TTB เน้นทำกำไรมากกว่าปริมาณ

TTB รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2566 มีกำไรสุทธิ 4,295 ล้านบาท ขยายตัว 34.4% จากไตรมาส 1/2565


คุณค่าบริษัท

ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB โครงสร้างสินเชื่อ ณ สิ้นไตรมาส 1/2566 1.กลุ่มลูกค้าบรรษัทธุรกิจ 32% 2.กลุ่มลูกค้า SME 8% 3.กลุ่มลูกค้ารายย่อย-เพื่อที่อยู่อาศัย 24% 4.กลุ่มลูกค้ารายย่อย-เช่าซื้อ 30% 5.กลุ่มลูกค้ารายย่อย-สินเชื่อบุคคล 3% 6.กลุ่มลูกค้ารายย่อย-บัตรเครดิต 2% 7.กลุ่มลูกค้าอื่น ๆ 1% ภายใต้สินเชื่อเช่าซื้อ สามารถจำแนกต่อได้เป็น 1.รถยนต์ใหม่ 70% 2.รถยนต์ใช้แล้ว 15% 3.สินเชื่อรถแลกเงิน 15%

TTB รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2566 มีกำไรสุทธิ 4,295 ล้านบาท ขยายตัว 34.4% จากไตรมาส 1/2565 และเพิ่มขึ้น 11.6% จากไตรมาส 4/2565 ที่มีกำไรสุทธิ 3,847 ล้านบาท หนุนโดยการเติบโตของรายได้ การบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ และคุณภาพสินทรัพย์ที่บริหารจัดการได้ดี TTB มีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิปรับตัวดีขึ้น 8.8% จากไตรมาส 1/2565 แต่ลดลง 2.3%

เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2565 และส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อยู่ที่ 3.08% ในไตรมาส 1/2566 ปรับลดลงเล็กน้อย 0.02% จาก 3.10% ในไตรมาส 4/2565 แต่เพิ่มขึ้น 0.17% จาก 2.91% ในไตรมาส 1/2565 การลดลงของ NIM จากไตรมาสก่อนหน้ามีปัจจัยหลักมาจากแรงกดดันด้านต้นทุนเงินฝากจากการปรับคืนสู่ระดับปกติของเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ (FIDF) สุทธิด้วยอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ที่ปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้ TTB บริหารจัดการค่าใช้จ่ายที่ส่งผลให้อัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ (C/I) ปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ 43% ลดลงจาก 46% ในไตรมาส 4/2565 และ 44% ในไตรมาส 1/2565

ส่วนเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ตามงบการเงินรวม (ไม่รวมค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น) อยู่ที่ 1,358,000 ล้านบาท ลดลง 1.3% จากสิ้นปี 2565 ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการชำระคืนของสินเชื่อบรรษัทลูกค้าธุรกิจ โดยสินเชื่อบรรษัทลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ลดลง 3.2% จากสิ้นปี 2565 และกลุ่มลูกค้า SME ลดลง 1.8% จากสิ้นปี 2565 ซึ่งเป็นไปตามกลยุทธ์ของธนาคารด้านสินเชื่อรายย่อยลดลงเล็กน้อย 0.2% จากสิ้นปี 2565 จากการชะลอตัวของสินเชื่อหลักอย่างสินเชื่อเช่าซื้อและสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย

TTB ปรับใช้แบบจำลอง ECL ที่มีความเข้มงวดขึ้น และบริหารจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตผ่านการตั้ง Management Overlay เพื่อให้มั่นใจว่าธนาคารมีกันชนความเสี่ยงที่แข็งแรงเพียงพอรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ TTB ตั้งสำรองฯ และ Management Overlay ไตรมาส 1/2566 รวมทั้งสิ้น 4,276 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นอัตราส่วนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อ (credit cost) ที่ 1.27% ซึ่งลดลง 11.0% จากไตรมาส 4/2565 และลดลง 11.1% จากไตรมาส 1/2565

เป็นผลมาจากการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างรอบคอบและความสามารถในการชำระคืนของลูกค้าที่ดี อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ หรือ NPL Ratio อยู่ที่ 2.69% ในไตรมาส 1/2566 ซึ่งอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ดี เมื่อเทียบกับ 2.73% ณ สิ้นปี 2565 และสิ้นไตรมาส 1/2565 ด้านอัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพหรือ NPL Coverage ratio เพิ่มสู่ระดับ 140% ในไตรมาส 1/2566 จาก 138% ในไตรมาส 4/2565 ณ สิ้นไตรมาส 1/2566 ซึ่งเป็นระดับที่แข็งแกร่ง

บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) ปรับเพิ่มคาดการณ์กำไรต่อหุ้นปี 2566-2567 ขึ้น 9-11% สะท้อน NIM ที่สูงขึ้น และต้นทุนสินเชื่อ (credit cost) ที่ลดลง ด้วยกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นทำกำไรมากกว่าการเติบโตของสินเชื่อ จึงมองว่า ROE น่าจะเพิ่มขึ้นจากคุณภาพสินเชื่อที่ดีขึ้นและช่องทางในการลดเงินทุนส่วนเกิน ทั้งนี้ TTB ได้เปลี่ยนการจ่ายเงินปันผลเป็นปีละ 2 ครั้งจากปีละครั้ง และเพิ่มอัตราการจ่ายเงินปันผลเป็น 50% ในปี 2565 จาก 36% โดยเฉลี่ยในช่วงปี 2560-2564 เนื่องจาก TTB ตั้งเป้าหมาย ROE ที่ 10% ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า จึงมองเห็นความเป็นไปได้สูงที่อัตราการจ่ายปันผลจะสูงขึ้น และมีการซื้อคืนหุ้น

สำหรับการประเมินมูลค่า (Valuation) หุ้น TTB ราคาปัจจุบัน (ราคาปิดวันที่ 30 พ.ค. 2566 ที่ 1.60 บาท) ซื้อขายกันที่ P/E 10.12 เท่า สูงกว่า P/E กลุ่มธนาคาร ที่ 8.65 เท่า ส่วนค่า P/BV ของหุ้น TTB อยู่ที่ 0.69 เท่า สูงกว่า P/BV กลุ่มธนาคาร ที่ 0.68 เท่า อยู่เพียงเล็กน้อย

Back to top button