‘เอทานอล’ ล้นตลาด.!

เป็นอีกหนึ่งวาระหลักการประชุมคณะรัฐมนตรี (รักษาการ) วานนี้ (13 มิ.ย.) ว่าด้วยเรื่องแนวทางส่งเสริมการใช้เอทานอลในอุตสาหกรรม “พลาสติกชีวภาพ”


เป็นอีกหนึ่งวาระหลักการประชุมคณะรัฐมนตรี (รักษาการ) วานนี้ (13 มิ.ย.) ว่าด้วยเรื่องแนวทางส่งเสริมการใช้เอทานอลในอุตสาหกรรม “พลาสติกชีวภาพ” ด้วยปมปัญหาปัจจุบันกำลังผลิตเอทานอล มีมากกว่าความต้องการใช้เกือบเท่าตัว หรือกำลังประสบปัญหาโอเวอร์ซัพพลาย

โดยไทยมีกำลังการผลิตเอทานอล อยู่ที่ 3,123 ล้านลิตรต่อปี แต่ทว่าความต้องการใช้เอทานอล อยู่ที่ 1,583 ล้านลิตรต่อปี เป็นการใช้ในประเทศ 1,579 ล้านลิตรต่อปี และส่งออก 4 ล้านลิตรต่อปี

แม้ว่ายังผลิตไม่เต็มกำลัง แต่ส่วนเกินของเอทานอลประมาณ 1,337 ล้านลิตร

แนวทางเบื้องต้นคือการส่งเสริมการปรับตัวและพัฒนาอุตสาหกรรมเอทานอล เช่น การใช้เทคโนโลยี เพื่อนำเอทานอลเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ ช่วยส่งเสริมให้มีการใช้เอทานอลอย่างต่อเนื่อง

โดยประเภทต้นทุนวัตถุดิบที่ใช้ผลิตเอทานอล มาจาก “กากน้ำตาล” ต้นทุนวัตถุดิบคิดเป็นสัดส่วน 60-70% ที่เหลือเป็นต้นทุนดำเนินการ 25-35% และต้นทุนคงที่ 5% ส่วนที่มาจาก “มันสำปะหลัง” ต้นทุนวัตถุดิบคิดเป็นสัดส่วน 55-60% ต้นทุนดำเนินการ 35-40% และต้นทุนคงที่ 5%

“ต้นทุนการผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง จะสูงกว่ากากน้ำตาล เพราะการผลิตมีขั้นตอนเพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาล”

นโยบายสนับสนุนการใช้เอทานอลภาครัฐ เริ่มตั้งแต่ปี 2544 การผสมเอทานอลในน้ำมันเบนซิน เพื่อจำหน่ายเป็นเชื้อเพลิงมีอัตราส่วน 10% เรียกว่า “แก๊สโซฮอล์ 91” และ “แก๊สโซฮอล์ 95” ต่อมาปี 2551 มีการเพิ่มประเภทแก๊สโซฮอล์ โดยผสมเอทานอล 20% (E20) และ 85% (E85) ในน้ำมันเบนซิน ส่งผลให้ปริมาณการใช้เอทานอลแพร่หลายขึ้นเป็นลำดับ 

ช่วงต้นปี 2556 รัฐบาลประกาศยกเลิกการจำหน่ายน้ำมันเบนซิน 91 (คิดเป็นสัดส่วนการใช้ 41% ของน้ำมันกลุ่มเบนซินทั้งหมด) เพื่อส่งเสริมการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP)

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยอยู่ที่ 46.3 บาทต่อลิตร ช่วงปี 2556-2557 สูงกว่าน้ำมันแก๊สโซฮอล์ที่ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 38.9 บาทต่อลิตร ภาครัฐให้การสนับสนุนโดยใช้เงินชดเชย จากกองทุนน้ำมัน เพื่อเพิ่มส่วนต่างราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E10 และ E20 ทำให้ปริมาณการใช้ E20 เพิ่มขึ้นมากตั้งแต่ปี 2559

ช่วงเดียวกันมีการพัฒนารถยนต์ที่ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 และ E85 ออกสู่ตลาดมากขึ้น พร้อมกับการเพิ่มขึ้นของสถานีบริการน้ำมันที่จำหน่าย E20 และ E85

นั่นทำให้อุตสาหกรรม “การผลิตเอทานอล” เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วมีโรงงานผลิตเอทานอลเกิดขึ้นร่วม 30 แห่ง

มาถึงวันนี้ “เอทานอล” กำลังเกิดภาวะล้นตลาด (กว่าเท่าตัว)

ปัญหาอยู่ที่ว่าจะมีการผัน “เอทานอล” จากการเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพและการผลิตสุรา เพื่อเข้าไปสู่อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพได้อย่างไร.!?

นี่คืออีกหนึ่งปัญหาเชิงนโยบายของรัฐ..เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับ “ไบโอดีเซล” มาแล้ว

เชื่อว่า “ผลิตเอทานอล” คงจะเผชิญปัญหา “โอเวอร์ซัพพลาย” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้..

สุดท้ายแล้ว..จะเหลือเพียงกี่ราย..เดี๋ยวคงได้รู้กัน..!!?

Back to top button