นโยบายการเงิน..เดินคนละทาง.!?
เริ่มเห็น “ธนาคารกลางหลายประเทศ” มีการประกาศนโยบายการเงิน ที่แตกต่างกันออกไป ทั้งปรับขึ้นและปรับลดอัตราดอกเบี้ย
เริ่มเห็น “ธนาคารกลางหลายประเทศ” มีการประกาศนโยบายการเงิน ที่แตกต่างกันออกไป ทั้งปรับขึ้นและปรับลดอัตราดอกเบี้ย รวมถึงการคงดอกเบี้ยแบบส่งสัญญาณว่าพร้อมจะยังขึ้นต่อได้อีก.!!
ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา “ธนาคารกลางยุโรป” ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย พร้อมสร้างความตกใจให้กับตลาด ด้วยการส่งสัญญาณถึงแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ ที่ยังคงย่ำแย่ในอนาคต ส่งผลให้นักลงทุนยิ่งเพิ่มความคาดหวังต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรปมากยิ่งขึ้น
โดยนโยบายการเงินธนาคารกลางยุโรป มีขึ้นหลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยไว้ช่วงระดับ 5-5.25% ในการประชุมช่วงกลางสัปดาห์เดียวกัน ก่อนหน้านั้น “ธนาคารกลางจีน” ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลาง (MLF) ระยะ 1 ปีลง 0.10% สู่ระดับ 2.65% จากระดับ 2.75% เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ
ส่วน “ธนาคารกลางญี่ปุ่น” ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แบบผ่อนคลายไว้อยู่ในแดนลบ แม้ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อจะสูงกว่าเป้าหมายก็ตาม
มุมมองจาก Carsten Brzeski หัวหน้าฝ่ายเศรษฐศาสตร์มหภาคจาก ING ประเทศเยอรมนี ระบุว่า นโยบายการเงินหลาย ๆ รูปแบบที่เกิดขึ้นนั้น บ่งชี้ให้เห็นว่าเริ่มมีแนวทางนโยบายการเงินแตกต่างกันออกไป สำหรับการรับมือเศรษฐกิจของธนาคารกลางหลายประเทศ และมีวัฏจักรดอกเบี้ยที่ไม่เหมือนกัน
ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อในสหภาพยุโรป เริ่มเห็นการอ่อนตัวลง แม้ว่าสูงกว่าระดับเป้าหมายของธนาคารกลางยุโรปก็ตาม เป็นไปตามทิศทางเดียวกันกับสหราชอาณาจักร ที่ตลาดมองว่า “ธนาคารกลางอังกฤษ” จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกรอบในการประชุมวันที่ 22 มิ.ย.นี้ หลังข้อมูลตัวเลขชี้ให้เห็นว่าตลาดแรงงานนั้นยังคงร้อนแรงอยู่..
ส่วนธนาคารกลางสหรัฐ ที่เริ่มวัฏจักรการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ก่อนธนาคารกลางยุโรป ตัดสินใจพักการขึ้นดอกเบี้ยช่วงเดือน มิถุนายน อย่างไรก็ตามยังส่งสัญญาณว่าจะมีการขึ้นอีก 2 ครั้งภายในปีนี้ นั่นหมายความว่าถึงแม้จะมีการหยุดการขึ้นดอกเบี้ยไป แต่วัฏจักรขาขึ้นนั้นยังไม่สิ้นสุด
ขณะที่ประเทศภูมิภาคเอเชีย เริ่มมีนโยบายแตกต่างกันออกไปจากชาติตะวันตก โดยสาธารณรัฐประชาชนจีน การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เริ่มช้าลง รวมถึงดีมานด์ทั้งในและนอกประเทศลดลงส่งผลให้ผู้กำกับนโยบายการเงินต้องใช้มาตรการส่งเสริมเพื่อดึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้กลับมา รวมถึงการหั่นดอกเบี้ยเงินกู้ระยะสั้นและกลางด้วย
ส่วนธนาคารกลางญี่ปุ่น ต้องเผชิญกับสภาวะเงินฝืดมานานหลายปี ออกมาคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลงในปีนี้ โดยจะไม่มีการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินใด ๆ ช่วงขณะนี้
อย่างไรก็ดีหลังมีการประกาศนโยบายการเงินออกมาเกิดการตอบรับในตลาดเงินที่ต่างกันออกไปโดยค่าเงินยูโรแข็งค่าสู่ระดับสูงสุดรอบ 15 ปี เมื่อเทียบเงินเยนญี่ปุ่น พร้อมฝ่าแนวต้าน 1.09 ดอลลาร์สหรัฐไปได้ ขณะเดียวกันผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเยอรมนี อายุ 2 ปี ปรับตัวแตะระดับสูงสุดรอบ 3 เดือน โดยมีความหวังว่าธนาคารกลางยุโรปจะยังขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป
“คริสติน ลาการ์ด” ประธานธนาคารกลางยุโรป ระบุถึงการตัดสินใจของธนาคารกลางยุโรป เมื่อเทียบกับเฟด ที่ตัดสินใจหยุดการขึ้นดอกเบี้ยเดือนนี้ว่า ธนาคารกลางยุโรป ไม่มีความคิดที่จะหยุดการขึ้นดอกเบี้ย และขณะนี้ยังดำเนินมาไม่ถึงจุดหมายปลายทางที่มองไว้ ก่อนจะส่งสัญญาณว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยอีกอย่างน้อยหนึ่งครั้งช่วงเดือน กรกฎาคมที่จะถึงนี้..
ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์บางสำนัก มองว่า อีกไม่นานธนาคารกลางยุโรป จะก้าวเข้าสู่สถานการณ์เดียวกันกับที่เฟดเคยเผชิญมา โดยชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ นำหน้ายุโรปประมาณหนึ่งไตรมาส และใช้เวลาถึงประมาณเดือน กันยายนก่อนที่ธนาคารกลางยุโรปจะเริ่มพิจารณาหยุดขึ้นดอกเบี้ยต่อไป