่งที่เป็นไฮไลต์ของทูทันคามุนอีกอย่างหนึ่งก็คือ หน้ากากทองคำสวมพระพักตร์ ทำด้วยทองคำหนัก 11 กิโลกรัม ซึ่งแยกไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติกรุงไคโรและเปิดแสดงให้ประชาชนเข้าชม ส่วนพระศพที่เป็นมัมมี่ก็ยังคงอยู่ในหุบผากษัตริย์เมืองลักซอร์
เมืองลักซอร์หรือเมืองธีมส์โบราณ อยู่ห่างจากไคโรไปทางใต้ 650 กม. เป็นเมืองที่ต้องไป อันจะละเว้นเสียมิได้
เพราะนอกจากเป็นที่ตั้งหุบผากษัตริย์ มีสุสานฟาโรห์กว่า 60 พระองค์ ขุดเข้าไปในหุบผาต่าง ๆ แล้วยังมีสุสานราชินีของฟาโรห์องค์ต่าง ๆ วิหารลักซอร์ และมหาวิหารคาร์นาค เก่าแก่กว่า 3 พันปี มีเสาหินโบราณนับ 100 ต้น
ยังคงพูดเล่นกันในหมู่คณะว่า ถ้าบอลลีวูดอินเดียมาถ่ายทำภาพยนตร์ที่นี่ คงให้พระเอก-นางเอกวิ่งไล่จับกันสนุก เสาหินมีชื่อที่สุดของที่นี่คือเสาโอบิลิสก์ สูง 22.55 เมตร หนัก 227 ตัน ยอดปลายบนมีทองคำหุ้ม ทำจากหินชิ้นเดียวไม่มีรอยต่อ
แต่เดิมสร้างขึ้นมาเป็นเสาคู่ สลักด้วยภาษาท้องถิ่นอันมีความหมายเป็นตัวแทนของชีวิต แสงสว่าง และความรุ่งโรจน์ ต่อมาเสาโอบิลิสก์ต้นหนึ่ง ถูกขนย้ายให้ไปเป็นของขวัญแก่รัฐบาลฝรั่งเศส ที่เรียกว่า “เสาอียิปต์” ตั้งอยู่ต้นถนนช็องเซลีเซ กลางกรุงปารีส
เดินทางต่อไปเมืองอาบู ซิมเบลทางทิศใต้ใช้เวลาบินราว 1 ชั่วโมงอีก ก็จะได้ตื่นตาตื่นใจกับมหาวิหารรามเสสที่ 2 ฟาโรห์ที่โด่งดังที่สุดของอียิปต์ เพราะที่เห็นเป็นวิหารใหญ่โตนั้น เป็นวิหารที่กู้ขึ้นมาจากใต้น้ำทั้งหลัง เพราะน้ำท่วมจากการสร้างเขื่อนอัสวาน จึงใช้วิธีกู้ขึ้นมาให้รู้แล้วรู้รอดไปเลย
ขึ้นเหนือกลับสู่เมืองหลวงไคโร สิ่งที่พลาดไม่ได้เลยก็คือมหาพีระมิดแห่งกีซา อายุประมาณ 4,500 ปี เป็นพีระมิดสุสาน 3 หลัง สร้างโดย 3 ฟาโรห์ เข้าใจว่าสัมพันธ์ใกล้ชิดเป็นพีระมิดปู่-ลูก-หลาน และยังสร้างรูปปั้น “สฟิงซ์” ขนาดใหญ่ไว้เฝ้าสุสาน เรียกว่าไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของไคโรก็จะเห็นพีระมิด 3 หลังนี้อยู่ตลอดเวลา
พลาดไม่ได้อีกเหมือนกันคือ Egyptian Museum พิพิธภัณฑ์ที่เก็บสะสมวัตถุโบราณอียิปต์ถึง 120,000 ชิ้น และไฮไลต์สำคัญคือหน้ากากทองคำหนัก 11 กก.ครอบพระพักตร์พระศพทูทันคามุน
ในอนาคตอันใกล้นี้ ยังจะมีมหกรรมงานสร้าง มหามิวเซียมอียิปต์ พื้นที่ 5 แสนตารางเมตร ทดแทนมิวเซียมหลังปัจจุบันที่แออัด โดยตอนนี้ได้ขนย้ายรูปปั้นหินฟาโรห์รามเสสที่ 2 ของแท้และดั้งเดิม มาตั้งตระหง่านรอคอยไว้ที่โถงชั้นล่างแล้ว
อุณหภูมิอากาศอียิปต์คล้ายยุโรปตอนใต้ที่ไม่ถึงกับร้อนระอุเหมือนทะเลทราย เพราะมีความชุ่มชื้นจากแม่น้ำไนล์ความยาว 6 พันกิโลเมตรผ่ากลางประเทศ และกระแสลมมาช่วยผ่อนคลาย ส่วนหน้าหนาวก็ไม่หนาวสะท้านเท่ายุโรป
ทัวร์อียิปต์ 7 วันเต็มคราวนี้ ยังขาดความสมบูรณ์ที่ไม่ได้ไปตามรอยพระนางคลีโอพัตรา และเขื่อนอัสวาน ผมยังมีใจจะไปอีก หากมีคนชวนครับ