พาราสาวะถี
หวยออกหน้านี้กรณี พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ถือหุ้นไอทีวี ไม่ใช่เรื่องแปลกและย่อมจะเข้าเค้ากับประเด็นที่เคยบอกไปก่อนหน้า
หวยออกหน้านี้กรณี พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ถือหุ้นไอทีวี ไม่ใช่เรื่องแปลกและย่อมจะเข้าเค้ากับประเด็นที่เคยบอกไปก่อนหน้า ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม การก้าวขึ้นสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของหัวหน้าพรรคก้าวไกลไม่มีทางที่จะราบรื่น เรียบร้อย แน่นอน มากไปกว่านั้นปมของการถือหุ้นในฐานะผู้จัดการมรดกจะมีการใช้ทุกช่องทางของข้อกฎหมายเพื่อที่จะเอาผิดให้ได้ ดังนั้น มติของ 6 กกต.ที่ออกมาจึงถูกมองในมุมว่าเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการคนอยากอยู่ยาว
การตีตก 3 คำร้องของนักร้องกับข้อกล่าวหาที่ว่า มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ในการรับสมัครเลือกตั้งด้วยเหตุการถือหุ้นไอทีวีนั้นไม่มีอะไรซับซ้อน ในเมื่อข้อกฎหมายระบุไว้ชัดจะยื่นร้องกรณีนี้ได้ต้องดำเนินการก่อน 7 วันที่จะมีการเลือกตั้ง แต่นักร้องไปยื่นกันเอาสองวันก่อนหย่อนบัตรมันจึงผิดเงื่อนไข สิ่งที่นักกฎหมายและคอการเมืองวิพากษ์วิจารณ์กันต่อหลังเห็นมติต่อมาคือ การที่สั่งให้ไต่สวนว่าพิธาเป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งและรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
ทันทีที่ กกต.มีมติ อดีต กกต.อย่าง สมชัย ศรีสุทธิยากร ก็โพสต์ข้อความให้ความเห็นทันควันว่า “หนักกว่าเดิม” เพราะการที่ กกต.ปัดตกคำร้องของนักร้องทั้ง 3 คำร้องแล้วเดินหน้าเองด้วยข้อกล่าวหาอันเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรา 42 (3) และมาตรา 151 ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.นั้น หากศาลชี้ว่ามีความผิดโทษดังกล่าวในส่วนของคดีจำคุกและปรับถือว่าเป็นโทษทางอาญาทั่วไป แต่โทษทางการเมืองถือว่าหนักหนาสาหัส เพราะจะถูกตัดสิทธิการเมืองถึง 20 ปี
อย่างไรก็ดี การดำเนินการด้วยข้อกล่าวหาเป็นความผิดทางอาญานั้น กกต.จะต้องแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เรื่องถูกนำเข้าสู่กระบวนการโดยมีอัยการเป็นผู้พิจารณาสั่งฟ้อง และจบกันที่ศาลยุติธรรมไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญอันเป็นองค์กรอิสระ ในมุมนี้อาจจะดีในแง่ของฝ่ายสู้คดีเพราะมั่นใจว่าการถือครองหุ้นดังกล่าวนั้นไม่ผิดกฎหมาย เนื่องจากศาลฎีกาเคยมีคำพิพากษาเป็นบรรทัดฐานไว้แล้ว แต่กระบวนการพิจารณาคดีจะต้องใช้เวลานาน
ปัญหาก็คือ เมื่อพิธาถูกดำเนินคดีอาญาแบบนี้ จะเป็นข้ออ้างเพื่อให้ ส.ว.ลากตั้งใช้เป็นเหตุในการปฏิเสธยกมือโหวตให้หัวหน้าพรรคก้าวไกลเป็นนายกฯ หรือไม่ ตรงนี้แทบจะไม่ต้องรอคำตอบเพราะรู้กันอยู่แล้ว แต่สมชัยก็ได้ดักคอพวก ส.ว.ลากตั้งไว้ด้วยว่า หากมีการโหวตเลือกนายกฯ ในจังหวะที่ กกต.แจ้งความดำเนินคดีกับพิธานั้น จะใช้ประเด็นนี้มาเป็นส่วนประกอบในการพิจารณาลงมติไม่ได้ เพราะ ตามหลักผู้ถูกกล่าวหาถือเป็นผู้บริสุทธิ์ Presumption of Innocence
ส่วนประเด็นที่ว่า หากเห็นว่ากระบวนการพิจารณาในคดีอาญาล่าช้า หลังจากที่ กกต.ได้ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งไปแล้ว อาจมี ส.ส. 50 คน หรือ ส.ว. 25 คนเข้าชื่อ หรือ กกต.สามารถยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาตามมาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพของสมาชิกคนใดคนหนึ่งแห่งสภานั้นสิ้นสุดลงตามมาตรา 101 (3) (5) (6) (7) (8) (9) (10) หรือ (12) หรือมาตรา 111 (3) (4) (5) หรือ (7) แล้วแต่กรณี ซึ่งกรณีนี้คาดหมายกันว่าไม่น่าจะมีการดำเนินการ
ด้วยเหตุผลถ้าฟังจาก กกต.ก็น่าจะชัดเจน หากจะยื่นร้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ต้องมีพยานหลักฐานและข้อเท็จจริง ถามว่าแล้ว ส.ส.หรือ ส.ว.ที่จะไปยื่นร้องมั่นใจต่อพยาน หลักฐาน และข้อเท็จจริงที่มีหรือไม่ เหตุผลสำคัญอีกประการในเมื่อเลือกที่จะเอาผิดทางอาญาผ่านศาลยุติธรรมแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นที่ กกต.จะต้องไปใช้สองช่องทางคู่ขนานกัน เพราะหากผลการตัดสินออกมาไม่ไปในทิศทางเดียวกัน ย่อมจะเกิดคำถามตัวโตต่อกระบวนการยุติธรรม ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อทุกฝ่าย
ขณะเดียวกัน สมชัยยังมองโลกในแง่ดีด้วยว่าการดำเนินคดีพิธาตามกฎหมายอาญามาตรา 151 อาจจบด้วย กกต.เห็นว่า ไม่มีมูลตามความปรากฏได้ หรือในกรณี กกต.สั่งดำเนินคดีก็ยังต้องใช้เวลานานนับปีกว่าจะไปถึงขั้นศาลมีคำพิพากษา และอาจสั่งไม่ฟ้องในขั้นอัยการ หรือยกฟ้องในขั้นศาลก็ได้ หากมองในบริบททั่วไปคดีเช่นนี้จะใช้เวลานาน เผลอ ๆ หมดสมัยสภาชุดนี้ไปแล้วยังไม่รู้ว่ากระบวนการพิจารณาจะแล้วเสร็จหรือไม่ แต่ในมิติทางการเมืองพิธาและพรรคก้าวไกลคงคิดเช่นนั้นไม่ได้
ไม่ว่าเส้นทางของคดีและชะตากรรมของพิธาจะถูกลากให้เดินไปอย่างไร น่าขีดเส้นใต้ต่อความเห็นของสมชัยที่ว่า กระบวนท่าของ กกต.รอบนี้หากเป็นสงครามก็ถือว่าได้อาวุธหนักต่าง ๆ กำลังลำเลียงสู่สมรภูมิสนามรบ และไม่จบแค่ปืนต่อสู้อากาศยาน 151 แต่แพ้ชนะกลับอยู่ที่ฝ่ายเสนาธิการผู้วางแผน จะว่าไปการตีความหรือกระบวนการพิจารณาทางข้อกฎหมาย หากยึดตามหลักสากลก็แทบจะไม่ต้องคาดเดาผลลัพธ์ที่จะออกมา ทว่าในประเทศไทยไสยศาสตร์ทางกฎหมายถูกนำมาใช้จนสังคมเกิดความกังขา และทำให้คำว่าหลักนิติธรรมมีปัญหา
หากยกเอาเฉพาะห้วงเวลาที่เผด็จการ คสช.ปกครองประเทศจนถึงรัฐบาลสืบทอดอำนาจก็เห็นได้ชัดว่าหลักการกฎหมายตรงนี้ผิดเพี้ยนไปอย่างมาก ปากของผู้นำก็อ้างแต่ทุกคนต้องเคารพกฎหมาย แต่ในความเป็นจริงฝ่ายถือครองอำนาจต่างหากที่ไม่ได้เป็นไปตามนั้น เพราะเมื่อยึดหลักนิติธรรมอย่างเคร่งครัด มันจะไม่เกิดกระแสที่ถูกมองว่ามีการเลือกใช้กฎหมายกับบางคน บางกลุ่ม ขณะที่ฝ่ายกุมอำนาจแทบจะเป็นผู้อยู่เหนือกฎหมาย เหมือนกรณีที่ไม่ได้เป็นรัฐบาลต่อเนื่องมาจากยุค คสช. แต่กลับไม่ยอมยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.
ไม่ต้องพูดถึงผลงานการบริหารโดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง ที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจสอบตก บทพิสูจน์ชัดจากผลการเลือกตั้ง แต่ในแง่ของการปกครองถ้ายึดตามหลักนิติธรรมที่ว่าการปกครองที่ดีนั้นควรจะต้องให้กฎหมายอยู่สูงสุด และทุก ๆ คนต้องมีสถานะที่เสมอภาค และเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย แม้ตามหลักการของการแบ่งแยกอำนาจ ผู้ปกครองจะมีอำนาจอันชอบธรรมในการออกและบังคับใช้กฎหมาย แต่ตัวผู้ปกครอง หรือรัฐเองก็จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายที่พวกเขาออก และบังคับใช้ด้วยเฉกเช่นเดียวกันกับพลเมืองคนอื่น ๆ ในรัฐ ถามว่าใครมองเห็นรัฐบาลเผด็จการสืบทอดอำนาจยึดตามแนวนี้หรือไม่