พาราสาวะถี

การแถลงข่าวหลังการประชุม 8 พรรคร่วมตั้งรัฐบาล คือการยืนยันไม่มีใครทิ้งใคร เป้าหมายยังคงเดิมสนับสนุนให้พิธาก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30


ภาพหวานที่ปรากฏในการแถลงข่าวหลังการประชุม 8 พรรคร่วมตั้งรัฐบาล ระหว่าง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี กับ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะเป็นการกอดคอ โอบไหล่ หรือภาพมือประสานเป็นรูปหัวใจคิมิโนโตะ คือการยืนยันไม่มีใครทิ้งใคร เป้าหมายยังคงเดิมสนับสนุนให้พิธาก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ให้สำเร็จ สัญญาณชัด ความขัดแย้งทั้งที่เป็นความเข้าใจผิดและมีคนเสี้ยมไม่ได้สร้างความร้าวฉานต่อทั้งสองพรรคแต่ประการใด

ปมปัญหาเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เพื่อไทยร้องขอ ฟังจากถ้อยแถลงของหมอชลน่าน แนวโน้มทิศทางจะเป็นไปในท่วงทำนองที่ว่าตำแหน่งนี้ไม่ได้เป็นโควตาของพรรคใดพรรคหนึ่ง แต่จะเป็นใครก็ได้ที่เป็นความเห็นร่วมกันของก้าวไกลและเพื่อไทย สิ่งที่ขีดเส้นใต้จากมุมของพรรคอันดับสองก็คือ ตำแหน่งประธานสภาต้องสนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาล ถ้าเช่นนั้นเป้าหมายต้องเป็นคนที่คุมเกมการประชุมในการโหวตเลือกนายกฯ ได้

ยิ่งได้เห็น ส.ว.บางรายโพสต์ภาพ ชวน หลีกภัย และอ้างว่าคนที่จะเป็นประมุขฝ่ายบริหารต้องมีคุณสมบัติแบบนี้ ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่า ความเห็นร่วมของสองพรรคแกนนำตั้งรัฐบาลจำเป็นต้องใช้บริการคนของเพื่อไทย ไม่ใช่ว่าตีกันคนรุ่นใหม่หรือคนที่มีศักยภาพในพรรคก้าวไกล แต่หากจะต้องใช้ความเก๋าทางการเมืองกำราบพวกลากตั้งก็ต้องเป็นคนของพรรคอันดับสองเท่านั้น เพราะทันเกมลิ่วล้อเผด็จการสืบทอดอำนาจ บางทีถึงขั้นรู้ไส้รู้พุงกันดีเสียด้วยซ้ำ

ต้องไม่ลืมเป็นอันขาดว่า การโหวตเลือกนายกฯ รอบนี้ หากพิธาสามารถฝ่าด่านปมถูกร้องเรื่องหุ้นไอทีวีไปได้ คะแนนเสียงจากที่ประชุมรัฐสภา 376 เสียงยังจะต้องลุ้น การลงคะแนนคงไม่จบในรอบเดียว ซึ่งมีแนวโน้มจะยืดเยื้อ และสุดท้ายมีความเป็นไปได้ว่าเกมอาจพลิกโดยใช้มติของที่ประชุมรัฐสภาให้พิจารณาแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคลำดับถัดไป อันหมายถึงเพื่อไทย ย่อมเกิดคำถามตามมาว่าแล้วมันต่างกันตรงไหน ในเมื่อเสียง ส.ส.ที่จะสนับสนุนก็ยังคงมี 313 เสียงเหมือนเดิม

หากสถานการณ์ไปถึงตรงนั้น มันจะไม่ใช่มีแค่ 8 พรรคการเมืองที่ร่วมลงนามในเอ็มโอยูกันเท่านั้น สูตรการเมืองที่เคยบอกไว้ หากยืนพื้นกันที่ 8 พรรคมีความเป็นไปได้ว่า อาจจะต้องดึงเอาพลังประชารัฐมาร่วม เพื่ออาศัยคอนเนคชั่นจากพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.ในการระดมเสียงหนุนจาก ส.ว.สายตรง ซึ่งจุดนี้มีความเป็นไปได้สูง ถามต่อไปว่าจะขัดกับหลักการที่ก้าวไกลได้ประกาศไปก่อนหน้านี้หรือไม่ ในเมื่อแคนดิเดตนายกฯ เปลี่ยนตัว ยอมให้เพื่อไทยขึ้นมาเป็นตัวชูโรงก็พอจะกล้อมแกล้มไปได้ว่าเป็นการตัดสินใจของพรรคแกนนำ ณ เวลานั้นไปแล้ว

ส่วนที่เกรงกันว่าเสียงของคนที่สนับสนุน 25 ล้านเสียงจะพอใจต่อท่วงทำนองที่เปลี่ยนไปนี้หรือไม่ หากยืนพื้นกันด้วย 8 พรรคฝ่ายประชาธิปไตย เพื่อบรรลุเป้าหมายนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลง ก็ต้องย้อนกลับไปยังคำพูดของแกนนำพรรคก้าวไกลหลายคนที่ว่า เมื่อถึงจุดที่ต้องตัดสินใจบางเรื่องก็จำเป็นต้องสงวนจุดต่าง เพื่อให้การขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายที่วางไว้นั้นประสบความสำเร็จ รายของพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.อาจจะต้องเล่นบทผู้เสียสละถอยไปเป็นผู้บัญชาการแล้วให้คนสนิททั้งหลายมาเป็นผู้เล่น

สูตรการเมืองเช่นนี้ ก็ต้องหันกลับไปดูภาพของคนการเมืองที่สนามฟุตบอลของสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ ในนัดสุดท้ายของฤดูกาลเมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา เศรษฐา ทวีสิน อนุทิน ชาญวีรกูล และ “บิ๊กแป๊ะ” พลตำรวจเอก จักรทิพย์ ชัยจินดา ถ้าตัดชื่อของสองคนแรกออกไป รายหลังถือเป็นบุคคลที่น่าจับตามอง เนื่องจากเป็นบุคคลที่ได้รับความไว้วางใจจากพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.เป็นอย่างดี นั่นจึงทำให้ชวนคิดกันต่อไปได้ว่า กรณีที่มีปัญหาในการโหวตเลือกพิธาจำเป็นต้องเปลี่ยนเกม เพลย์เซฟที่สุดก็คือดึงเอาพรรคสืบทอดอำนาจไปช่วย

กรณีของภูมิใจไทยหากจะเข้าร่วมซีกรัฐบาลได้ มีหนทางเดียวคือต้องไม่มีก้าวไกลอยู่ในกระบวนการจัดตั้งด้วย แต่ฉันทามติของประชาชนชัดขนาดนี้แล้ว หากเป็นเช่นนั้นบ้านเมืองคงจะมีปัญหา ดังนั้น การหาทางรอมชอมเพื่อที่จะผ่าทางตันเสียงหนุนจาก ส.ว.จึงต้องยอมถอยกันคนละก้าว อย่างไรก็ตาม ฝ่ายที่วางแผนเพื่อการสืบทอดอำนาจก็หาได้ยอมรับความพ่ายแพ้ที่เกิดขึ้นไม่ ยังคงมีความพยายามที่จะหาช่องเพื่อพลิกสถานการณ์กันให้ได้

การส่งซิกของเนติบริกรศรีธนญชัยว่าโหวตเลือกนายกฯ และตั้งรัฐบาลยังอีกยาวไกล มันก็เป็นภาพสะท้อนให้เห็นแล้วว่า มีกระบวนการที่กำลังดำเนินการเพื่อให้เกิดผลอย่างหนึ่งอย่างใด ทั้งจากทีมผู้ช่ำชองทางกฎหมาย การใช้กระบวนการสร้างข่าวสารเพื่อดิสเครดิตฝ่ายตรงข้าม และหวังกระแสปลุกมวลชนของตัวเองผ่าน ส.ว.ลากตั้ง และคนในเครือข่าย รวมไปถึงการใช้กลไกขององค์กรอิสระบางแห่งเพื่อที่จะทำลายฝ่ายที่ได้รับฉันทามติจากมหาชน

เพียงแต่ว่าการใช้กลไกขององค์กรอิสระหนนี้ จะถือเป็นการเล่นใหญ่เพราะต้องวัดกับพลังของประชาชน ที่ไม่มีใครคาดเดาได้ว่า หากเกิดกระแสลุกฮือแล้วบ้านเมืองจะเป็นอย่างไร แต่ที่แน่ ๆ ให้รอดูความเคลื่อนไหวของบางองค์กรที่จะมีข่าวใหญ่ในเร็ววันนี้ หากเป็นไปตามที่ทางฝ่ายประชาธิปไตยคาดหมายไว้ ก็เชื่อได้ว่า การยื้อเวลารับรองผลการเลือกตั้งทั้งที่ผ่านการหย่อนบัตรมานานเกือบ 20 วันแล้วนั้น ไม่น่าจะใช่เรื่องของความรัดกุม รอบคอบ เพื่อความโปร่งใสอย่างแน่นอน

การตัดสินใจที่จะใช้เล่ห์เหลี่ยมเพียงเพื่อให้คนคนเดียวได้ไปต่อ หนนี้ไม่ได้ง่ายและไม่ได้ทำให้คนที่อยู่ในองค์กรซึ่งพร้อมจะเป็นเครื่องมือนั้นตัดสินใจได้แบบไม่ลังเลเหมือนที่ผ่านมา ไม่ใช่แค่ผลการเลือกตั้งที่เป็นแรงกดดันสำคัญ หากแต่แนวร่วมภาคเอกชนที่เคยทนอยู่กับลุงและชาวคณะมากว่า 9 ปีแล้วนั้น หนนี้ไม่ยอมเล่นด้วย ต้องการให้มีการปรับเปลี่ยน และอยากจะให้ทุกอย่างขยับกันโดยเร็ว รวมไปถึงกลุ่มอีลิทของประเทศที่ทนไม่ได้แล้วเหมือนกัน นั่นจึงเป็นที่มาที่ทุกฝ่ายยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า เวลาของลุงหมดแล้วจริง ๆ

Back to top button