TU เริ่มเก็บเกี่ยวกำไร ‘เรด ล็อบสเตอร์’

จุดที่น่าสนใจคือ ธุรกิจของเรด ล็อบสเตอร์ ซึ่ง TU ถือหุ้น 49% ก่อนหน้านี้ประสบปัญหาขาดทุนมาต่อเนื่อง เริ่มฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ


คุณค่าบริษัท

บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU ผู้ผลิตและส่งออกอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งและบรรจุกระป๋องรายใหญ่ของไทย รายงานผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/2566 มีกำไรสุทธิ 1,022 ล้านบาท ลดลง 41.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,746 ล้านบาท

ที่เห็นกำไร TU ลดฮวบนั้น เกิดจาก 1) ไม่มีการบันทึกการเปลี่ยนแปลงจากหุ้นบุริมสิทธิของเรด ล็อบสเตอร์ (Red Lobster) เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยพุ่งสูงขึ้น จากไตรมาส 1/2565 มีการเปลี่ยนแปลงมูลค่ายุติธรรมของหุ้นบุริมสิทธิ จำนวน 239 ล้านบาท (หลังหักภาษี) และ 2) ส่วนแบ่งกำไรสุทธิจากบริษัท ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ITC ลดลง หลัง ITC เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งกำไรจาก ITC อยู่ที่ 200 ล้านบาท (อ้างอิงสัดส่วน 22.18% ของกําไรสุทธิของ ITC ในไตรมาส 1/2565 หรือ 908 ล้านบาท) ทั้งนี้หากไม่รวม 2 รายการดังกล่าว กําไรสุทธิในไตรมาส 1/2566 ของ TU จะลดลง 21.8% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

ขณะที่ ในไตรมาสนี้ TU มียอดขายรวมอยู่ที่ 32,652 ล้านบาท ลดลง 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มียอดขายรวมแข็งแกร่งอยู่ที่ 36,272 ล้านบาท สาเหตุมาจากความต้องการสินค้าปรับตัวลดลงทั่วโลกจากการที่คู่ค้าในภูมิภาคต่าง ๆ มีปริมาณสินค้าคงคลังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น ทำให้การสั่งซื้อสินค้าชะลอตัวลง

แต่จุดที่น่าสนใจคือ ธุรกิจของเรด ล็อบสเตอร์ เชนร้านอาหารทะเลที่ใหญ่สุดในโลก ซึ่ง TU ถือหุ้น 49% ก่อนหน้านี้ประสบปัญหาขาดทุนมาต่อเนื่อง เริ่มฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ โดยในไตรมาสนี้มีกำไรจากการดำเนินงาน 121 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนจากการดำเนินงาน 243 ล้านบาท เนื่องจากเป็น High Season ของธุรกิจ บวกกับเริ่มเห็นผลบวกจากการปรับปรุงการดำเนินงานภายใน รวมทั้งการปรับราคาขาย การปรับเมนูให้เหมาะสมกับพื้นที่นั้น ๆ ของสหรัฐอเมริกา และการควบคุมต้นทุนทุกภาคส่วนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ถือเป็นการพลิกฟื้นกลับมามีกำไรในรอบ 2 ปี (นับจากปี 2564) ของเรด ล็อบสเตอร์เลยทีเดียว

ขณะเดียวกัน ก็ตอกย้ำว่า TU ไม่คิดจะขายธุรกิจเรด ล็อบสเตอร์ และยังคงเดินหน้าแผนพลิกฟื้นตามเป้าหมายที่วางไว้ต่อไป โดยตั้งเป้าหมายภายในสิ้นปี 2566 จะมีผลขาดทุนลดลง 50% หรือขาดทุนเหลือ 600 ล้านบาท จากปี 2565 ที่มีผลขาดทุน 1,207 ล้านบาท

ด้าน บล.ทรีนีตี้ ระบุว่า TU ในไตรมาส 2/2566 อาจเห็นกำไรฟื้นตัวจากไตรมาสก่อนได้บ้าง แต่ยังไม่เต็มที่ เนื่องจากแม้ในด้านปริมาณการสั่งซื้อจะเริ่มฟื้นตัวกลับขึ้นมาหลังปริมาณการสั่งซื้อจากลูกค้าเพิ่มขึ้น แต่คาดว่าจะยังเห็นราคาวัตถุดิบทูน่าที่อยู่ในระดับสูงเป็นปัจจัยกดดันอยู่ ทำให้คาดว่าจะเห็นการฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง

ด้วยแนวโน้มกำไรในครึ่งปีแรกที่ค่อนข้างต่ำ จึงปรับประมาณการกำไรปี 2566 ลงราว 21% จากประมาณการก่อนหน้า เหลือ 5,366 ล้านบาท ลดลง 25% จากปีก่อน โดยปรับลดประมาณการอัตรากำไรขั้นต้นลงจาก 17.7% เหลือ 17.0% และปรับเพิ่มต้นทุนทางการเงินขึ้นอีกราว 0.1%

สำหรับการประเมินมูลค่า (Valuation) ปัจจุบันราคาหุ้น TU ซื้อขายกันที่ P/E ระดับ 11.22 เท่า เทียบกับ P/E ตลาดโดยรวมที่ระดับ 18.27 เท่า ถือว่าราคาซื้อขายต่ำกว่าตลาด สอดคล้องกับ P/BV ที่ระดับ 0.89 เท่า ก็ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ส่วนใหญ่ P/BV จะอยู่ที่ระดับ 1.49 เท่า โดยมีราคาเป้าหมายเฉลี่ยที่ 17.72 บาท จากราคาต่ำสุด 13.50 บาท และราคาสูงสุด 22.00 บาท

Back to top button