เจพีมอร์แกนซื้อกิจการ FRB

หน่วยงานกำกับดูแลจะเข้าควบคุมธนาคารเฟิร์สท์ รีพับลิก แบงก์ (FRB) และให้เจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค เข้าซื้อกิจการ FRB


หน่วยงานกำกับดูแลจะเข้าควบคุมธนาคารเฟิร์สท์ รีพับลิก แบงก์ (FRB) และให้เจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค เข้าซื้อกิจการ FRB หลังจาก FRB ลงทุนผิดพลาดและลูกค้าแห่ถอนเงินออกจากธนาคาร จนเกิดความเสียหายต่อภาคธนาคารในระดับภูมิภาค

กรมคุ้มครองการเงินและนวัตกรรมแห่งแคลิฟอร์เนีย (DFPI) ออกแถลงการณ์ว่า เจพีมอร์แกน จะ “รับเอาเงินฝากทั้งหมด รวมถึงเงินฝากที่ไม่ได้รับความคุ้มครองทั้งหมด ตลอดจนสินทรัพย์ที่สำคัญทั้งหมด” ของ FRB

โดย DFPI ได้เลือกให้บรรษัทรับประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FDIC) เป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของ FRB “เงินฝากจะได้รับการคุ้มครอง โดยรัฐบาลกลางผ่าน FDIC ตามวงเงินที่กำหนด”

การเข้าซื้อ FRB ครั้งนี้ จะทำให้เจพีมอร์แกน เป็นธนาคารรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ มีขนาดใหญ่ยิ่งขึ้นไปอีก ทั้งที่ตามปกติแล้ว ข้อจำกัดด้านกฎระเบียบของสหรัฐฯ จะบังคับขนาดและสัดส่วนฐานเงินฝากของเจพีมอร์แกน ไม่ให้ใหญ่ไปกว่านี้ นอกจากนี้ขัดแย้งกับท่าทีก่อนหน้านี้ของผู้แทนจากพรรคเดโมแครตคนสำคัญ และฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ได้แสดงความกังวลต่อการควบรวมกิจการในอุตสาหกรรมการเงินและภาคส่วนอื่น ๆ

นอกจากนี้ “เจพีมอร์แกน” เอง มีบทบาทสำคัญในปัญหาของ FRB มาโดยตลอด โดยเจพีมอร์แกน เป็นฝ่ายให้คำแนะนำแก่ FRB ที่พยายามมองหาวิธีแก้ไขวิกฤต และนายเจมี ไดมอน ซีอีโอของเจพีมอร์แกน เป็นกุญแจสำคัญในการโน้มน้าวใจผู้บริหารธนาคารต่าง ๆ ให้อัดฉีดเงินฝาก 30,000 ล้านดอลลาร์ แก่ FRB เพื่อเสริมแกร่งทางการเงิน หลังลูกค้า FRB จำนวนมากแห่ถอนเงินออกในเดือน มี.ค.

ทั้งนี้เฟิร์สท์ รีพับลิก แบงก์ เป็นธนาคารที่มุ่งเน้นการให้บริการไพรเวทแบงกิ้งแก่ผู้ที่มีฐานะร่ำรวย ก่อตั้งขึ้นปี 2528 โดยนายจิม เฮอร์เบิร์ต ประธานบริษัท ด้วยพนักงานไม่ถึง 10 คน ต่อมาในเดือน ก.ค. 63 FRB ได้รับการจัดอันดับให้เป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดอันดับที่ 14 ในสหรัฐฯ โดยมีสำนักงาน 80 แห่งใน 7 รัฐ และเมื่อปลายปีที่แล้ว มีการจ้างงานมากกว่า 7,200 คน

เช่นเดียวกับธนาคารอื่น ๆ ในระดับภูมิภาค FRB มีช่วงเวลาที่ยากลำบากเมื่อธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ส่งผลกระทบต่อมูลค่าของพันธบัตรและเงินกู้ยืมที่ FRB ได้ซื้อไปก่อนหน้านี้ช่วงที่อัตราดอกเบี้ยยังต่ำ ขณะเดียวกันลูกค้าแห่ถอนเงินออกจากธนาคาร ส่วนหนึ่งเป็นเพราะลูกค้าต้องการ ได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าจากที่อื่น และอีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะกังวลเกี่ยวกับสถานะทางการเงินของธนาคาร

ผลลัพธ์คือ FRB ประสบปัญหาใหญ่ เนื่องจากไม่มีเงินเพียงพอจะดำเนินกิจการต่อได้ แต่ไม่มีใครอยากเข้ามาช่วยเหลืออย่างเต็มที่ โดยความกังวลเริ่มก่อตัวมากขึ้นช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา เมื่อ FRB รายงานผลประกอบการไตรมาสแรก และมีข่าวว่ากำลังพยายามขายสินทรัพย์บางส่วน ตลอดจนประกาศแผนการลดพนักงานมากถึง 25% ลดสินเชื่อคงค้าง และตัดกิจกรรมที่ไม่จำเป็นออก

ธนาคาร 11 แห่งในสหรัฐฯ พยายามช่วย FRB ด้วยการอัดฉีดเงินฝากใหม่ 30,000 ล้านดอลลาร์ เมื่อวันที่ 16 มี.ค. โดยเจพีมอร์แกน, แบงก์ ออฟ อเมริกา, ซิตี้กรุ๊ป และเวลส์ ฟาร์โก ต่างก็ทุ่มเงินรายละ 5,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนธนาคารอื่น ๆ เช่น โกลด์แมน แซคส์ และมอร์แกน สแตนลีย์ ให้เงินจำนวนน้อยกว่า

ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการที่จัดทำขึ้นร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐฯ ยิ่งกว่านั้น FRB ยังได้รับความช่วยเหลือด้านสภาพคล่อง จากคณะกรรมการธนาคารกลางสินเชื่อที่อยู่อาศัย (FHLB) และจากเฟดอีกด้วย

อย่างไรก็ดีทั้งหมดที่กล่าวมา ไม่เพียงพอจะช่วย FRB ได้ โดยราคาหุ้นของธนาคารซึ่งเคยสูงถึง 170 ดอลลาร์ในเดือน มี.ค. ร่วงลงต่ำกว่า 5 ดอลลาร์ช่วงปลายเดือน เม.ย. การล่มสลายของ FRB จะไม่เพียงส่งผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นสามัญเท่านั้น แต่ยังรวมถึงหุ้นบุริมสิทธิมูลค่า 3,600 ล้านดอลลาร์ และตั๋วเงินที่ไม่มีหลักประกันอีก 800 ล้านดอลลาร์อีกด้วย

สำหรับ FRB มีการเปลี่ยนเจ้าของมาหลายครั้ง ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยปี 2550 เมอร์ริล ลินช์ จ่ายเงิน 1,800 ล้านดอลลาร์เพื่อซื้อกิจการ ต่อมากรรมสิทธิ์ตกเป็นของแบงก์ออฟ อเมริกา ที่เข้าซื้อเมอร์ริล ลินช์ ในปี 2552 และเปลี่ยนมืออีกครั้งช่วงกลางปี 2553 เมื่อบริษัทด้านการลงทุนหลักทรัพย์ เช่น เจเนอรัล แอตแลนติก และโคโลนี แคปิตอล เข้าซื้อ FRB ราคา 1,860 ล้านดอลลาร์ แล้วเปลี่ยนให้เป็นบริษัทมหาชน

Back to top button