ฟางเส้นสุดท้ายพลวัต 2015
ในภาวะที่แรงเทขายในตลาดเก็งกำไรทั่วโลกเกิดขึ้นทั่วไปเพราะข่าวร้าย มีข่าวดีเพียงข่าวเดียวที่จะหยุดยั้งให้สถานการณ์พลิกผันได้ คือข่าวเฟดไม่ขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมสัปดาห์หน้า
ในภาวะที่แรงเทขายในตลาดเก็งกำไรทั่วโลกเกิดขึ้นทั่วไปเพราะข่าวร้าย มีข่าวดีเพียงข่าวเดียวที่จะหยุดยั้งให้สถานการณ์พลิกผันได้ คือข่าวเฟดไม่ขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมสัปดาห์หน้า
ข้อเสนอเช่นนี้ หลายคนอาจจะมองว่าบ้า หรือเป็นไปไม่ได้ แต่เป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้
สถานการณ์เศรษฐกิจโลกยามนี้ ไม่ได้มีอะไรดีกว่าเดือนกันยายน ตอนที่เฟดตัดสินใจไม่ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมาแล้วแม้แต่น้อย ดังนั้น แม้ว่านางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟดจะพยายามยืนกรานแข็งขันจนถึงครั้งล่าสุดว่าต้องขึ้นดอกเบี้ย แต่ไม่ได้หมายความว่าคณะกรรมการเฟดที่มีทั้งหมด 17 คน และสามารถออกเสียงลงมติทุกครั้งได้ไม่เกิน 10 คน จะเห็นพ้องกับนางเยลเลนทุกคน
ข้อเท็จจริงล่าสุดของเศรษฐกิจจีนที่เปราะบางอย่างมาก อ่อนแอกว่าเดือนกันยายนทั้งการส่งออกและนำเข้า ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกร่วงผล็อยลงรุนแรง (แม้จะมีข้อยกเว้นสินค้าเกษตรที่รับผลเสียจากเอล นินโญ่บางส่วน) สู่ระดับต่ำสุดครั้งใหม่
ยิ่งไปกว่านั้น ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ดิ่วเหวสู่จุดต่ำสุดระลอกใหม่หลังการประชุมโอเปกที่ล้มเหลวล่าสุด นอกจากทำให้เกิดเส้นทางสู่หายนะของโอเปก ในฐานะคาร์เทลยกระดับราคาแล้ว ราคาน้ำมันดิบโลกจะดิ่งเหวไปสู่ราคาที่ระดับ20ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ดังการคำนวณของนักวิเคราะห์โกลด์แมน แซคส์ เมื่อหลายเดือนก่อน มีความเป็นไปได้หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น แม้มุมมองที่ค่อนข้างเป็นกลางส่วนใหญ่ก็ยอมรับว่ามีความเป็นไปได้ที่ ราคาน้ำมันจะทรงตัวที่ระดับต่ำใต้ 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ไปอีกอย่างน้อยจนถึงปลายปี ค.ศ. 2017
เศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นชาติซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ใหญ่สุดของโลก ราคาน้ำมันดิบ และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ย่ำแย่ ล้วนเป็นข้ออ้างเมื่อเดือนกันยายนของเฟดด้วยคะแนน 9 ต่อ 1 ไม่ขึ้นดอกเบี้ยมาแล้ว ด้วยเหตุผลว่า เป็นปัจจัยถ่วงรุนแรงในอนาคต เพราะจะพาเศรษฐกิจโลกกลับสู่ภาวะเงินฝืดระลอกใหม่ได้ง่ายมาก เริ่มจากเงินฝืดในชาติกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนา ลามไปสู่ชาติต่างๆ ลงท้ายที่สหรัฐเอง หากเฟดยืนยันจะขึ้นดอกเบี้ย
มีการประเมินว่า หากดอลลาร์แข็งขึ้น ในขณะที่จีนกำลังลอยตัวค่าเงินหยวนพอดี จีนจะได้รับผลกระทบถึงขั้นเข้าสู่ภาวะเงินฝืดนานหลายปี และทำให้เศรษฐกิจเอเชียและราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกย่ำแย่ไปยาวนาน
ครั้งนี้ก็เช่นกัน สถานการณ์ตลาดภายนอกเศรษฐกิจสหรัฐ ดูเหมือนจะเลวร้ายกว่าเดือนกันยายนเสียด้วยซ้ำ เพราะว่าปัญหาเงินฝืดและเศรษฐกิจขาลงยังคงถาโถมใส่โลกไม่หยุดเป็นปัญหาที่รออยู่ข้างหน้าชัดเจนไม่ใช่เงินเฟ้อและเศรษฐกิจขาขึ้นดังที่ทฤษฎีการเงินเก่าคร่ำครึพยายามอธิบาย
ปรากฏการณ์ที่สร้าง”แรงกดดันในช่วงขาลงต่อเงินเฟ้อในระยะใกล้” (ตามคำอ้างของเฟดในเดือนกันยายน) ได้วนเวียนปรากฏขึ้นระลอกใหม่อย่างชัดเจนในยามนี้ เพราะตราบใดที่ราคาน้ำมัน และสินค้าโภคภัณฑ์ยังอยู่ในระดับต่ำยาวนาน เป้าหมายเงินเฟ้อที่ตั้งเอาไว้ยากจะบรรลุได้ แม้ในชาติที่เศรษฐกิจฟื้นตัวตลาดแรงงานเข้าสู่ระดับจ้างงานเต็มที่แล้วอย่างสหรัฐ
ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ล้นเกินความต้องการของตลาด บ่งบอกถึงกำลังการผลิตของอุตสาหกรรมที่ไม่เต็มที่ทำให้ยากที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยากจะมีกำไรเพิ่มขึ้นและแข่งขันกันขึ้นค่าจ้างให้พนักงานได้ในอนาคต
ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก นับแต่ราคาน้ำมันดิบ แร่โลหะ และสินค้าเกษตร รวมทั้งราคาทองคำที่ถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในยามตลาดผันผวนรุนแรง พากันที่ร่วงผล็อยในอัตราใกล้เคียงกันทำนิวโลว์ครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่เพียงสะท้อนประเด็นสำคัญเรื่องอุปสงค์ลดลง และอุปทานเพิ่มขึ้น แต่ยังบอกว่า ในกระแสโลกาภิวัตน์ ห่วงโซ่เศรษฐกิจที่โยงใยลึกซึ้งระหว่างกัน ทำให้ปรากฏการณ์จากชาติหนึ่งส่งผลสะเทือนไปสู่ชาติอื่นแพร่กระจายในลักษณะ“ฝนที่ตกทางโน้น หนาวถึงคนทางนี้“ ได้ง่ายกว่าในอดีตหลายเท่า
ข้อเท็จจริงที่ว่าปัจจุบัน เศรษฐกิจสหรัฐแข็งแกร่งขึ้นมากหลังผ่านวิกฤตซับไพรม์มาแล้ว ตัวเลขอัตราว่างงานทะลุเกินเป้าไปที่ 5.0% แล้ว ยืนยันได้ดีว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยก่อนที่จะมีปัญหาเงินเฟ้อครั้งใหม่มีความเหมาะสม แต่การที่เป้าเงินเฟ้อกลับสวนทาง เพราะราคาสินค้าโภคภัณฑ์ดิ่งเหวระลอกใหม่ ท้าทายโจทย์ของการขึ้นดอกเบี้ยเฟดอย่างยิ่ง
แรงเหวี่ยงขาลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งประเมินค่อนข้างยากว่าจะดำเนินไปอีกนานแค่ไหน แต่คาดว่าไม่น่าต่ำกว่า 2-3 ปี ทำให้ความมั่งคั่งโดยรวมของชาติกำลังพัฒนาหรือตลาดเกิดใหม่ทั่วโลกถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลเสียโดยตรงต่อเศรษฐกิจของชาติส่งออกหรือผลิตสินค้าดังกล่าว ซึ่งอีกด้านหนึ่งคือชาติคู่ค้าสินค้าทุนของสหรัฐ และชาติที่พัฒนาแล้วนั่นเอง
โจทย์ที่ยากยิ่งสำหรับการตัดสินใจของเฟดเกิดขึ้นเพราะทฤษฎีชี้นำเดิมว่าด้วยเส้นโค้งฟิลลิป (Phillip’s Curve) ที่เคยระบุว่า การว่างงานที่ลดลงมากเกินระดับการจ้างงานเต็มที่ จะทำให้เกิดเงินเฟ้อพุ่งแรง ใช้การไม่ได้ เพราะล่าสุดเงินเฟ้อที่ต่ำกว่าเป้า 2.0% ทำให้ความพยายามที่จะขึ้นดอกเบี้ย กลายเป็นตรรกะที่สุ่มเสี่ยง เพราะอาจฉุดเศรษฐกิจให้ร่วงลงใหม่ง่ายดาย
การขึ้นดอกเบี้ยของเฟด แม้ทำให้ต้นทุนการเงินในโลกสูงขึ้นไม่มากนัก แต่อีกด้านหนึ่ง ทำให้ทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่กลับไปที่สหรัฐจากการแข็งค่าดอลลาร์ ส่งผลให้เกิดภาวะถดถอยของตลาดทุน และหายนะของตลาดเกิดใหม่ง่ายดายมาก และในทางกลับกัน ทำให้ผลกำไรของบริษัทข้ามชาติอเมริกันในต่างแดนลดลงเป็นห่วงโซ่ต่อเนื่อง
เรื่องนี้ เฟดได้อธิบายในเดือนกันยายนไปหมดโดยละเอียดแล้ว แสดงว่ารู้ดีอย่างยิ่งว่าจะเกิดอะไรขึ้นล่วงหน้าจากผลของการตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย ดังนั้น เรื่องที่ “รู้อยู่แล้ว” เช่นนี้ น่าจะเป็นสิ่งที่ถูกยกขึ้นมาถกกันในที่ประชุมเฟดล่าสุดสัปดาห์หน้าอย่างจริงจัง
หากเฟดผ่านมติขึ้นดอกเบี้ยฉลุย พวกเขามั่นใจว่าสหรัฐสามารถแกร่งได้โดยไม่ต้องมีชาติอื่นร่วมวงศ์ไพบูลย์ แต่หากเฟดไม่สามารถผ่านมติขึ้นดอกเบี้ยได้ เป็นข่าวดีสำหรับเศรษฐกิจโลกชิ้นส่งท้ายปีนี้
พ้นจากฟางเส้นสุดท้ายนี้ คือหายนะ