พาราสาวะถี
เป็นที่จับตากันอยู่ไม่น้อยจะเป็นการเปิดทางถอยหรือการเตรียมรุกต่อ กับปมถือหุ้นไอทีวีของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หลังจากที่ประชุม กกต.ทั้ง 6 คน
เป็นที่จับตากันอยู่ไม่น้อยจะเป็นการเปิดทางถอยหรือการเตรียมรุกต่อ กับปมถือหุ้นไอทีวีของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หลังจากที่ประชุม กกต.ทั้ง 6 คนมีมติให้สำนักงาน กกต.ไปทำเรื่องเสนอมาใหม่ เพราะที่ทำมานั้นไม่ชัดเจนในข้อกฎหมาย ไม่ชัดเจนในข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน รวมทั้งข้อกล่าวหาไม่ชัดเจน ดังนั้น จึงไม่สามารถที่จะมีมติให้แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนไต่สวนเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยตามที่ได้มีการเสนอมาให้พิจารณาได้
ย้อนกลับไปดูสิ่งที่สำนักงาน กกต.ชงให้ กกต.พิจารณาสำหรับปมพิธาถือหุ้นไอทีวีคือ มีข้อกล่าวหาว่า รู้อยู่แล้วว่าขาดคุณสมบัติในการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แต่ยังฝ่าฝืนกฎหมายสมัครรับเลือกตั้ง กกต.ทั้ง 6 คนก็คงจะงงว่าแล้วจะตีความกันแบบไหน และอาจจะเป็นงานง่ายสำหรับผู้ถูกกล่าวหาในการแก้ต่าง ในเมื่อเขามั่นใจว่าไม่ได้ทำผิด และเชื่อว่าไอทีวีไม่ได้มีสถานะความเป็นสื่อแล้ว จึงจะรู้ว่าผิดแล้วมายื่นสมัครได้อย่างไร
ตรงนี้อาจดูง่ายเกินไป และความจริงก็ขึ้นอยู่กับการตีความนำไปสู่การวินิจฉัยของ กกต. แต่การตั้งการ์ดหลวมแบบนี้แล้วจะเดินไปชกคู่ต่อสู้ ดีไม่ดีก็จะเป็นฝ่ายถูกต่อยหน้าหงาย โดนน็อคเอาง่าย ๆ มันจึงต้องรัดกุม รอบคอบ สามารถที่จะตอบทุกข้อสงสัยของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนที่เลือกพรรคก้าวไกลมากว่า 14 ล้านเสียง ประเด็นน่าสนใจอีกประการต่อการตีกลับครั้งนี้ของ กกต.ก็คือ หากยืนตามที่ฝ่ายสำนักงานเสนอมา หมายความว่า ทั้งหมดจะต้องพร้อมรับผลที่จะตามมา
เมื่อกล่าวหาว่า รู้อยู่แล้วว่าขาดคุณสมบัติในการสมัครรับเลือกตั้ง มันก็จะวกกลับไปยังกระบวนการตรวจสอบคุณสมบัติของ กกต. หากยืนยันว่าพิธามีความผิดก็หมายความว่ากระบวนการตรวจสอบและรับรองคุณสมบัติที่ กกต.ดำเนินการไปนั้นก็ผิดไปด้วย เมื่อมีการต่อสู้กันในกระบวนการยุติธรรมแน่นอนว่า ฝ่ายที่เสียหายจะใช้ช่องทางของศาลปกติเหมือนที่ สุรพล เกียรติไชยากร อดีตผู้สมัคร ส.ส.เชียงใหม่เพื่อไทยที่ได้รับใบส้มเมื่อการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว สู้คดีจนชนะมาถึงสองศาลแล้วนั่นเอง
ดังนั้น การเลือกที่จะดึงจังหวะเสียเวลานิดหน่อยจึงไม่น่าจะเสียหายอะไร หรืออาจจะขัดใจฝ่ายเชียร์ขบวนการสืบทอดอำนาจก็คงไม่มาก อย่างไรก็ตาม มีการมองไปอีกมุมว่า บางทีที่ กกต.สั่งให้สำนักงาน กกต.ไปตั้งเรื่องของพิธาขึ้นมาใหม่ อาจจะเป็นเพราะขณะนี้ยังไม่มีการรับรองผลการเลือกตั้ง เท่ากับว่าพิธายังไม่ได้เป็น ส.ส. ถ้าชี้ว่าผิดแล้วต้องส่งเรื่องไปดำเนินการในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของนักการเมือง ไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญ
หากเป็นเช่นนั้นโอกาสที่พิธาจะรอดย่อมมีสูง เพราะศาลฎีกาเคยมีคำพิพากษาที่เป็นบรรทัดฐานต่อคดีถือหุ้นสื่อไว้แล้วนั่นก็คือ “ถ้าถือหุ้นน้อยไม่มีผลต่อการบริหารสื่อให้คุณให้โทษถือว่าไม่มีความผิด” ขณะที่การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่มีการยกเอาเคสของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่มาเป็นแนวทางที่ให้ต้องลุ้นในส่วนของพิธาด้วยนั้น ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดการเดินซ้ำรอยกันได้ แต่ถ้าลองสืบค้นข้อมูลการพิจารณาเรื่องหุ้นสื่อของศาลรัฐธรรมนูญก็จะเห็นความต่างกับคดีของธนาธร
เพราะหลังจากที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาที่เป็นบรรทัดฐานนี้แล้ว ในการพิจารณาและตัดสินคดีถือหุ้นสื่อของศาลรัฐธรรมนูญที่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลสืบทอดอำนาจและ ส.ว.ลากตั้งถูกยื่นร้องกว่า 100 รายก็พบว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยโดยถือบรรทัดฐานตามอย่างศาลฎีกาทำให้คนเหล่านั้นรอดทุกราย แล้วกรณีของพิธาจะมีข้อยกเว้นโดยใช้แนวทางเดียวกับธนาธรมันก็ไม่น่าจะถูกต้อง ไฮไลต์คดีถือหุ้นสื่อของพิธาหากมีการตีความว่า ไอทีวียังเป็นสื่ออยู่ คงต้องถามหาสำเหนียกกันว่า แล้วไอทีวีเป็นสื่อประเภทไหน ชี้นำทางการเมืองได้หรือไม่ ตรรกะแค่นี้แทบจะไม่ต้องตีความอะไรกันแล้ว
ยังมีปมที่พิธาได้ชี้แจงต่อการโอนหุ้นไอทีวีให้ทายาทอื่นถือครองแทน โดยระบุว่าเพื่อป้องกันการฟื้นคืนชีพของไอทีวี สร้างปัญหาในอนาคต อาจดูเหมือนเป็นการเตรียมตัวเพื่อไม่ให้กระทบต่อการโหวตเลือกนายกฯ ที่จะไม่ต้องมีใครมายื่นตีความในประเด็นนี้อีก แต่กรณีนี้ไม่ได้ไปช่วยแก้ไขอดีตคือการถือหุ้นดังกล่าวก่อนวันสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าทางฝั่งของพรรคก้าวไกลคงเตรียมการต่อสู้ในเรื่องนี้อย่างเต็มที่และมีความมั่นใจว่าจะสามารถผ่านพ้นไปได้
ปัญหาสำหรับพิธาและก้าวไกลเวลานี้จึงไม่ใช่ว่าจะติดกับดักหุ้นไอทีวีหรือไม่ แต่อยู่ที่การรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.ของ กกต. เพราะถ้าจำนวนที่ปูดตัวเลขกันออกมาว่าจะมี ส.ส.โดนแขวนกว่า 20 ที่นั่ง เป็น ส.ส.ของก้าวไกลทั้งหมดก็จะส่งผลต่อจำนวนเสียงของ 8 พรรคร่วมตั้งรัฐบาล โดยจะมีผลให้เพื่อไทยกลายเป็นพรรคอันดับ 1 แทน ย่อมมีข้อถกเถียงกันเรื่องของแคนดิเดตนายกฯ ว่าควรจะเป็นพรรคไหนที่ได้รับการเสนอชื่อ หากยืนยันเสนอชื่อพิธาก็จะตามมาด้วยเสียงโหวตหนุนจาก ส.ว.ลากตั้ง
เรียกได้ว่าเป็นปัญหาสองชั้นที่ก้าวไกลต้องหาทางแก้โจทย์สำคัญนี้ให้ได้ ขณะเดียวกัน เมื่อตัวเลข ส.ส.มาตามนัดตามที่คุณแหล่งข่าวรายงาน เพื่อไทยเป็นแกนหลักของ 8 พรรคร่วม เพื่อแก้ปัญหาเสียงโหวตจากที่ประชุมรัฐสภาอาจจะต้องมีการดึงบางพรรคการเมืองมาเข้าร่วมเพื่อหวังผลไปถึงมือหนุนจาก ส.ว.ลากตั้ง ถ้าสถานการณ์พลิกผันขนาดนั้น พิธาอาจต้องตัดสินใจนำก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้านร่วมกับพรรคของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ
มองว่าเป็นความพ่ายแพ้ของฝ่ายประชาธิปไตยหรือไม่ ไม่ใช่ เพราะขวากหนามสำคัญต่อกระบวนการตั้งรัฐบาลก็คือพวกลากตั้งที่เป็นผลผลิตจากอำนาจเผด็จการ เบื้องต้นอาจจำเป็นต้องตั้งรัฐบาลให้ได้ไปก่อน ไม่ว่าจะสูตรใดก็ตาม แต่สามารถปิดสวิตช์ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ส่งให้กลับไปเลี้ยงลูกดูแลเมียที่บ้านได้ ถือเป็นความสำเร็จขั้นหนึ่ง เมื่อถึงจังหวะที่ ส.ว.ลากตั้งไม่มีอำนาจร่วมโหวตเลือกนายกฯ แล้ว กระบวนการจัดทัพของรัฐบาลก็สามารถที่จะพลิกแพลงเปลี่ยนแปลงกันได้อีกกระทอก การศึกมิหน่ายเล่ห์ฉันใดการเมืองก็ใช่ว่าจะเชื่อในสิ่งที่เห็นและเป็นไปได้ฉันนั้นเหมือนกัน