พาราสาวะถี

เอกสารหลุด กกต.ว่าด้วยการเตรียมรับรอง ส.ส. 329 คน และอยู่ระหว่างการพิจารณาเรื่องร้องเรียน 71 คน เป็นข้อมูลจริงหรือเท็จ


เอกสารหลุด กกต.ว่าด้วยการเตรียมรับรอง ส.ส. 329 คน และอยู่ระหว่างการพิจารณาเรื่องร้องเรียน 71 คน เป็นข้อมูลจริงหรือเท็จ แม้ กกต.จะออกมาบอกว่าไม่ใช่เรื่องจริง แต่อย่างน้อยข่าวที่ปรากฏก็เกิดประโยชน์ต่อ กกต.ที่ทำให้คนเห็นว่าไม่ได้อยู่เฉย ๆ หรือดึงจังหวะในการที่จะรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ผ่านมากว่า 1 เดือนแล้ว เรียกได้ว่าข่าวแบบนี้ไม่จำเป็นต้องแก้เพราะไม่ได้สร้างความเสียหายใด ๆ ที่จะต้องตกใจ และเช็กข่าวกันให้วุ่นคงเป็นบรรดาพรรคการเมืองที่มีว่าที่ ส.ส.ส่อว่าจะถูกแขวนจำนวนมากตามข่าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากข้อกฎหมายในมาตรา 127 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.แล้ว กำหนดให้ กกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่มีเหตุอันควรเชื่อว่าผลการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของเขตเลือกตั้งทั้งหมด นั่นหมายความว่าตัวเลข ส.ส.ถูกแขวน 71 คนย่อมไม่เป็นจริง ไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตที่ กกต.จะประกาศรับรองผลการเลือกตั้งต้องมีไม่น้อยกว่า 380 คน  

เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ต้องย้อนกลับไปดูคำให้สัมภาษณ์ของ อิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต.ก็จะเห็นแนวโน้มผลของการพิจารณารับรองการเลือกตั้งที่ว่า มีเรื่องร้องเรียนที่เข้าข่ายว่าน่าจะมีแนวโน้มตัดสินแจกใบเหลือง ใบแดง ไม่น้อยกว่า 20 ราย นั่นยอมชี้ให้เห็นว่าจำนวนที่ปรากฏจากเอกสารหลุดนั้นไม่เป็นจริง ยิ่งเห็น ส.ส.จากพรรคก้าวไกลว่าถูกร้องเรียนเพียงแค่ 6 ราย น้อยกว่าภูมิใจไทยและเพื่อไทย ยิ่งไม่น่าจะเป็นไปได้หนักเข้าไปอีก

เห็นการขยับกันแบบนี้แล้ว ค่อนข้างที่จะแน่ชัดว่า กระบวนการรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.จะไม่ถูกลากยาวไปจนครบ 60 วันคือชนเอาวันที่ 13 กรกฎาคม กกต.น่าจะรับรองก่อนสิ้นเดือนนี้ โดยมีเหตุผลสำคัญอีกประการคือ ฉัตรไชย จันทร์พรายศรี จะพ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากมีอายุครบ 70 ปีในวันที่ 28 มิถุนายนนี้ ประกอบกับผู้ตรวจการเลือกตั้ง และผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัดส่วนใหญ่ยืนยันตรงกันว่าเรื่องร้องเรียนไม่อาจดำเนินการสืบสวน สอบสวนได้เสร็จก่อนกรอบเวลา 60 วันแน่นอน

จึงจำเป็นที่จะต้องรับรองไปก่อน ส่วนจำนวนที่รับรองจะเป็นทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือขยักไว้บางส่วนที่จะมีผลต่อการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีต้องรอลุ้นกัน ซึ่งจะว่าไปการได้เป็นขบวนการสกัดกั้น พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่ให้ขึ้นเป็นนายกฯ คนที่ 30 แล้ว มันก็ไม่มีเหตุผลใดที่ กกต.จะต้องเปลืองตัวให้สังคมเกิดความกังขาในการปฏิบัติหน้าที่ ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน เรื่องไหนที่มีพยาน หลักฐานชัดเจน รับรองไปแล้วค่อยมาสอยทีหลังก็ไม่เสียหายอะไร

โดยเฉพาะโจทย์ของพิธาที่จะต้องได้รับเสียงโหวตในที่ประชุมรัฐสภาถึง 376 เสียงถือเป็นด่านหินอย่างยิ่ง เสียงของ 8 พรรคร่วมตั้งรัฐบาลเวลานี้อยู่ที่ 312 เสียง ยังขาดอีก 64 เสียงตัดพรรคฝ่ายตรงข้ามไปแล้ว เท่ากับต้องหวังเสียงหนุนจาก ส.ว.ลากตั้งอย่างเดียว เมื่อเกิดขบวนการเอาผิดพิธาให้ได้เช่นนี้ ย่อมเป็นเหตุให้พวกที่ไม่อยากเลือกอยู่แล้วใช้เป็นข้ออ้างในการปฏิเสธได้ ด้วยเหตุผลที่ว่า พิธาถือหุ้นสื่อถูก กกต.เอาผิดในคดีอาญา หรืออาจจะมีคนไปร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญและอ้างว่ามีแนวโน้มที่จะถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ได้

นั่นก็เป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นแน่เมื่อเข้าสู่กระบวนการโหวต ที่น่าสนใจตามที่ได้ตั้งข้อสังเกตไปก่อนหน้าคือ ท่าทีของ วิษณุ เครืองาม เนติบริกรของขบวนการสืบทอดอำนาจที่แสดงความเห็นเรื่องหากพิธาถูกสั่งให้ยุติปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ไม่สามารถชงชื่อให้โหวตเป็นนายกฯ ได้ จนเรียกเสียงวิจารณ์จากบรรดานักวิชาการด้านกฎหมายกันอย่างคึกคัก มีคำถามตัวโตว่าการให้ความเห็นเช่นนี้เป็นเจตนา จงใจ หรือหลงลืมในข้อกฎหมายกันแน่

มีความเห็นจาก ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ พูดถึงประเด็นนี้ชวนให้คิดได้หลายประการ ขั้นตอนการเลือกนายกฯ ไม่มีปัญหา รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนห้ามไว้ ผลของศาลรับคำร้องคือหยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ไม่ได้ห้ามการถูกเลือกให้ปฏิบัติหน้าที่ เพียงแต่ยังปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ อันนี้ไม่รู้ว่าวิษณุไม่ตรวจสอบข้อมูล หรือมีเจตนาใด เพราะการถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ศาลรับคำร้องไว้เท่านั้น ไม่ได้แปลว่าศาลพิพากษาแล้ว เพียงแต่ถ้าถูกเลือกมาแล้วยังทำหน้าที่ไม่ได้จนกว่าศาลจะยกคำร้อง

น่าคิดต่อไปอีกกับประเด็นที่ปริญญาบอกว่า “ผมมองว่าสิ่งที่นายวิษณุพูด เหมือนกับทำทางไว้ให้หรือเปล่า เพราะหลายครั้งอาจารย์พูดแล้วทำให้เรารู้สึกอย่างนั้น นักกฎหมายฟังแล้วก็สงสัยว่า ในใจอาจารย์คืออะไร เพราะข้อกฎหมายมันอีกอย่าง แต่อาจารย์พูดอีกอย่าง ถ้าเจอผมก็จะถาม” กรณีนี้คงจะตรงกับที่คนจำนวนไม่น้อยได้แสดงความกังขา เหมือนจะเป็นการชี้นำไม่ว่าจะกับองค์กรใดก็ตาม ในจังหวะที่จะมีการพิจารณาตัดสินคดีที่สำคัญ

ไม่เพียงเท่านั้น ปริญญายังพูดถึงเรื่องที่ กกต.จะดำเนินคดีกับพิธาตามมาตรา  151 ของกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ด้วยว่า ทำไมดำเนินคดี 151 เพราะมันชัดเจนว่าไม่ใช่หุ้นสื่อ ถ้าดูคำวินิจฉัยของศาลในคดีที่ผ่านมา และในคดี ชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ผู้สมัคร ส.ส.เขต 2 นครนายกของพรรคประชาธิปัตย์ที่ถูก กกต.ตัดสิทธิสมัครเพราะถือหุ้นเอไอเอส 200 หุ้น ซึ่งศาลตัดสินว่า เป็นสัดส่วนที่น้อยมากย่อมไม่มีอำนาจสั่งการให้บริษัทดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์แก่ผู้สมัคร และพรรคการเมืองที่สังกัด หรือเป็นโทษต่อผู้สมัครและพรรคการเมืองอื่น เพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งของผู้สมัครหรือพรรคของตัวเองได้

กรณีของพิธาหากเห็นต่างกัน กกต.ควรขอให้ศาลวินิจฉัยก่อนค่อยดำเนินคดี การข้ามขั้นตอนแบบนี้ ปริญญาชี้ว่ามันจึงชวนให้สงสัยว่า “เจตนาของ กกต.คืออะไร” เป็นเกมสกัดพิธาหรือไม่ ถ้าผิดจริงถือหุ้นสื่อจริงก็ให้เป็นไม่ได้ แต่นี่ไม่ใช่ ไอทีวีไม่ใช่สื่อหยุดมา 17 ปีแล้ว ถ้าไม่ผิดแต่จะทำให้ผิดให้ได้ ตนมองว่าไม่ถูกต้อง เช่นเดียวกันความพยายามจะฟื้นคืนชีพไอทีวีให้เป็นสื่อให้ได้ ยิ่งสาวยิ่งพบพิรุธเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ถือเป็นความท้าทายกระบวนการตรวจสอบของฝ่ายที่มีอำนาจโดยเฉพาะกับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะหากินแบบโปร่งใสหรือรวมหัวกับการเมืองโสมมเพื่อปกป้องผลประโยชน์ตัวเองกันแน่

Back to top button