พาราสาวะถี
ถามประสาจิ๊กโก๋แล้วไงต่อ เมื่อ กกต.บอกว่าการยิงเลเซอร์หาเสียงบนเสาสะพานพระราม 8 ของพรรครวมไทยสร้างชาติไม่ผิด
ถามประสาจิ๊กโก๋แล้วไงต่อ เมื่อ กกต.บอกว่าการยิงเลเซอร์หาเสียงบนเสาสะพานพระราม 8 ของพรรครวมไทยสร้างชาติไม่ผิด แต่พรรคต้นสังกัดกลับบอกว่าเป็นความผิดของ ทิพานัน ศิริชนะ ผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์พร้อมกับออกแถลงการณ์ตำหนิและให้หยุดการกระทำดังกล่าวทันที เมื่อไม่มีความผิดแล้วจะทำต่อไปหรือไม่ ถือเป็นการตีความตามช่องโหว่ของกฎหมาย และมองเห็นถึงการไม่พัฒนาทางความคิดขององค์กรที่กำกับดูแลการเลือกตั้ง
ถ้าบอกเองก็จะบอกว่าเป็นการกล่าวหา ดิสเครดิต ทำลายความน่าเชื่อถือของ กกต. เดี๋ยวจะโดนดำเนินคดีเหมือนที่ กกต.สองคนกระทืบเท้าขู่ไว้เมื่อสัปดาห์ก่อน ดังนั้น ขอยกเอาความเห็นของอดีต กกต.อย่าง สมชัย ศรีสุทธิยากร มาอธิบายแทน โดยที่เจ้าตัวชี้ว่า กกต.ในยุคหินเก่าอาจจะรับรู้เพียงว่า ป้ายหาเสียงต้องแกะสลักจากหินทั้งแท่ง กกต. 20 ปีที่แล้วอาจจะรับรู้เพียงว่า ป้ายหาเสียงต้องเป็นไม้อัดหรือไวนิลเท่านั้น แต่วันนี้ ป้ายหาเสียงอาจเป็นจอแอลอีดี อาจฉายภาพโดยโปรเจคเตอร์ยักษ์ อาจยิงข้อความโดยเลเซอร์ แม้กระทั่งการใช้โดรนแปรอักษร
กกต.ยุคปัจจุบันจึงต้องทันการเปลี่ยนแปลง รู้ทันเทคโนโลยี ไม่ติดกรอบว่าป้ายคือไม้อัด หากไม่ใช่ไม้อัดไม่ใช่ป้าย จึงไม่ควรมีคำกล่าวว่ายิงเลเซอร์ไม่ผิด หากยิงเลเซอร์คืนละ 6 ชั่วโมง ตั้งแต่สองทุ่มถึงตีสอง เป็นเวลาคืนต่อเนื่องบนพื้นที่โดดเด่นเช่น เสาสะพานพระราม 8 สูง 160 เมตร เป็นแลนด์มาร์คของกรุงเทพมหานคร ไม่นับเป็นป้ายที่เกินขนาด ไม่เข้าข่ายผิดระเบียบการหาเสียง เราคงเห็นตึกใบหยก เห็นบิลบอร์ดยักษ์บนทางหลวง ทางด่วน เห็นยิงเลเซอร์หาเสียงกันสนุกสนาน
คงไม่มีความเห็นแย้งต่อบทสรุปของสมชัยที่ว่า โทษไม่ได้หาก กกต.อยู่ในยุคหินเก่า แต่วันนี้ พ.ศ. 2566 โลกยุคดิจิทัลท่านต้องทันการเปลี่ยนแปลง ยกเว้นว่าจะทำเป็นไม่รู้เรื่องเพื่อหาทางออกให้แก่บางพรรค มันเป็นภาพที่เด่นชัด และจะชัดยิ่งกว่าหากหลังจากนี้จะมีการพิจารณาจนนำไปสู่การวินิจฉัยในเรื่องหนึ่งเรื่องใดที่เป็นคุณกับอีกฝั่ง ลงโทษอีกฝ่ายเหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนาโดยที่ไม่ต้องมีใครไปยัดเยียด
อย่างไรก็ตาม เดินทางมาจนถึงโค้งสุดท้ายขนาดนี้คงไม่มีอะไรที่จะมาพลิกผลของการเลือกตั้งได้ สิ่งที่คนส่วนใหญ่จับตามองน่าจะเป็นการจับมือการตั้งรัฐบาลของพรรคที่ชนะเลือกตั้งมากกว่า ถ้าโจทย์เป็นว่าเพื่อไทยเข้าป้ายด้วยตัวเลข ส.ส. 220-250 เสียง ตามมาด้วยก้าวไกลที่ 60-80 เสียง สามารถรวมเสียงกันได้ถึง 300 ที่นั่ง คำถามคือ ทั้งสองพรรคจะจับมือกันตั้งรัฐบาลหรือไม่ แล้วพรรคการเมืองฝั่งตรงข้ามที่ร่วมกันสนับสนุนขบวนการสืบทอดอำนาจมีโอกาสจะมาร่วมงานกันได้ไหม
หากยึดเอาตามจุดยืนของก้าวไกลไม่มีทางที่จะสังฆกรรมกับพรรคซีกตรงข้ามได้ ส่วนเพื่อไทยแม้อาจมีความเป็นไปได้ที่จะลดเพดาน แต่จะเกิดคำถามหรือความเคลื่อนไหวของฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยว่าไม่ควรจะทรยศเสียงที่สนับสนุนตัวเอง หากเป็นเช่นนั้นจริง ก็ต้องไปดูเสียงของซีกฝ่ายค้านเมื่อรวมกับพรรคการเมืองฝ่ายเดียวกันที่เหลือว่าจะมีจำนวนเท่าใด เพราะโจทย์ใหญ่และหินคือหากจะไม่ง้ออีกฝ่ายต้องให้ได้เสียง ส.ส.เบ็ดเสร็จเด็ดขาดคือเกิน 376 เสียงขึ้นไป
ด้วยโจทย์เช่นนี้หากไม่ดึงเอาพรรคสืบทอดอำนาจหรือภูมิใจไทยเข้าร่วมก็ยากที่จะเป็นไปได้ แต่ก็มีข้อเสนอจากฝ่ายประชาธิปไตยให้ยึดหลักการอย่างเข้มแข็ง และพิสูจน์ท่าทีของ ส.ว.ลากตั้ง ด้วยการให้พรรคฝ่ายค้านเดิมที่มีเสียงเกินกว่า 300 เสียงเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในซีกของตัวเองให้ที่ประชุมรัฐสภาเลือก ดูว่า 250 เสียงของพวกลากตั้งจะกล้าปฏิเสธเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน แล้วหันไปหนุนให้มีการตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยหรือไม่
การตัดสินใจในจุดนี้อาจจะง่ายขึ้น กรณีที่พรรคของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจได้ ส.ส.ไม่ถึง 25 ที่นั่ง เพราะเท่ากับว่าไม่สามารถชงแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคตัวเองให้ที่ประชุมพิจารณาได้ ซึ่งนั่นก็จะทำให้ทุกอย่างเป็นไปตามครรลองหรือตามที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจว่า ให้มันเป็นไปในสิ่งที่ควรเป็น แต่หากไม่ใช่ก็น่าสนใจที่ว่า จะมีกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการยุบพรรคการเมืองในซีกฝ่ายค้านเพื่อให้การจุดพลุรัฐบาลเสียงข้างน้อยแล้วมี ส.ส.มาเติมทีหลังที่โยนหินถามทางมาก่อนหน้านั้นมีความเป็นไปได้
จึงต้องติดตามกระบวนการพิจารณาเรื่องร้องเรียนของ กกต.ที่จะเกิดขึ้นในช่วงหลังการเลือกตั้งว่าจะทำให้สถานการณ์ทางการเมืองของประเทศเดินไปในทิศทางใด ขณะเดียวกันจากบทเรียนที่ผ่านมาฝ่ายไม่เอาเผด็จการสืบทอดอำนาจได้มีความเคลื่อนไหวในการสร้างแนวร่วมผลิตมวลชนเป็นไปในลักษณะการให้ความรู้ แสวงหาความร่วมมือเพื่อให้เกิดเป็นพลังของประชาชนที่ไม่ผ่านการจัดตั้ง แต่สามารถแสดงพลังได้ทันทีเมื่อมองเห็นว่าเกิดความไม่ชอบธรรมขึ้นในบ้านเมือง
ปรากฏการณ์คนแห่แหนไปฟังปราศรัยของพรรคก้าวไกลคือบทพิสูจน์ ล่าสุดคาราวานก้าวไกลภาคใต้สายในใต้หล้าที่สุราษฎร์ธานี มีคนแห่ไปฟังกันล้นหลามซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนกับพรรคการเมืองที่ไม่มีหัวคะแนนเช่นนี้ และภาพเช่นนี้จะมีแต่พรรคประชาธิปัตย์เท่านั้นที่ทำได้ วันนี้กลับไม่ได้เป็นเช่นนั้นอีกต่อไป นั่นย่อมเป็นสัญญาณที่สะท้อนให้เห็นว่าแม้แต่ในพื้นที่ซึ่งผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจมั่นใจเป็นอย่างมากว่ากระแสนิยมดีเยี่ยม ยังต้องการความเปลี่ยนแปลง
หากปรากฏว่าพรรคก้าวไกลสามารถปักธงมี ส.ส.ได้ในภาคใต้ โดยเฉพาะกับจังหวัดสุราษฎร์ธานี ก็หมายความว่า กระแสข่าวการยุบพรรคไม่ว่าจะก้าวไกลหรือเพื่อไทยก็ไม่ใช่งานง่ายที่คนคิดจะใช้วิธีการเช่นนี้เพื่อให้พวกอยากอยู่ยาวได้สมหวัง ลองมองภาพย้อนกลับไปในวันที่ม็อบนกหวีดชัตดาวน์ประเทศเพื่อให้เผด็จการ คสช.ออกมายึดอำนาจ แล้วเกิดการสืบทอดอำนาจยาวนานมาถึงทุกวันนี้ เหตุการณ์นั้นก็จะวนลูปกลับมาเป็นกงเกวียนกำเกวียนก็เป็นได้