หุ้นที่เข้าใหม่และหุ้นที่ขย่มตลาด
หุ้น STARK ที่กลุ่มตั้งคารวคุณแห่งสีทีโอเอเข้ามาถือหุ้นใหญ่ แทนกลุ่มสยามสปอร์ต ที่ถอนตัวจากไปเพราะเจอปัญหามาร์เก็ตเปลี่ยนแปลงกะทันหันในธุรกิจสื่อ
หุ้น STARK ที่กลุ่มตั้งคารวคุณแห่งสีทีโอเอเข้ามาถือหุ้นใหญ่ แทนกลุ่มสยามสปอร์ต ที่ถอนตัวจากไปเพราะเจอปัญหามาร์เก็ตเปลี่ยนแปลงกะทันหันในธุรกิจสื่อ แล้วปล่อยให้กิจการมีปัญหาหนี้สิน จนกระทั่งทรุดโทรมมากจนเข้าข่ายเบี้ยวหนี้ตราสารหนี้ที่ครบกำหนดไถ่ถอน ที่กลายตัวถ่วงของตลาดหุ้นและหุ้นเข้าใหม่อย่างกลุ่ม JPC ยัสปาล เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าดังที่ต้องการเข้าระดมทุนในตลาดด้วยการขายหุ้น IPO ในตลาดด้วยวัตถุประสงค์ไม่ชัดเจน อย่างไหนจะเป็นอันตรายต่อนักลงทุนมากกว่า
ทั้งคู่เหมือนกันตรงที่กลัดกระดุมผิดเม็ดเพียงแต่ผิดคนละเม็ดกัน ที่หุ้นตัวแรกกลัดกระดุมผิดที่เม็ดท้ายสุด และรายอย่างหลังกลัดกระดุมผิดตั้งแต่เริ่มต้น
ผลลัพธ์ในท้ายที่สุดคือความเสียหายที่แตกต่างกัน
ราคาหุ้น STARK ร่วงติดฟลอร์ 0.05 บาท มูลค่าซื้อขาย 3.97 ล้านบาท หลังจากเปิดงบการเงินปี 65 พร้อมปรับงบปี 64 ขาดทุนหนักต่อเนื่อง ผู้สอบบัญชีพบการทุจริตหลายจุดที่ดำเนินการผ่านบริษัทย่อยทั้งการรับ-จ่ายเงิน ขณะที่หุ้น STARK ก็ใกล้จะกลับไปแขวน SP ยาวตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 66 นี้
STARK เปิดงบปี 65 ขาดทุนกว่า 6.6 พันล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 0.5393 บาท พร้อมทั้งแก้งบปี 64 เปลี่ยนเป็นขาดทุน 5,965 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 0.501 บาท จากเดิมที่เคยแจ้งว่ากำไร 2.8 พันล้านบาท ขณะที่ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ 4,403 ล้านบาท
ผลลัพธ์ดังกล่าวทำให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ออกประกาศเตือนระมัดระวังการลงทุนในหุ้น STARK พร้อมกันนั้น ตลท.ยังประกาศให้ STARK เข้าข่ายถูกเพิกถอนเนื่องจากส่วนผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์
ขณะที่ TOA รับ Sentiment ลบจาก STARK ทำให้ราคาร่วง 15.32% หรือลดลง 4.75 บาท มาที่ 26.25 บาท มูลค่าซื้อขาย 766.78 ล้านบาท แม้จะออกมาปฏิเสธหลายครั้งว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับนายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ STARK แม้ว่าจะเป็นบุคคลในตระกูลเดียวกัน ซึ่งถือหุ้นอยู่ใน TOA ด้วย
พร้อมกันนั้น ตลท.แจ้งดำเนินการกับ STARK กรณีส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์ และขอให้ผู้ลงทุนใช้ความระมัดระวังในการซื้อขายหลักทรัพย์ STARK
สืบเนื่องจาก STARK ไม่สามารถนำส่งงบการเงินประจำปี 65 และงบการเงินไตรมาส 1/66 ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด จนเป็นเหตุให้ถูกขึ้น SP ห้ามซื้อหรือขายหลักทรัพย์ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 66 ต่อมาเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 66 STARK ได้นำส่งงบการเงินประจำปี 65 ซึ่งผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีมายังตลาดหลักทรัพย์ฯ และปรากฏว่าส่วนของผู้ถือหุ้นปี 64 (ปรับปรุงใหม่) ติดลบมากถึง 2,895 ล้านบาท สำหรับงบสิ้นปี 65 และในสิ้นงวดปี 65 ยังมีตัวเลขขาดทุนหนักอีก จนติดลบ 4,415 ล้านบาท ตามลำดับ
ส่งผลให้หุ้น STARK มีเหตุเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนตามข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์ฯ
การดำเนินการของ ตลท. เป็นกระบวนการแก้ปัญหาปลายเหตุที่ต้องกระทำอยู่แล้วตามปกติ สำหรับบริษัทที่ถูกเทกโอเวอร์แล้วผู้ถือหุ้นรายใหม่ทำการตกแต่งบัญชีและดูสวยงามแล้วถูกผู้ตรวจสอบบัญชีไม่ให้ความเห็นในงบการเงิน แต่กรณีที่เกิดขึ้นไม่เหมือนกับบริษัท JPC ที่กำลังแต่งตัวเข้าระดมทุนในตลาด
ยัสปาล (JPC) ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนเวอร์ชั่นแรกต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 156,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท และจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) โดยมี บล.กสิกรไทย เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย
ณ วันที่ 31 ธ.ค. 65 กลุ่มบริษัทฯ มีวงเงินกู้ยืมระยะสั้นและระยะยาวกับธนาคารกสิกรไทย 1,330.00 ล้านบาท โดยมียอดคงค้างจำนวน 746.54 ล้านบาท
JPC ประกอบธุรกิจหลัก 2 ธุรกิจ ได้แก่ (1) ธุรกิจค้าปลีกเสื้อผ้า สินค้าแฟชั่น และสินค้าไลฟ์สไตล์อื่น ๆ และ (2) ธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายที่นอน เครื่องนอน ของตกแต่งบ้าน และเฟอร์นิเจอร์
กลุ่มบริษัทมีช่องทางการจำหน่ายหลัก 2 ช่องทาง ได้แก่ (1) สาขาหน้าร้านและจุดจำหน่ายสินค้า ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศ จำนวนรวมทั้งสิ้น 462 สาขา และ (2) ช่องทางออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ของกลุ่มบริษัทฯ และแพลตฟอร์มการซื้อขายออนไลน์ต่าง ๆ (Marketplace) สำหรับสินค้าบางแบรนด์
ความคลุมเครือของบริษัท ซึ่งแม้จะอ้างว่ามีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิจากงบการเงินเฉพาะกิจการของบริษัทฯ ก็เป็นการอำพรางข้อเท็จจริงที่ว่า การระดมทุนรอบนี้มีเป้าหมายเพื่อลดหนี้ของบริษัทที่มีกับเจ้าหนี้คือธนาคารกสิกรไทย
การเข้าระดมทุนในตลาดโดยมีเป้าหมายเพื่อลดหนี้ของกิจการแล้วเอาเงินคืนเจ้าหนี้ ไม่มีการบ่งชัดว่า อนาคตของ JPC จะสดใสจริงหรือไม่ พอเป็นที่รู้ของธุรกิจเสื้อผ้านั้นมีกำไรต่ำลงเรื่อย ๆ ในลักษณะถดถอยลงจากการแข่งขันของธุรกิจออนไลน์ ข้อเท็จจริงนี้เป็นข้อเท็จจริงที่ถูกอำพรางโดยอาศัยชื่อเสียงของที่ปรึกษาทางการเงินอย่างบล.กสิกรไทยเท่านั้นเอง
หาก ก.ล.ต.และตลท.มองข้ามไปก็เท่ากับสองหน่วยงานนี้กำลังปัดสวะความรับผิดชอบโยนให้นักลงทุนมีความเสี่ยงเอง ซึ่งอาจสร้างความเสียหายจากการสมคบคิดกับที่ปรึกษาการเงินชื่อดัง จากการปล่อยให้มีสินค้าเน่า ๆ เข้ามาซื้อขายในตลาด จึงถือเป็นการกลัดกระดุมผิดตั้งแต่เม็ดแรก