CIG มายาตัวเลข.!?

หลังจาก CIG มีการเขย่าโครงสร้างผู้ถือหุ้นไปเมื่อช่วงเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ล่าสุดปรากฏชื่อ “ชาญยุทธ บุณยเกตุ” ขึ้นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เบอร์ 1


หลังจากบริษัท ซี.ไอ.กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CIG มีการเขย่าโครงสร้างผู้ถือหุ้นไปเมื่อช่วงเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ล่าสุดปรากฏชื่อ “ชาญยุทธ บุณยเกตุ” ขึ้นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เบอร์ 1 ด้วยสัดส่วน 23.07% เบียดเจ้าของเดิม “กลุ่มพุ่มเสนาะ” หล่นมาถือหุ้นเบอร์ 2 และ 3 นำโดย “อริสา พุ่มเสนาะ” ถือหุ้นสัดส่วน 15.43% และ “อารีย์ พุ่มเสนาะ” ถือหุ้นสัดส่วน 6.30%…

จากนั้นก็ตามมาด้วยการเขย่าโครงสร้างบอร์ด และล่าสุดถึงคิวการเขย่าโครงสร้างธุรกิจแล้วล่ะ..!!

ด้วยธุรกิจดั้งเดิมของ CIG เป็นผู้รับจ้างผลิตคอยล์ร้อนและเย็น ที่ใส่ในแอร์ ตู้เย็น ขายทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ  แต่เนื่องจากผลประกอบการไม่ค่อยสู้ดี จมปลักอยู่กับตัวเลขขาดทุนมานานหลายปี ทำให้ปัจจุบันมีตัวเลขขาดทุนสะสมยังไม่ได้จัดสรรปาไป 931.17 ล้านบาท

กลายเป็นโจทย์ให้ CIG ต้องพยายามแสวงหาธุรกิจใหม่เข้ามาเติม เพื่อหวังกอบกู้สถานการณ์..!!

เลยเป็นที่มาของมติบอร์ดเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2566 ไฟเขียวให้บริษัทลูกที่ชื่อว่า บริษัท ซีไอจี ยูทิลิตี้ แอนด์ อินฟราสตรัคเจอร์ จำกัด (CIGU) รับโอนกิจการทั้งหมดจากบริษัท กู๊ด เวนเจอร์ส จำกัด นั่นคือแพลตฟอร์มสำหรับการขนส่ง (Logistics Platform) ที่ชื่อว่า VE Logistics Platform” เพื่อรองรับการให้บริการจัดการด้านการขนส่งสินค้าไปยังจุดหมายปลายทาง ด้วยวิธีการขนส่งผ่านยานยนต์ ทั้งยานยนต์พลังงานไฟฟ้า และยานยนต์รูปแบบอื่น รวมมูลค่า 450 ล้านบาท

ที่น่าสนใจ การรับโอน VE Logistics Platform จะทำให้ CIGU ได้ 1)สิทธิตามสัญญาเช่าช่วงห้องควบคุมระบบ (Control Room) และกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่อยู่ในห้องควบคุมระบบ (Control Room) มูลค่ารวมประมาณ 1.50 ล้านบาท

2)สิทธิตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตลอดอายุของลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ มูลค่ารวมประมาณ 18.16 ล้านบาท

และ 3)สิทธิตามสัญญาบริหารจัดการและให้บริการแพลตฟอร์ม โดย CIGU จะได้รับค่าบริการสำหรับการให้ใช้บริการ VE Logistics Platform จากบริษัท โซลาร์ เซาเทิร์น เอ็กซ์เพรส จำกัด (SSS) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการขนส่งสินค้าตั้งแต่วันที่มีการใช้บริการจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2572 ในอัตราไม่ต่ำกว่า 1 บาท/ตัน/กิโลเมตร สำหรับรถบรรทุกห้องเย็น และไม่ต่ำกว่า 0.25 บาท/ตัน/กิโลเมตร สำหรับรถบรรทุกทั่วไป และไม่ต่ำกว่า 1,100 บาท/วัน สำหรับรถกระบะ

เท่ากับว่า CIGU จะผูกปิ่นโตกินค่าบริการจากโซลาร์ เซาเทิร์น เอ็กซ์เพรส สัดส่วน 30% ของรายได้ของ VE Logistics Platform รวมทั้งมีการรับประกัน EBITDA รวมไม่เกิน 450 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2568-2572…ไม่นับรวมมูลค่าเพิ่มในอนาคต ที่คาดจะสูงถึง 3,500 ล้านบาทเชียวนะ

เบื้องต้น CIGU ขายฝันว่าจะมีรายได้ค่าบริการ VE Logistics Platform จากโซลาร์ เซาเทิร์น เอ็กซ์เพรส ช่วงปี 2567-2572 โดยเฉลี่ยประมาณ 455.13 ล้านบาทต่อปี และมีกำไรสุทธิเฉลี่ย 245 ล้านบาทต่อปี

โอเค…ภาพรวมก็ดูดีแหละ แต่มีจุดที่น่าตั้งข้อสังเกต ตรงที่จากการสืบค้นข้อมูล กู๊ด เวนเจอร์ส เป็นบริษัทที่เพิ่งก่อตั้งเมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2566 ด้วยทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท ขณะที่บริษัท เอ็กซ์เพรส (2023) โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของกู๊ด เวนเจอร์ส ก่อตั้งก่อนหน้าเพียง 1 เดือน หรือในวันที่ 8 ก.พ. 2566 ด้วยทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาทเช่นกัน

อ้อ…ผู้ถือหุ้นใหญ่ของเอ็กซ์เพรส (2023) โฮลดิ้ง ได้แก่ “ดนยา มหานิลวงศ์”, “ปฏิพัทธ์ อัคคภิญญา” และ “กษิติเดช ถนอมสิน”

แล้วถ้าไปดูแบ็กกราวนด์ของโซลาร์ เซาเทิร์น เอ็กซ์เพรส ซึ่งได้สิทธิในการบริหารจัดการ VE Logistics Platform ก็จะเชื่อมโยงกับเอ็กซ์เพรส (2023) โฮลดิ้ง จากการมีผู้ถือหุ้นใหญ่คนเดียวกัน นั่นคือ “ดนยา” อะนะ…

ที่สำคัญดูเหมือน VE Logistics Platform เป็นแพลตฟอร์มใหม่ถอดด้ามนะเนี่ย แต่ทำไม CIG ให้ค่าตีราคาสูงลิบลิ่วตั้ง 450 ล้านบาท…อันนี้ก็น่าคิด

เอาเถอะ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใดก็แล้วแต่…แต่เกรงว่าภาพที่ดูสวยหรู สุดท้ายจะเป็นเพียงมายาตัวเลข ก็ไม่รู้สินะ..!?

ซึ่งถ้าเป็นจริงดังว่า…ก็เผ่นกันเถอะ..!!

…อิ อิ อิ…

Back to top button