อนาคตหุ้นมือถือขี่พายุ ทะลุฟ้า
ไม่น่าเชื่อ แต่ก็ต้องเชื่อแล้วว่า ยิ่งระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ ก้าวสู่ความทันสมัยในระบบ 4 จี แต่ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อหลักทรัพย์ของบริษัทผู้ประกอบการมือถือทั้งหลาย กลับคลอนแคลนลงเป็นอันมาก
ไม่น่าเชื่อ แต่ก็ต้องเชื่อแล้วว่า ยิ่งระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ ก้าวสู่ความทันสมัยในระบบ 4 จี แต่ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อหลักทรัพย์ของบริษัทผู้ประกอบการมือถือทั้งหลาย กลับคลอนแคลนลงเป็นอันมาก
มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไรก็ไม่รู้ เพราะตอนช่วงพัฒนาการจาก 2 จี มาเป็น 3 จี ความเชื่อมั่นต่อหุ้นมือถือมีสูงมาก 3 จี นั่นแหละคือจุดขายเชียว
ราคาหุ้นของบริษัทผู้ประกอบการมือถือตั้งแต่ต้นปี 58 มาถึงปัจจุบัน ต่ำเตี้ยเรี่ยดินลงเป็นอันมาก
ค่ายมือถือADVANC ราคาปรับลง 20% พี/อีขณะนี้อยู่ที่ 15 เท่า
TRUE ซึ่งน่าจะแข็งแรงจากการเพิ่มทุนของไชน่า โมบายล์ และมีอนาคตกับธุรกิจโทรมือถือมากที่สุด เพราะไม่ต้องไปกินน้ำใต้ศอกใครแล้ว ราคาก็ลดลงมา 26% พี/อีอยู่ที่ 33 เท่า
DTAC ผู้พ่ายแพ้การประมูลรอบคลื่นความถี่ 1800MHz และก็ยังไม่รู้ว่ารอบประมูลใหม่ที่คลื่น 900MHz จะเข้าสู้สุดตัวหรือเปล่าเนี่ย ราคาปรับตัวลงมามากที่สุดถึง 52% เลยทีเดียว พี/อีปัจจุบันอยู่ที่ 15 เท่า
นอกจากนั้น JAS หรือจัสมิน ซึ่งทำธุรกิจบรอดแบนด์ อินเทอร์เน็ตอยู่ดีๆ แต่พอประกาศตัวเข้าสู้ประมูลเท่านั้นแหละ ราคาก็ร่วงกราวจนบัดนี้ลงมาถึง 35%
พี/อีแสนจะต่ำมาก แค่ 2 เท่าเศษเท่านั้นเอง
นี่ถ้าเกิด JAS ประมูลได้คลื่น 900 ราคามิถล่มทลายไปมากกว่านี้หรือ
น่าคิดมาก สำหรับ JAS ซึ่งกูรูด้านโทรคมนาคมหลายท่านอย่างอาจารย์บวร ปภัสราทร ท่านบอกว่า JAS นี่แหละคือตัวจริงเสียงจริงของ 4 จี เลย
เพราะการวางโครงข่ายบรอดแบนด์ใช้กับอินเทอร์เน็ตทั่วประเทศในเวลานี้ ก็เหมือนกับสร้างถนนเผื่อไว้แล้ว โทรเคลื่อนที่ 4 จี เปรียบได้กับรถอีกขบวนหนึ่ง จึงสามารถจะวิ่ง 2 ขบวนไปด้วยกันได้เลย
แต่นักลงทุนหาได้มองจุดนี้ไม่
สิ่งที่นักลงทุนมองหุ้นมือถือในแง่ลบมากที่สุดก็คือ ราคาประมูลแพงไปมาก
ADVANC ได้คลื่นความถี่ชุดที่ 2 ไปในราคา 40,986 ล้านบาท และ TRUE ได้คลื่นความถี่ชุดที่ 1 ไปในราคา 39,792 ล้านบาท
ประมูลใหม่ รอบชิงคลื่น 900MHz ในวันที่ 15 ธ.ค.ที่จะถึงนี้ ราคาประมูลก็คงไม่มีวันต่ำกว่ารอบที่แล้วแน่ และก็มีแนวโน้มจะสูงกว่าด้วยซ้ำ
เพราะหากใครพลาดรอบนี้ไป ก็ต้องไปรอประมูลใหม่ในปี 2561 ซึ่งคลื่น 1800 ของDTAC จะหมดอายุลง ซึ่งอนาคตตอนนั้นไม่แน่ไม่นอนสูง
ใครที่ไม่มีคลื่น 4 จี ไว้ในครอบครองเลยสักใบ หากจะคิดไปเข้าตลาดตอนนั้น ก็ต้องกลายเป็นมวยรองบ่อน ไปโกยลูกค้าหลังเพื่อนเขาทำตลาดไปล่วงหน้าก่อนแล้ว
อันที่จริงใบอนุญาต 4 จี รอบแรกที่ผ่านไป เฉลี่ยใบละ 4 หมื่นล้านบาท ก็ไม่ได้เป็นต้นทุนที่แพงอะไรมาก เมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนอันเป็นค่าต๋งในระบบสัมปทาน
เมื่อก่อนนี้ ค่ายดีแทค-แอดว๊านซ์ จ่ายค่าสัมปทานตลอดอายุสัมปทานช่วง 20-25 ปี เป็นมูลค่าเจ้าละประมาณ 2 แสนล้านบาท
คลี่ออกเป็นรายปีก็ตกเฉลี่ยปีละ 8,000-10,000 ล้านบาท ก็ยังสามารถทำกำไรมหาศาลในเวลาอันรวดเร็วยิ่งกว่าธุรกิจเก่าๆ เป็นไหนๆ
แต่ระบบใบอนุญาตที่เพิ่งผ่านกันไป จ่ายกันตกเฉลี่ย 4 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ในอายุใบอนุญาต 18 ปี
ลองคลี่ออกมาเป็นรายปี ต้นทุนใบอนุญาตก็จะตกราว 2,200 ล้านบาทเท่านั้น
มันถูกกว่า 8 พันล้านบาท หรือ 1 หมื่นล้านบาทในระบบสัมปทานเดิมเป็นไหนๆ ในขณะที่ช่องทางทำมาหากินของโทร 4 จี มันหากินได้คล่องกว่าระบบ 2 จี หรือ 3 จี เดิมแน่นอน
นอกจากนั้น ในยุคปัจจุบัน ผู้ประกอบการสามารถจะนำทรัพย์สินโครงข่ายมาตั้งกองทุนอินฟราสตรักเจอร์ ฟันด์ได้
อันจะช่วยลดภาระต้นทุนการเงินได้มหาศาล
สรุปแล้ว ผมว่านักลงทุนเรา ตลอดจนนักวิเคราะห์ทั้งหลาย น่าจะมองหุ้นมือถือหรือหุ้นสื่อสารในแง่ลบมากเกินความจริงไปสักหน่อยนะ
ขอช่วยทบทวนหุ้นมือถือบนพื้นฐานความจริงอีกสักทีเถอะ