พาราสาวะถี

จับตาดูการประชุมหัวหน้า 8 พรรคร่วมตั้งรัฐบาลในวันที่ 22 มิถุนายนนี้ น่าจะมีความชัดเจนเรื่องการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีและแบ่งกระทรวงกัน


ไม่ได้ผิดไปจากที่คาดหมายสาเหตุที่ กกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.ทั้ง 500 คนคือ กระบวนการสืบสวนสอบสวนกรณีผู้ถูกร้องที่มีจำนวน 82 รายนั้น ไม่สามารถทำให้เสร็จได้ทันกรอบเวลาตามกฎหมาย 60 วัน จึงปล่อยผ่านไปก่อนแล้วค่อยสอยทีหลัง ซึ่งมีเวลาถึง 1 ปีที่จะเอาผิดคนที่มีเรื่องร้องเรียน นั่นหมายความว่า แม้จะมีการรับรองไปแล้ว แต่ 82 ส.ส.ที่มีชนักปักหลัง ก็มีโอกาสที่จะตกเก้าอี้ได้ทุกเมื่อ แต่อย่างน้อยการไม่อ้อยอิ่งดึงจังหวะให้ช้าไปกว่านี้ก็จะเกิดประโยชน์กับประเทศ

ด้วยเหตุผลที่ว่า เมื่อผ่านกระบวนการรับรองและ ส.ส.ทั้งหมดไปรับหนังสือจาก กกต.ไปรายงานตัวต่อสภาผู้แทนราษฎรแล้ว จากนี้ไประยะเวลาไม่เกิน 15 วันจะต้องมีการเปิดประชุมสภาฯ โดยทางสำนักงานเลขาธิการสภาฯ จะต้องทำหนังสือกราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนินประกอบพระราชพิธีเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรก และทางสำนักงานฯ จะต้องออกหนังสือเชิญประชุมสภาผู้แทนราษฎรหลังจากนั้นเพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร

พิจารณาจากไทม์ไลน์ตรงนี้ จึงเป็นเรื่องที่สองพรรคแกนนำตั้งรัฐบาลอย่างก้าวไกลและเพื่อไทย ต้องรีบสรุปเก้าอี้ประธานสภาฯ ให้แล้วเสร็จในเร็ววัน ทั้งนี้ ในการประชุมสภาฯ นัดแรกผู้ที่จะขึ้นทำหน้าที่ประธานเป็นการชั่วคราวในฐานะ ส.ส.ผู้มีอาวุโสสูงสุดคือ พลตำรวจโท วิโรจน์ เปาอินทร์ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคเพื่อไทยในวัย 89 ปี ส่วนเก้าอี้ประธานสภาตัวจริงนั้น มาถึงนาทีนี้คงไม่มีอะไรพลิกไปจากที่แกนนำทั้งสองพรรคได้แสดงท่าทีออกมาคือพรรคอันดับ 1 ได้ตำแหน่งนี้ไป

ส่วนเพื่อไทยขอฮุบเก้าอี้รองประธานสภาฯ ทั้งสองไว้ เนื่องจากเสียงของ ส.ส.ในซีกพรรคร่วมรัฐบาลนั้นพรรคอื่นที่เหลือ ไม่อยู่ในฐานะที่จะต่อรองได้ จะว่าไปเป้าหมายที่ก้าวไกลไม่ยอมปล่อยตำแหน่งนี้ให้กับเพื่อไทย ไม่ได้อยู่เพียงแค่ว่าต้องการจะใช้เป็นกระบวนการในการเสนอวาระการประชุมว่าด้วยข้อกฎหมายที่เป็นนโยบายสำคัญของพรรคเท่านั้น แต่ต้องการที่จะควบคุมกลไกสำคัญในขั้นตอนของการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย

อาจดูเหมือนเป็นความไม่ไว้วางใจพรรคอันดับรองอย่างเพื่อไทย แต่ความจริงแล้วปัญหาไม่ได้อยู่ตรงนั้น จุดสำคัญคือเสียงหนุนจาก ส.ว.ลากตั้ง มาถึงตรงนี้แม้จะยังดูลูกผีลูกคน อีกด้านก็มีรายงานว่า มี ส.ว.จำนวนหนึ่งรับไม่ได้กับการสร้างแรงกดดันจากขบวนการสืบทอดอำนาจ จากเดิมที่ส่งสัญญาณมาแค่ไม่อยากให้มีการแตกแถวของผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งมาจากปลายกระบอกปืน แต่ช่วงโค้งสุดท้ายถึงกับขู่ว่าใครโหวตสวนจะมีการตามไปเช็กบิลกันภายหลัง

สร้างความไม่พอใจให้กับ ส.ว.จำนวนไม่น้อยที่เห็นว่าเป็นการข่มเหงจิตใจกันมากจนเกินไป จึงอาจเกิดการโหวตหนุน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ให้รู้แล้วรู้รอดกันไป เป็นการหักหน้าขบวนการสืบทอดอำนาจที่ทวงบุญคุณกันอยู่ตลอดเวลา ขณะเดียวกัน จากเดิมที่แผนสกัดกั้นว่าที่นายกฯ คนที่ 30 กรณีถือหุ้นไอทีวีดูเหมือนจะได้ผล แต่ทำไปทำมาดูท่าว่าจะเป็นในทางตรงข้าม ด้วยเหตุผลที่ว่า เมื่อมีการรับรองพิธาให้เป็น ส.ส.แล้วการจะไม่ให้ได้รับการเสนอชื่อในที่ประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเป็นนายกฯ ทำได้อย่างเดียวคือ ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

โดยมีข้อแม้ว่าศาลต้องรับเรื่องไว้พิจารณาและมีคำสั่งให้พิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ด้วย ซึ่งกระบวนการที่จะยื่นไปถึงตรงนั้น ส.ว.ลากตั้งทำไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ระบุไว้ชัดร้องให้ตรวจสอบคุณสมบัติสมาชิกต่างสภากันไม่ได้ จึงเป็นเรื่องของ ส.ส.ที่จะเข้าชื่อกันไม่น้อยกว่า 50 คนขึ้นไป หรือ กกต.จะยื่นร้องเอง มองในมุม ส.ส.แล้วถามว่าใครจะกล้าไปทำเช่นนั้น หากข้อมูลที่ยื่นไปเป็นเท็จความเสียหายก็จะย้อนกลับมาเล่นงานตัวเองตามความผิดของกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 143 ซึ่งมีโทษแรง

ไม่ต่างกันจาก กกต. ไม่ใช่เหตุผลที่ว่าได้ใช้ช่องทางที่จะเอาผิดตามมาตรา 151 ในการดำเนินคดีอาญาต่อพิธาไปแล้ว แต่การจะไปยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อชี้ว่า ว่าที่นายกฯ คนที่ 30 ขาดคุณสมบัตินั้น ต้องย้อนกลับไปดูการรับรองสถานะของพิธาว่า กกต.ปล่อยผ่านมาได้อย่างไร ไม่ใช่แค่การเลือกตั้งครั้งนี้ รวมไปถึงการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ด้วย ถือเป็นความบกพร่องของ กกต.ด้วยหรือไม่ เพราะหุ้นที่ถูกกล่าวหานั้นพิธาถือครองมานานกว่า 10 ปีแล้ว

เรียกได้ว่าจากเดิมที่เคยใช้อภินิหารทางกฎหมายเล่นงานฝ่ายตรงข้าม ตั้งแต่ ทักษิณ ชินวัตร จนถึง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ มาหนนี้มันไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะความผิดที่ใช้เล่นงานนั้นไม่ว่าจะพิจารณาจากมุมไหน น้ำหนักของข้อกล่าวหามันเบาบางเหลือเกิน ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะข้อกฎหมายที่ใช้เล่นงานสื่ออย่างไอทีวีในอดีตนั่นเอง จึงทำให้สถานะความเป็นสื่อหมดไปตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา ประเด็นนี้แม้แต่เด็กอมมือยังรู้ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

ส่วนพวกอยากอยู่ยาวถอดใจตั้งแต่เห็นผลการเลือกตั้งแล้ว โอกาสจะพลิกเกมเป็นไปได้ยาก ยิ่งมีการประกาศรับรอง ส.ส.แบบนี้ ก็ชี้ให้เห็นแล้วว่าคนที่อยากไปต่อคงต้องเก็บของออกจากทำเนียบรัฐบาล ปล่อยให้พรรคที่ตัวเองสังกัดไปทำหน้าที่ฝ่ายค้านตามระเบียบ ขณะที่พี่ใหญ่ของแก๊ง 3 ป.จากหัวโขน ส.ส.ที่มีอยู่ยังจะคงทำงานทางการเมืองต่อไป แต่ไม่ใช่แค่งานของฝ่ายนิติบัญญัติเท่านั้น ยังมีความหวังว่าจะได้ไปร่วมงานกับฝ่ายบริหารอยู่ รอเพียงจังหวะที่เหมาะสมเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม จับตาดูการประชุมหัวหน้า 8 พรรคร่วมตั้งรัฐบาลในวันที่ 22 มิถุนายนนี้ น่าจะมีความชัดเจนเรื่องการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีและแบ่งกระทรวงกันในระดับหนึ่ง ที่ค่อนข้างจะแน่นอนแล้ว คงเป็นความเปลี่ยนแปลงภายในพรรคไทยสร้างไทยที่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จะไขก๊อกจาก ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เพื่อเปิดทางให้ นาวาอากาศตรี ศิธา ทิวารี ขยับขึ้นมาทำหน้าที่แทน บทบาทของเสี่ยปุ่นเหมาะสมที่จะต้องมีตำแหน่งทางการเมือง จากนี้อาจจะมีการขยับปรับเปลี่ยนในส่วนของคณะกรรมการบริหารพรรคด้วย ส่วนเก้าอี้รัฐมนตรีจะได้ว่าการไป 1 กระทรวง คาดหมายว่าจะเป็นกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

Back to top button