KTC ขี่บิ๊กไบค์.!
ก็รู้ ๆ กันอยู่ว่า KTC ลูกในไส้ของแบงก์สีฟ้า ธนาคารกรุงไทย หรือ KTB แจ้งเกิดจากสินเชื่อบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และสินเชื่อส่วนบุคคล
ก็รู้ ๆ กันอยู่ว่าบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC ลูกในไส้ของแบงก์สีฟ้า ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB แจ้งเกิดจากสินเชื่อบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และสินเชื่อส่วนบุคคล จากนั้นก็เติมสินเชื่อลีสซิ่งเข้ามา ด้วยการไปเซ้งต่อบริษัท กรุงไทยธุรกิจลีสซิ่ง จำกัด มาจากบริษัทแม่บังเกิดเหล้า KTB…รวมทั้งแจ้งเกิด “KTC พี่เบิ้ม” หรือสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ…
แต่การมาของ “KTC พี่เบิ้ม” มาทีหลัง ซึ่งถ้าลองสแกนในตลาดนี้ จะเห็นว่ามีคู่แข่งเต็มไปหมด ทั้งเจ้าใหญ่ที่ครองตลาดอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นบริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC, บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD, บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR, บริษัท อะมานะฮ์ ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ AMANAH, บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER, บริษัท ศักดิ์สยามลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SAK
ไม่นับรวมผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยอีกนะเนี่ย…ทำให้น้องใหม่อย่าง “KTC พี่เบิ้ม” ก็เหนื่อยที่จะขยับขยาย เรียกว่าต้องฝ่าด่านมรณะกันเลยทีเดียว
ทำให้เมื่อถึงจุดหนึ่ง KTC ต้องแก้เกมด้วยการฉีกมาขี่บิ๊กไบค์ อุ๊ย…ทำสินเชื่อจำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ หรือบิ๊กไบค์ (ขนาดเครื่องยนต์ 400 ซีซี.ขึ้นไป) ซึ่งเป็นตลาดระดับกลาง-บน เป็นเป้าหมายใหม่แทน…
การเปิดเกมครั้งนี้ KTC จะเน้นเจาะกลุ่มเจ้าของรถบิ๊กไบค์ 5 แบรนด์ดัง ที่มีอายุไม่เกิน 10 ปี ได้แก่ ฮอนด้า, คาวาซากิ, ซูซุกิ, ยามาฮ่า และเวสป้า โดยจะปล่อยกู้วงเงินสูงสุด 700,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษเริ่มต้นที่ 21.5% สำหรับรถ 400 ซีซี.ขึ้นไป และอัตราดอกเบี้ย 24% สำหรับรถ 250-399 ซีซี. พิเศษ แถมฟรีประกันอุบัติเหตุจากกรุงไทยพาณิชประกันภัย ตั้งแต่วันนี้-31 ธ.ค. 2566
ส่วนคำถามที่ว่า ตลาดบิ๊กไบค์น่าสนใจขนาดไหน…คำตอบน่าจะอยู่ที่จำนวนยอดขายรถบิ๊กไบค์ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุก ๆ ปี โอเค…แม้ในช่วงหลัง ๆ มานี้จะชะลอตัวไปบ้าง โดยในปี 2565 มียอดจดทะเบียนอยู่ที่ 17,467 คัน ลดลงจากปี 2564 ซึ่งมียอดจดทะเบียนทั้งหมด 19,037 คัน
แต่อย่าลืมว่า ตลาดนี้ยังไม่มีใครเป็นเจ้าตลาดอย่างชัดเจนนะ ที่เห็นชิมลางทำกันอยู่ก็มีไม่กี่เจ้า อาทิ สินเชื่อทะเบียนรถบิ๊กไบค์ของ “สมหวัง เงินสั่งได้”, “ทิสโก้ ออโต้แคช” สินเชื่อทะเบียนรถบิ๊กไบค์ของบริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO และ KK Big Bike ของธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP เป็นต้น ก็เป็นโอกาสของ KTC ที่จะมาร่วมคาราวานขี่บิ๊กไบค์ด้วยกัน..!!
งานนี้คงต้องวัดใจว่า ลีลาการขี่บิ๊กไบค์ของ KTC ซึ่งมาทีหลัง จะมัดใจเจ้าของรถบิ๊กไบค์ได้มากน้อยแค่ไหน..?
แต่มีอีกมุมที่น่าคิด ด้วยบิ๊กไบค์มีราคาค่อนข้างสูง เริ่มต้นที่หลักแสนบาท บางรุ่นทะลุหลักล้านบาทก็มี…การปล่อยสินเชื่อโดยเอาทะเบียนมาเป็นหลักประกัน วงเงินก็จะสูงกว่าการจำนำทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์ทั่ว ๆ ไป หากคุม NPL ได้ ก็โอเค…แต่หากคุมไม่ได้ NPL ก็จะพุ่งปรี๊ดดดกว่าเท่าตัว เป็นอีกจุดที่ KTC ต้องระวัง เดี๋ยวจะกลายเป็นดาบสองคมเอาได้..!? (อย่าโลกสวยว่า คนมีกะตังค์จะไม่เบี้ยวหนี้นะ..คนรวยหัวหมอก็มีเยอะนะจิบอกให้)
เอาเถอะ อย่างน้อย ๆ KTC ก็ได้เปิดตลาดใหม่ที่จะมาช่วยหนุนให้สินเชื่อ KTC พี่เบิ้ม โตเข้าเป้าที่ 9,000 ล้านบาท ได้สักที (ล่ะมั้ง)..?
หลังจากปีที่แล้วพลาดเป้ามาแล้ว..!??
…อิ อิ อิ…