SCB ตั้งสำรองหนี้ลดลง
SCB รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2566 มีกำไรสุทธิ 10,995.38 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.5% จากไตรมาส 1/2565 และขยายตัว 53.9% จาก 7,143 ล้านบาท
คุณค่าบริษัท
บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB โครงสร้างสินเชื่อ ณ สิ้นไตรมาส 1/2566 1.ธุรกิจขนาดใหญ่ 35.54% 2.ธุรกิจ SME 17.35% 3.สินเชื่อบุคคล 41.14% 4.สินเชื่อของบริษัทย่อย 5.97% ภายใต้สินเชื่อบุคคลจำแนกต่อได้ดังนี้ 1.สินเชื่อเคหะ 30.84% 2.สินเชื่อเช่าซื้อ 7.71% 3.สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน 1.83% 4.สินเชื่ออื่น ๆ 0.76% ภายใต้สินเชื่อของบริษัทย่อย จำแนกต่อได้ดังนี้ 1.บริษัทคาร์ด เอกซ์ 4.80% 2.บริษัท ออโต้ เอกซ์ 0.52% 3.บริษัทย่อยอื่น ๆ 0.65%
SCB รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2566 มีกำไรสุทธิ 10,995.38 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.5% จากไตรมาส 1/2565 และขยายตัว 53.9% จาก 7,143 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้น 17% จากไตรมาส 1/2565 จากการปรับตัวดีขึ้นของส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ซึ่งเพิ่มขึ้นมาที่ 3.46% จาก 3.04% ในไตรมาส 1/2565 รายได้ค่าธรรมเนียมจากการบริหารความมั่งคั่งลดลง 22.9% จากไตรมาส 1/2565 แต่เพิ่มขึ้น 11.6% จากไตรมาส 4/2565 ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมการให้สินเชื่อและค่าธรรมเนียมธุรกรรมทางการเงินเติบโตดี
ด้านอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 41.0% ลดลงจาก 42.8% ในไตรมาส 1/2565 และ 54.5% ในไตรมาส 4/2565 ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) เพิ่มขึ้น 13.5% จากไตรมาส 1/2565 และเพิ่มขึ้น 40.2% จากไตรมาส 4/2565 หรือคิดเป็น credit cost เท่ากับ 1.66% ของสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/2565 ที่ 1.51% เพื่อเป็นสำรองส่วนเพิ่มต่อความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นของลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่รายหนึ่ง
ยอดสินเชื่อของ SCB ณ สิ้นไตรมาส 1/2566 เพิ่มขึ้น 3.1% จากไตรมาส 1/2565 และ 0.9% จากไตรมาส 4/2565 มาอยู่ที่ 2,399,222 ล้านบาท โดยสินเชื่อที่ยังเติบโตโดดเด่นได้แก่ สินเชื่อ SME, สินเชื่อส่วนบุคคล, สินเชื่อเคหะ, สินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัลของบริษัทย่อย (คาร์ดเอกซ์) และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ขณะที่สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ลดลงเล็กน้อยจากการชำระคืนหนี้ของลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ ด้านคุณภาพของสินเชื่ออยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL Ratio) อยู่ที่ 3.32% ลดลงจากช่วงสิ้นไตรมาส 1/2565 ที่ 3.70% และสิ้นไตรมาส 4/2565 ที่ 3.34% โดยมีการขาย NPL จำนวน 2.2 พันล้านบาท และ write-off หรือตัดหนี้สูญอีก 4 พันล้านบาท
ส่วนอัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL Coverage Ratio) อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง โดยปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 163.8% จากสิ้นไตรมาส 4/2565 ที่ 159.7% และสิ้นไตรมาส 1/2565 ที่ 143.9% ณ สิ้นไตรมาส 1/2566 จำนวนผู้ใช้งานผ่านช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้น 24% จากไตรมาส 1/2565 เป็นจำนวน 26.6 ล้านราย ส่วนยอดสินเชื่อภายใต้การปรับโครงสร้างหนี้แบบเบ็ดเสร็จ (มาตรการสีฟ้า) ค่อนข้างทรงตัวที่ 12% ของสินเชื่อรวม โดยมีสัญญาณการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมบริการ ซึ่งคิดเป็นมากกว่า 1 ใน 3 ของยอดปรับโครงสร้างหนี้
ข้อมูลจาก Refinitive Consensus สำหรับ SCB ระบุว่า ประมาณการรายได้รายรวมปี 2566 ที่ 165,994.67 ล้านบาท และประมาณการกำไรสุทธิปี 2566 ที่ 44,214.64 ล้านบาท โดยมีราคาเป้าหมายเฉลี่ยที่ 128.50 บาท จาก 20 โบรกเกอร์
บล.ดาโอ (ประเทศไทย) ระบุว่า ยังคงประมาณการกำไรสุทธิของ SCB ในปี 2566 อยู่ที่ 4.3 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% จากปี 2565 จากการตั้งสำรองฯ ที่ลดลง และเริ่มรับรู้รายได้แบบเต็มปีจากธุรกิจใหม่ แต่คาดแนวโน้มกำไรสุทธิในไตรมาส 2/2566 (ประมาณการ) ทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2565 แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/2566 ด้านผู้บริหาร SCB คาดว่า NIM ปี 2566 (ประมาณการ) จะมี upside จากเป้าหมายที่ 3.50% (คาด 3.44%) จากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น และจะมีการ Refinance เงินกู้สกุล USD (เป็นเงินกู้ที่บริษัท CardX กู้มาตอนทำการโอนพอร์ตสินเชื่อบัตรเครดิตออกจากธนาคาร)
สำหรับการประเมินมูลค่า (Valuation) หุ้น SCB ราคาปัจจุบัน (ราคาปิดวันที่ 13 มิ.ย. 2566 ที่ 108 บาท) ซื้อขายกันที่ P/E 9.48 เท่า สูงกว่า P/E กลุ่มธนาคารที่ 8.86 เท่า ส่วนค่า P/BV ของหุ้น SCB อยู่ที่ 0.77 เท่า สูงกว่า P/BV กลุ่มธนาคารที่ 0.69 เท่า