ไตรมาส 2 กำไรบจ. 2 แสนล้าน

มองในแง่ยอดขายของบจ.ไทย ในไตรมาส 1 ปี 2566 ที่เติบโตดี เพราะรับผลบวกจากการเปิดประเทศ ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง


เส้นทางนักลงทุน

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้เปิดเผยข้อมูลผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ประจำปี 2566 ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ทั้งในตลท.และ mai จำนวน 786 บริษัท คิดเป็น 99.5% จากทั้งหมด 790 บริษัท ซึ่งไม่รวมกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน มียอดขาย 4,200,891 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.6% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

แต่ถ้าพิจารณาในด้านกำไรจากการดำเนินงานหลัก (Core profit) ที่ 410,246 ล้านบาท และกำไรสุทธิที่ 261,116 ล้านบาท พบว่าลดลง 17.3% และ 6.2% ตามลำดับ อันมีสาเหตุมาจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น 7.3% มาเป็น 3,320,652 ล้านบาท

ถ้ามองในแง่ยอดขายของบจ.ไทย ในไตรมาส 1 ปี 2566 ที่เติบโตดี เพราะรับผลบวกจากการเปิดประเทศ ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง การกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อธุรกิจอาหาร การบริการ การขนส่ง การท่องเที่ยว และการโทรคมนาคม

เมื่อเจาะเข้าไปในกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ พบว่ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่มมียอดขาย 344,838 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19% จากงวดเดียวกันปีก่อน ขณะที่กำไรจากการดำเนินงานเติบโต 11.6% มาที่ 14,252 ล้านบาท แต่กำไรสุทธิลดลง 24.8% เหลือ 6,317 ล้านบาท

ส่วนในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการ โดยภาพรวมทั้งยอดขายและกำไรสุทธิเติบโตขึ้นทั้งกลุ่ม ยกเว้นหมวดการแพทย์ ที่ยอดขายตกลง 14.2% เหลือ 51,352 ล้านบาท กำไรจากการดำเนินงานตกลง 44.1% เหลือ 8,436 ล้านบาท และกำไรสุทธิตกลง 42.2% ลงมาที่ 6,936 ล้านบาท

ที่น่าสนใจก็คือ กลุ่มพาณิชย์ มียอดขายเติบโต 9.5% เป็น 519,131 ล้านบาท กำไรจากการดำเนินงานเติบโตไม่มาก เพียง 1.8% เป็น 11,911 ล้านบาท แต่กำไรสุทธิเติบโตถึง 15.1% สู่ระดับ 16,258 ล้านบาท

สื่อและสิ่งพิมพ์ มียอดขาย 13,357 ล้านบาท เติบโตดี 15% ซึ่งเป็นสัดส่วนใกล้เคียงกับกำไรจากการดำเนินงานที่ 14.1% มาที่ 832 ล้านบาท กำไรสุทธิทั้งกลุ่มดีขึ้น 15.9% มีมูลค่ารวม 895 ล้านบาท

บริการเฉพาะกิจยอดขายเพิ่มขึ้นถึง 102.3% รวมทั้งกลุ่มเป็น 3,154 ล้านบาท กำไรจากการดำเนินงานเติบโต 27.7% เป็น 215 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 205 ล้านบาท เติบโต 86.8%

ท่องเที่ยวและสันทนาการพุ่งขึ้นในทุกมิติ ทั้งยอดขาย กำไรจากการดำเนินงาน และกำไรสุทธิ ในระดับ 75.8% 460.8% และ 183% ตามลำดับ หรือคิดเป็นมูลค่ารวม 16,579 ล้านบาท, 2,450 ล้านบาท และ 1,154 ล้านบาท ตามลำดับ เช่นเดียวกับขนส่ง ที่มียอดขาย 57,786 ล้านบาท เติบโต 25.5% มีกำไรจากการดำเนินงาน 15,894 ล้านบาท เติบโต 40.2% และมีกำไรสุทธิ 5,715 ล้านบาท เติบโต 22.2%

ด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยี พบว่าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มีพัฒนาการของทั้งยอดขายที่ 94,614 ล้านบาท ฟื้นตัว 11.1% และมีกำไรสุทธิ 4,905 ล้านบาท ดีขึ้น 10.3% ไม่แตกต่างจากกลุ่มเทคโนโลยีและการสื่อสาร แม้ยอดขายเพิ่มขึ้นเพียง 1% เป็น 147,746 ล้านบาท แต่กำไรสุทธิเติบโตถึง 20.3% มาที่ 11,997 ล้านบาท

หากมองไปในระยะข้างหน้า แนวโน้มกำไรของบจ.ไทยในไตรมาส 2 ปี 2566 จะเป็นอย่างไรเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2565 และงวดไตรมาส 1 ปี 2566

“กิจพณ ไพรไพศาลกิจ” ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูโอบี เคย์เฮียน ประเมินว่า บจ.ใน 5 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย 1.กลุ่มท่องเที่ยว 2.กลุ่มค้าปลีก 3.กลุ่มธนาคารพาณิชย์ 4.กลุ่มโรงไฟฟ้าและโรงกลั่น และ 5.กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม จะมีเพียง 2 กลุ่มเท่านั้นที่ยังมีแนวโน้มดี โดยกลุ่มท่องเที่ยว เนื่องจากไตรมาส 2 ถือเป็นช่วงโลว์ซีซัน ทำให้ผลการดำเนินงานจะช้าลงเมื่อเทียบกับช่วงไฮซีซัน ส่วนกลุ่มธนาคารพาณิชย์ แม้แนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นจะช่วยหนุนกลุ่มนี้ แต่คาดว่าผลประกอบการจะสู้ไตรมาส 1 ที่ผ่านมาไม่ได้

ขณะที่ กลุ่มโรงไฟฟ้าและโรงกลั่น ถึงจะเป็นช่วงไฮซีซัน แต่มีปัจจัยลบที่เข้ามากระทบที่อาจกระทบต่อผลประกอบการได้ ด้านโรงกลั่น ค่าการกลั่นในปีก่อนปรับตัวสูงขึ้นมาก จากภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน และจากกรณีที่ราคาก๊าซธรรมชาติมีราคาแพง ทำให้ในปีที่ผ่านมามีการนำน้ำมันดีเซลมาผลิตไฟฟ้า แต่ในปีนี้ไม่มีปรากฏการณ์ดังกล่าว สำหรับกลุ่มที่คาดว่าจะยังคงมีผลประกอบการไตรมาส 2 ที่ดีต่อเนื่อง คือ กลุ่มค้าปลีก และกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม เนื่องจากยอดขายที่ดินและยอดจำหน่ายไฟฟ้าในเขตนิคมฟื้นตัว

“มงคล พ่วงเภตรา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์ลงทุนหลักทรัพย์ บล.ดาโอ (ประเทศไทย) ระบุว่า ตัวแปรทั้งบวกและลบในไตรมาส 1 จะยังคงถูกส่งผ่านมาในไตรมาส 2 ปี 2566 ทั้งนี้ปัจจัยบวก เช่น การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว ที่มียอดนักท่องเที่ยวสะสม ณ สิ้นไตรมาส 1 ที่ 6.46 ล้านคน ในเดือน เม.ย. ได้เพิ่มเป็น 8.46 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

นอกจากนี้ คาดว่าสินเชื่อของภาคธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงิน มีโอกาสเติบโตเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Margin : NIM) ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จะเริ่มลดลง

แต่ในไตรมาสนี้มีปัจจัยลบคือต้นทุนพลังงานที่ทรงตัวในระดับสูง จึงกดดันต้นทุนการผลิตและการบริการ ตลอดจนภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว จึงกดดันภาคการส่งออก รวมทั้งคาดว่ากำไรพิเศษของบจ.จะลดลงมากเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 1 ที่ผ่านมา จึงคาดว่าในไตรมาส 2 ปี 2566 บจ.ไทยจะรายงานตัวเลขผลกำไรสุทธิประมาณ 2.0-2.3 แสนล้านบาท บวกลบ

เหลืออีกเพียง 1 เดือน จะสิ้นสุดไตรมาส 2 แล้ว จากนั้นมาลุ้นงบบจ.กันต่อไป

Back to top button