มายาของตัวเลขและสถิติ
เมื่อผู้บริหารของหน่วยงานดูแลข้อมูลของหนี้ที่สำคัญอย่างเครดิตบูโร ออกมาพูดทั้งที่เกิดเป็นข่าวใหญ่ให้ตลาดตกใจมาก ๆ กันไป
เมื่อผู้บริหารของหน่วยงานดูแลข้อมูลของหนี้ที่สำคัญอย่างเครดิตบูโร ออกมาพูดทั้งที่เกิดเป็นข่าวใหญ่ให้ตลาดตกใจมาก ๆ กันไป แม้ว่ายังไม่เป็นทางการก็ตาม
โดยเฉพาะการเผยแพร่ข้อมูลที่ว่าไตรมาส 4 ปี 2564 มาจนถึงไตรมาส 1 ปีนี้ พบว่า มีลูกหนี้ค้างจ่ายค่างวด 1-3 งวด แต่ยังไม่ถือเป็นหนี้เสีย เพราะลูกหนี้กลับมาชำระ 1 งวด เรียกกันตามภาษาสินเชื่อคือเลี้ยงงวดกันเพื่อไม่ให้เป็นหนี้เสีย และไม่ให้ถูกยึดรถ
โดยกลุ่มลูกหนี้ดังกล่าวมีมูลหนี้ 190,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลหนี้ 150,000 ล้านบาท ของมูลหนี้ทั้งสิ้น 2.6 ล้านล้านบาท ขณะที่ลูกหนี้กลุ่มสีแดงที่ค้างเกิน 90 วัน หรือกลุ่มหนี้เสียมีมูลหนี้ที่ 180,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกปี 2565 ที่มีมูลหนี้ 150,000 ล้านบาท
ตัวเลขดังกล่าวหากมองในภาพใหญ่แล้วกลายเป็นเสาหลักของการมองในเชิงนโยบาย ก็คือข้อเรียกร้องให้ธนาคารเเห่งประเทศไทย (ธปท.) ยื่นมือเข้าไปควบคุมหรือกำกับดูแลธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลให้มากกว่าเดิม หลังจากที่มีการกำกับดูเเลบางส่วนเช่นบัตรเครดิต
ว่าไปแล้วธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลก็ยังเติบโตในสถานะที่เป็นส่วนหนึ่งของหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มพูนอย่างมากในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาจนกระทั่งเติบใหญ่กลายเป็นธุรกิจหลักของสถาบันการเงินที่ทำกำไรเป็นกอบเป็นกำต่อเนื่อง ดังจะเห็นจากเครือข่ายของทิสโก้จากสมหวังเงินสั่งได้ และ TIDLOR ในเครือของแบงก์กรุงศรีฯ หรือ BAY
ที่ผ่านมา ยังไม่มีข่าวร้ายจากธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลอย่าง SAWAD หรือ MTC ถึงตัวเลขการเบี้ยวหนี้สินเชื่อของลูกหนี้รถยนต์และอื่น ๆ ซึ่งถือว่าย้อนแย้งกับตัวเลขภาพรวมของเครดิตบูโร และสภาพัฒน์ที่แสดงความห่วงใยอย่างออกนอกหน้าว่า จะกลายเป็นระเบิดเวลาสำหรับหนี้ครัวเรือนในอนาคต
ในความเป็นจริงของธุรกิจปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลนั้นได้ออกผลิตภัณฑ์บริการทางการเงินกองทุนที่มาได้จากการออกตราสารหนี้หรือการกู้เงินจากแหล่งต่าง ๆ ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำไม่เกินร้อยละ 5-6% ต่อปีแล้วมาปล่อยกู้แบบ Flat rate ในระดับที่สูงขึ้นที่อัตราดอกเบี้ย ระดับ 11-12% ต่อปี โดยซอยย่อยออกเป็นระดับ 0.94-0.96% ต่อเดือน เพื่อล่อแมงเม่าที่ขาดสภาพคล่องทางการเงินส่วนตัว ซึ่งจะทำให้มีกำไร
จากส่วนต่างดอกเบี้ยประมาณปีละมากกว่า 50% ของยอดต้นทุนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และอัตรากำไรจากการปล่อยสินเชื่อ
กำไรนี้เมื่อถูกหักกลบด้วยยอดการเบี้ยวหนี้ของลูกค้าที่มองเห็น “เจ้าหนี้” เป็นญาติสนิทตอนขอกู้เป็นศัตรูตอนทวง ก็ยังถือว่ามีกำไรอยู่เพียงแต่การควบคุมคุณภาพสินเชื่อจะต้องมีประสิทธิภาพมากกว่าระดับปกติ
ยุคทองของสินเชื่อส่วนบุคคลนั้น จะเห็นได้จากอัตราการปล่อยกู้ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ตามมาด้วยสินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อมอเตอร์ไซค์ ก่อนตามมาด้วยสินเชื่อ สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์สื่อสารแบบพกพาทั้งหลาย แล้วก็ล่าสุดธุรกิจออนไลน์ทั้งหลายนั้นเอง ทั้ง e-commerce และ m-commerce ที่มีนวัตกรรมล้วงกระเป๋าขาช้อปออนไลน์
ธุรกิจสินเชื่อรถยนต์นั้นมีพัฒนาที่แยบยลในการปล่อยสินเชื่อ นับตั้งแต่ดอกเบี้ยแบบ Flat rate ในช่วงรถใหม่ 3 ปี รถยนต์ป้ายเเดง และดอกเบี้ย 0% ในช่วง 6 ปี โดยขายพ่วงกับประกันภัยกับบริษัทที่กำหนดที่ราคารถยนต์และเบี้ยประกันที่เเพงกว่าระดับปกติ
กำไรจากส่วนต่างระหว่างต้นทุนของสินเชื่อรถยนต์และวิธีการรับรู้หนี้ลูกค้าด้วยการเลื่อนเวลาผิดนัดชำระออกไปแต่คิดดอกเบี้ยแพงขึ้นที่เรียกกันว่า debt deferring ที่ซับซ้อนทำให้เสียงบ่นของผู้ประกอบการน้อยลงอย่างมาก แต่เสียงเตือนจากผู้หวังดี อย่างเครดิตบูโรหรือสภาพัฒน์ฯ ที่ย้อนแย้งกันก็ยังน่ารับฟัง
แม้ว่าข้อเสนอเพิ่มการกำกับดูแลที่เข้มข้นขึ้นอาจจะทำให้เกิดปฏิบัติการเเบบ คุณพ่อรู้ดีเพราะเป็นการคิดล่วงหน้าถึงปัญหาที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นในลักษณะวัวยังไม่ทันหายก็รีบล้อมคอก หรือตีตนไปก่อนไข้ซึ่งอาจจะไม่ได้เป็นผลดีกับใครเลย
บางทีเราอาจจะต้องการราชาเงินผ่อนที่มีปัญหาไม่อาจจะชำระหนี้เป็นจำนวนมหาศาลเสียก่อน ล้วนทำให้ธุรกิจสินเชื่อล้มไปสักรายถึงจะค่อย ๆ จัดการอาจจะดีกว่าก็ได้