พาราสาวะถี

วันนี้ (30 พ.ค.) 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล นัดหารือกันที่พรรคประชาชาติ ตามมารยาทก็บอกว่าเป็นการคุยกันเพื่อกำหนดแนวทางและแผนงานการทำงานร่วมกัน


วันนี้ (30 พ.ค.) 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล นัดหารือกันที่พรรคประชาชาติ ตามมารยาทก็บอกว่าเป็นการคุยกันเพื่อกำหนดแนวทางและแผนงานการทำงานร่วมกัน หลังจากได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมหรือเอ็มโอยูไปก่อนหน้า ขณะที่คุณแหล่งข่าวยืนยันว่าจะเป็นการหารือเพื่อจัดวางตำแหน่งรัฐมนตรีกันให้เสร็จสรรพเรียบร้อย เหมือนอย่างที่ทางซีกเพื่อไทยให้ข่าวไว้ก่อนหน้าเรื่องนี้ต้องคุยกันในห้อง ไม่ใช่ให้ใครไปพูดข้างนอก สิ่งสำคัญทุกพรรคต้องให้เกียรติก้าวไกลในฐานะแกนนำตั้งรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม ก็มีข่าวเล็ดลอดมาต่อเนื่องถึงโควตารัฐมนตรีที่ทั้งเพื่อไทยและก้าวไกลได้จัดสรรกันลงตัวแล้ว คงไม่เหนือความคาดหมายที่บอกไปก่อนหน้า พรรคแกนนำตั้งรัฐบาลจะรับตำแหน่งในส่วนของกระทรวงที่ดูแลงานด้านความมั่นคงและสังคม ส่วนเพื่อไทยจะดูแลกระทรวงด้านเศรษฐกิจทั้งหมด อาจจะเหลือกระทรวงแรงงานและวัฒนธรรมที่เป็นกระทรวงขนาดเล็กไว้ให้คนของพรรคลำดับที่ 3 และ 4 ได้ไปบริหาร

ทำไปทำมา กลายเป็นว่าโฟกัสของการตั้งรัฐบาลหนนี้ไม่ได้อยู่ที่การแบ่งปันโควตากระทรวงและการวางตัวรัฐมนตรีที่จะไปบริหาร กลับเป็นปัญหาเรื่องตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร แน่นอนว่า การหารือรอบนี้น่าจะมีการหยิบยกมาถกกันบ้าง แต่อาจไม่มีข้อสรุป เนื่องจากเป็นการประชุมของ 8 พรรคร่วม ซึ่ง 6 พรรคที่เหลือคงจะโยนให้เป็นเรื่องของสองพรรคใหญ่ไปตกลงกันเอง หากเป้าหมายของก้าวไกลคือร่วมกันดัน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ให้ได้ ก็อาจต้องถอยยอมยกเก้าอี้ประธานสภาฯ ให้กับเพื่อไทยไปครอง

ส่วนประเด็นที่ว่ามีการเปิดดีลลับเพื่อที่จะผลักให้ก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้านนั้น หากดูจากความเคลื่อนไหวที่ผ่านมาก็น่าจะมีเหตุชวนให้เชื่อเช่นนั้นได้ ผสมโรงกับกองเชียร์ในนามกลุ่มเสื้อแดงเอฟซีพรรคเพื่อไทยที่ไปยื่นหนังสือ ณ ที่ทำการพรรคเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เรียกร้องให้ถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล ก็เพียงแค่การแสดงออกอย่างหนึ่งของแนวร่วมสุดโต่งเท่านั้น และต้องไปดูด้วยว่าการขยับเช่นนี้มีเบื้องหลังหรือไม่ เชื่อว่าไม่เป็นคุณกับพรรคเสียด้วยซ้ำ

ต้องยอมรับความเป็นจริงอย่างหนึ่งว่า กลุ่มคนเสื้อแดงที่เคลื่อนไหวตามแนวทางยึดมั่นหลักประชาธิปไตยอย่างแท้จริงนั้น เดิมอาจจะมีเพื่อไทยพรรคเดียวที่แนวร่วมเหล่านั้นให้การสนับสนุน แต่หลังจากการเกิดขึ้นของคนรุ่นใหม่วัยหนุ่มสาวที่ออกมาทำกิจกรรมทางการเมืองขับไล่เผด็จการสืบทอดอำนาจ คนเหล่านั้นก็ได้หันไปให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เช่นเดียวกันกับการเห็นด้วยกับแนวทางขับเคลื่อนทางการเมืองของพรรคก้าวไกล

ผลการเลือกตั้งเป็นตัวชี้วัดที่ชัดเจน เพราะความจริงหลังจากการล่มสลายของระดับแกนนำเสื้อแดงอย่าง นปช.แล้ว กลุ่มคนเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ยังยึดมั่นในอุดมการณ์ต่างก็หันไปให้การสนับสนุนคนรุ่นใหม่ และฝากความหวังไว้กับพรรคการเมืองที่เน้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลง แสดงตัวเป็นฝ่ายตรงข้ามกับอำนาจเผด็จการ ไม่ใช่ว่าเพื่อไทยไม่ได้มีท่าทีเช่นนั้น แต่ความชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับก้าวไกลแล้วถือว่าต่างกันเป็นอย่างยิ่ง

ความเปลี่ยนแปลงในแง่แรงสนับสนุนจากกลุ่มคนเสื้อแดงนั้น ระดับนำของเพื่อไทยต่างรู้ดี ดังนั้น เรื่องดีลลับใช่ว่าจะไม่มีอยู่จริง และโอกาสที่จะเกิดการเปลี่ยนขั้วจับมือตั้งรัฐบาลนั้นก็ไม่ใช่ว่าจะไม่เกิดขึ้น เพียงแต่ทางเลือกที่จะนำมาซึ่งความชอบธรรมให้พรรคนายใหญ่ได้เป็นแกนนำตั้งรัฐบาลนั้น จะต้องให้การสนับสนุนพิธาเข้าสู่กระบวนการโหวตเลือกเป็นนายกฯ ให้สุดทางเสียก่อน เรียกได้ว่า ทำทุกทางแล้วแต่ไม่สามารถผลักดันได้ต่อ นั่นจึงจะเป็นโอกาสที่เพื่อไทยจะพลิกกลับมา

โอกาสเช่นนั้น อาจจะไม่ได้หมายถึงว่ามีการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง เพียงแค่สลับให้แคนดิเดตนายกฯ จากเพื่อไทยได้รับการเสนอชื่อเพื่อให้ที่ประชุมรัฐสภาโหวตเลือก โดยโจทย์นี้ยังมีอีกประเด็นที่จะเป็นไปได้ก็คือ พิธาถูกสอยจากกรณีถูกร้องเรียนเรื่องถือหุ้นไอทีวีก่อนที่จะมีการเลือกนายกฯ จึงทำให้มีความชอบธรรมที่แคนดิเดตนายกฯ ของเพื่อไทยในฐานะพรรคการเมืองอันดับสองจะถูกเสนอชื่อ ซึ่งหากมองในแง่ของเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.แล้วน่าจะดีกว่าพิธาที่มีจุดให้พวกลากตั้งยกมาโจมตีได้

ถ้าสูตรแคนดิเดตนายกฯ มาจบที่คนของเพื่อไทย มีรายงานว่านายใหญ่จะยังไม่ให้ แพทองธาร ชินวัตร รับเก้าอี้ในเวลานี้ โดยจะหลีกทางให้ เศรษฐา ทวีสิน ในฐานะผู้มีคุณสมบัติที่คนส่วนใหญ่ให้การยอมรับและ ส.ว.ไม่น่าจะหาเหตุมากล่าวหาได้ว่าเป็นทายาททางการเมืองของคนที่พวกลากตั้งส่วนใหญ่แสดงความรังเกียจ แน่นอนว่า คนแดนไกลก็จะให้ลูกสาวสุดที่รักได้ไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งเพื่อโชว์ศักยภาพในความเป็นผู้บริหารให้เป็นที่ประจักษ์เสียก่อน

แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น ยังคงต้องติดตามกระบวนการพิจารณารับรองผลการเลือกตั้งจาก กกต.ทั้ง 6 คนเสียก่อน จะดำเนินการได้เร็วขนาดไหน และออกมาในรูปแบบใด ถ้าเร็วก็ต้องดูด้วยว่ารับรองครบทั้ง 500 คนเลยหรือไม่ ตรงนี้เป็นจุดสำคัญ เพราะหาก กกต.ไม่รับรองครบ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่รับรองเพียงแค่ 95 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตามกฎหมายจะสามารถเปิดประชุมสภาแล้วเดินหน้ากระบวนการทางสภาฯ จนไปถึงการตั้งรัฐบาลได้ นี่จะเป็นนัยทางการเมืองที่สำคัญ

เนื่องจาก หากรับรองไม่ครบทั้ง 500 คนโดยอ้างสาเหตุการถูกร้องเรียนทุจริตและอยู่ระหว่างการตรวจสอบ แล้วจำนวน ส.ส.ที่ขาดหายไปเป็นในซีกของพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลทั้งหมด เมื่อเข้าไปสู่กระบวนการเลือกนายกฯ ถามว่าจำนวนเสียงโหวตของทั้งสองสภาจะเกินกึ่งหนึ่งได้อย่างไร ขนาดว่ารับรองครบแล้วยังเป็นโจทย์ยากนี่ยิ่งจะยากเข้าไปใหญ่ นี่จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้คนส่วนหนึ่งไม่มั่นใจว่ากระบวนการเตรียมตั้งรัฐบาลของ 8 พรรคการเมืองมันจะเป็นไปด้วยความราบรื่น เรียบร้อย และไม่มีอะไรพลิกผันไปจากนี้

Back to top button