‘พลังงานสะอาด’ เทรนด์ดี..ปริมาณไม่เดิน

“ตลาดพลังงาน” เผชิญความวุ่นวายช่วงปีที่ผ่านมา หลังเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนส่งผลให้ราคาก๊าซและถ่านหินในยุโรปและเอเชีย ปรับตัวเพิ่มขึ้น


รายงานจาก Statistical Review of World Energy ระบุว่า ความต้องการสำหรับพลังงานทั่วโลกเพิ่มขึ้น 1% ช่วงปี 2565 โดยการเติบโตของพลังงานหมุนเวียน ยังไม่เพียงพอจะเปลี่ยนแปลงความต้องการส่วนมากของโลก ที่ยังต้องพึ่งพิงเชื้อเพลิงฟอสซิล หรือคิดเป็น 82% ของอุปทานทั้งหมด

โดย “ตลาดพลังงาน” เผชิญความวุ่นวายช่วงปีที่ผ่านมา หลังเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนส่งผลให้ราคาก๊าซและถ่านหินในยุโรปและเอเชีย ปรับตัวเพิ่มขึ้น จนแตะระดับสูงเป็นประวัติการณ์

อย่างไรก็ดีผลิตภัณฑ์จากน้ำมัน ก๊าซและถ่านหิน ถือเป็นที่ต้องการส่วนมากในตลาดอยู่ เมื่อปีที่ผ่านมา แม้ว่าภาคส่วนของพลังงานหมุนเวียน จะเห็นการเติบโตขึ้นของกำลังการผลิตมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา รวมกันสูงถึง 266 กิกะวัตต์ (ประมาณ 266,000 เมกะวัตต์) โดยมีพลังงานแสงอาทิตย์ ที่มีการเติบโตมากสุด ตามมาด้วยพลังงานลม

Juliet Davenport ประธานสถาบันอุตสาหกรรมพลังงาน ที่ตั้งอยู่ในสหราชอาณาจักร ระบุว่า ถึงแม้จะมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของกลุ่มพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม แต่ว่าโดยรวมแล้วการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงานทั่วโลกยังเพิ่มขึ้นอยู่เหมือนเดิม ถือว่าตรงกันข้ามกับสิ่งที่ควรจะเป็นจาก “ความตกลงปารีส (Paris Agreement)”

ทั้งนี้สถาบันพลังงานเป็นผู้เผยแพร่รายงานประจำปีนี้เป็นครั้งแรก เพื่อใช้เป็นบรรทัดฐานสำหรับอุตสาหกรรมพลังงาน โดยมี KPMG และ Kearny เป็นที่ปรึกษา ทั้งนี้รายงานดังกล่าว มีบริษัท British Petroleum (BP) บริษัทน้ำมันและก๊าซขนาดใหญ่ของอังกฤษ เป็นผู้เผยแพร่มาตลอด ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1950 และเพิ่งจะเปลี่ยนมาให้สถาบันพลังงานเป็นผู้เผยแพร่

บรรดาเหล่านักวิทยาศาสตร์ มองว่า ทั่วโลกจำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากระดับที่เคยอยู่ช่วงปี 2562 ลงประมาณ 43% ภายในปี 2573 เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายของความตกลงปารีส

โดยรายงาน ระบุว่า ปี 2565 ความต้องการพลังงานทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้น 1% เป็นการเติบโตที่ช้ากว่าปีก่อนหน้า ที่เห็นการเพิ่มขึ้น 5.5% และสูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 อยู่ประมาณ 3% โดยความต้องการน้ำมันที่สูงขึ้นนั้น มาจากทุกประเทศยกเว้นโซนยุโรป ขณะที่พลังงานหมุนเวียน ยกเว้น พลังงานน้ำ คิดเป็น 7.5% ของการอุปโภคบริโภคพลังงานทั้งหมดของโลก และเพิ่มขึ้นเพียง 1% จากปีก่อน

ด้านส่วนแบ่งตลาดด้านการใช้งานของเชื้อเพลิงฟอสซิลยังอยู่ที่ 82% ขณะที่การผลิตไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น 2.3% แต่ว่าอยู่ในอัตราที่น้อยกว่าปีก่อนหน้า โดยพลังงานลม เห็นการเติบโตมากสุดในกลุ่มพลังงานสะอาด อย่างไรก็ตามถ่านหินยังเป็นเชื้อเพลิงหลักสำหรับการผลิตพลังงาน มีส่วนแบ่งอยู่ที่ประมาณ 35.4%

โดยพบว่าการอุปโภคบริโภคน้ำมันปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 2.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาแตะที่ระดับ 97.3 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตามถือเป็นการเติบโตช้าลงกว่าเดือนก่อนหน้า และยังต่ำกว่าช่วงก่อนโควิดอยู่ 0.7% ส่วนกำลังผลิตของการกลั่นน้ำมันเพิ่มขึ้น 534,000 บาร์เรลต่อวัน

สำหรับความต้องการของก๊าซธรรมชาติ เพิ่มขึ้น 3% ทั่วโลก ท่ามกลางราคาที่สูงในแถบเอเชียและยุโรป ส่วนการผลิต LNG ปรับตัวสูงขึ้น 5% มาแตะ 5.42 แสนล้านคิวบิกเมตร และเห็นการเติบโตจากอเมริกาเหนือและเอเชียแปซิฟิกมากที่สุด

ขณะที่ยุโรปมีอัตราการเพิ่มขึ้นของความต้องการ LNG มากสุด มีการนำเข้าสูงขึ้น 57% ส่วนประเทศในเอเชียแปซิฟิก อเมริกาตอนกลางและใต้ลดการซื้อ LNG ลง และปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่น ผันตัวมาเป็นผู้นำเข้า LNG มากสุดแทนประเทศจีน

ที่สำคัญราคาถ่านหินแตะระดับสูงสุด โดยยุโรปเพิ่มขึ้น 145% และญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 45% ส่วนความต้องการใช้ถ่านหินเพิ่มขึ้น 0.6% ทำสถิติสูงสุดใหม่นับตั้งแต่ปี 2557 ผลักดันโดยความต้องการจากจีนและอินเดีย ขณะที่การใช้งานในอเมริกาเหนือ และยุโรปลดลง

ด้วยดีมานด์พลังงานแบบดั้งเดิมยังสูง..ทำให้ “พลังงานสะอาด” คงเดินหน้าต่อได้ยากทีเดียว

Back to top button