พาราสาวะถี
ภายใต้การดำเนินการที่อ้างว่าเป็นไปตามกระบวนการของกฎหมาย รายทางมันก็ปรากฏร่องรอยของความเป็น “ขบวนการ” ให้เห็นชัดขึ้นเรื่อย ๆ
ภายใต้การดำเนินการที่อ้างว่าเป็นไปตามกระบวนการของกฎหมาย รายทางมันก็ปรากฏร่องรอยของความเป็น “ขบวนการ” ให้เห็นชัดขึ้นเรื่อย ๆ กรณีสกัดไม่ให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ไม่ว่าจะมองจากมุมไหน คนส่วนใหญ่ก็เชื่อว่าไม่ได้เป็นวิถีปกติธรรมดาแห่งการตรวจสอบ หากแต่ผ่านการวางแผนเป็นขั้นเป็นตอน รับลูกส่งลูกกันเป็นระบบ อยู่ที่ว่าใครจะเก็บอาการ เก็บความลับไว้ได้ดีกว่ากันเท่านั้น
ความจริงที่ปรากฏนับตั้งแต่ปัญหาหุ้นไอทีวีของพิธาถูกร้องผ่าน กกต. เอกสารประกอบการพิจารณา ข้อมูลเกี่ยวกับการเตรียมที่จะตัดสิน หรือแม้แต่ล่าสุดกับคลิปการประชุมผู้ถือหุ้นและเอกสารรายงานการประชุม ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงความลับไม่มีในโลก สิ่งที่เล็ดลอดสู่สายตาสาธารณชนไม่ว่าจะในรูปแบบใด ย่อมเป็นข้อมูลอินไซด์มาจากภายในขององคาพยพที่ร่วมหัวจมท้ายหรือได้รับประโยชน์จากขบวนการสืบทอดอำนาจทั้งสิ้น
ขณะเดียวกัน หากจะอ่านความเคลื่อนไหวหรือทิศทางการขยับของพวกอยากอยู่ยาว ก็ให้ดูบทสัมภาษณ์ของมือกฎหมายชั้นครูที่ถูกสังคมตราหน้าว่ารับใช้เผด็จการจนคนเสื่อมศรัทธา ปากที่บอกว่าไม่รู้ ไม่ทราบ ไม่แสดงความเห็น แต่ก็พูดเป็นนัย ทั้งหมดปลายทางเพื่อพุ่งเป้าชี้นำไปยังผู้ที่มีอำนาจในการชี้ขาดในนามคณะกรรมการไม่ว่าจะองค์กรใดก็ตาม ข้อกล่าวหาที่โจมตีระบอบอุปโลกน์อย่างระบอบทักษิณเกี่ยวกับการแทรกแซงองค์กรอิสระ ยุคสมัยกว่า 9 ปีที่ผ่านมานั้นน่าจะมากกว่านั้นเข้าข่าย “สั่งการ” เสียด้วยซ้ำ
เป็นที่วิจารณ์ของนักวิชาการกับการตอบข้อสงสัยของนักข่าวในวันประชุม ครม.อังคารที่ผ่านมา วิษณุ เครืองาม ชี้ว่า หากว่าที่ หรือ ส.ส.คนใดถูกสั่งห้ามปฏิบัติหน้าที่โดยศาลรัฐธรรมนูญ หากคนนั้นเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีก็ไม่สามารถที่จะเสนอชื่อให้ที่ประชุมรัฐสภาโหวตเลือกได้เหมือนกัน หลายคนงงเป็นไก่ตาแตก นี่เป็นเจตนาที่ต้องการสื่อถึงอะไรหรือเป็นอาการหลงลืมทางข้อกฎหมาย เพราะคนที่จะเป็นนายกฯ ไม่ต้องเป็น ส.ส.ก็ได้
จนมีคนช่วยเตือนความจำเนติบริกรรายนี้ว่า ลองย้อนกลับไปดูการโหวตเลือกนายกฯ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2562 ครั้งนั้นมีผู้เสนอชื่อ ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ กับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ โดยที่ธนาธรถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุติปฏิบัติหน้าที่เมื่อ 23 พฤษภาคม 2562 นั่นหมายความว่า ส.ส.ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุติปฏิบัติหน้าที่ ไม่ทำให้สิทธิในการเป็นแคนดิเดตนายกฯ หายไป ยังสามารถเสนอชื่อโหวตเป็นนายกฯ ได้อยู่
หรือว่าหากอธิบายได้วิษณุจะบอกว่า ก็ครั้งนั้นธนาธรโหวตยังไงก็ไม่ได้เป็นนายกฯ แต่สำหรับพิธาไม่ใช่ เพราะมีโอกาสจะได้รับการโหวตรับรองสูง ซึ่งมันก็ไม่น่าจะใช่เหตุผลทางกฎหมายที่ถูกต้อง ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม การให้ความเห็นครั้งนี้ไม่ได้มีแค่ปมคนถูกสั่งให้ยุติปฏิบัติหน้าที่แล้วชงชื่อโหวตนายกฯ ไม่ได้เท่านั้น ยังมีการพูดถึง ส.ส.หรือ ส.ว.เข้าชื่อจำนวน 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกของแต่ละสภายื่นร้องเอาผิดพิธาตามมาตรา 82 ของรัฐธรรมนูญได้ด้วย รวมถึง กกต. เนื่องจากการเอาผิดตามมาตรา 151 ของกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.นั้น ต้องใช้เวลานานกว่าจะตัดสิน
ประเด็นนี้ก็มีคนแย้งเช่นกัน โดย สมชัย ศรีสุทธิยากร ชี้ว่าการบอกว่า ส.ว.สามารถยื่นร้องเกี่ยวกับการขาดคุณสมบัติของพิธาต่อการเป็น ส.ส.ได้ด้วยนั้น น่าจะไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 82 การร้อง ส.ส.ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม ส.ส.ร้อง ส.ส. ส.ว.ก็ร้อง ส.ว. ไม่ใช่ ส.ว. 25 คน มาร้อง ส.ส.ขาดคุณสมบัติ เพราะรัฐธรรมนูญมาตรานี้ระบุไว้ชัดว่า ส.ส.หรือ ส.ว.จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา มีสิทธิ์เข้าชื่อร้องต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกว่า “สมาชิกภาพของสมาชิกคนใดคนหนึ่งแห่งสภานั้น” สิ้นสุดลง
ความเห็นตีขลุมทางกฎหมายลักษณะนี้ จึงทำให้คิดต่อไปได้ว่า ขบวนการสกัดกั้นพิธาเพื่อไม่ให้ไปถึงขั้นตอนได้รับการเสนอชื่อโหวตให้เป็นนายกฯ ในการประชุมรัฐสภานั้นมีอยู่จริง และทำงานสอดประสานกันมาโดยตลอด เพียงแต่ว่ายิ่งนานจากที่เคยคิดว่ากระบวนการขับเคลื่อนนั้นเป็นไปโดยลับและไม่มีใครจับไต๋ได้ กลับถูกเปิดโปงจับโป๊ะกันจนสังคมเกิดความกังขา ท้ายที่สุดปัญหาก็วกกลับมายังผู้มีอำนาจตัดสินใจ จะทำตามแผนเดิมก็เกรงว่าสุดท้ายตัวเองอาจจะต้องมาติดคุกตอนแก่
ปมหุ้นไอทีวีเมื่อเห็นร่องรอยที่ส่อว่าน่าจะเป็นการวางแผนกันเป็นขบวนการ เราอาจจะได้เห็นการหันหลังกลับของ กกต.จากที่จะเอาผิดพิธา ต้องไปตรวจสอบหลักฐานของผู้ยื่นร้องก่อนว่าเป็นจริงหรือเท็จ เพราะ พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เตือนแบบดักคอไว้ว่า เรื่องหุ้นไอทีวี ถ้าจะมีใครต้องติดคุก คงต้องอาศัยมาตรา 143 มากกว่า 151 พร้อมระบุว่า คำว่า “ผู้ใด” ตามมาตรา 143 หมายความรวมถึง กกต.ด้วยนะอย่าลืม
เมื่อไปดูมาตรา 143 ของกฎหมายเลือกตั้งได้ระบุไว้ว่า ผู้ใดกระทำการอันเป็นเท็จเพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจผิดว่าผู้สมัครผู้ใดกระทำการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี ถ้าหากการกระทำผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นการเพื่อจะแกล้งให้ผู้สมัครนั้น ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือสิทธิรับสมัครเลือกตั้ง หรือเพื่อไม่ให้ประกาศผลการเลือกตั้ง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปีถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 1 แสนบาทถึง 2 แสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นกำหนด 20 ปี
ความผิดพลาดของ กกต.มีให้เห็นมาแล้วกับกรณีแจกใบส้ม สุรพล เกียรติไชยากร จนแพ้คดีมาสองศาลอยู่ระหว่างกระบวนการฎีกา จึงไม่น่าจะเดินซ้ำรอยเดิมอีก ซึ่งท่วงทำนองที่ใช้ความช่ำชองทางกฎหมายของขบวนการสืบทอดอำนาจเพื่อทำลายฝ่ายตรงข้ามนั้น ยิ่งนานวันยิ่งจะกลายเป็นหมองูตายเพราะงู ส่วนมิติทางการเมืองสหายร่วมสาบานสืบทอดอำนาจกันก่อนหน้าในนามรัฐบาลเรือเหล็ก แม้จะปฏิเสธเรื่องการเจรจาร่วมรัฐบาลกับฝ่ายชนะเลือกตั้งมันก็เป็นเพียงมารยาท เพราะกับผู้นำขั้วเดิมเขาบอกลา ตัดหางกันไปแล้ว