11 องค์กร (ตลาดทุน) เรียกศรัทธา?
นับแต่ก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ไม่เคยมีการเรียกชุมนุมผู้เกี่ยวข้องกับตลาดทุนโดยพร้อมเพรียง มาแถลง “กรณี STARK และแนวทางเสริมสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุน” เช่นนี้
นับแต่ก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ พ.ศ. 2518 เป็นต้นมา ก็ไม่เคยมีการเรียกชุมนุมผู้เกี่ยวข้องกับตลาดทุนโดยพร้อมเพรียง มาแถลง “กรณี STARK และแนวทางเสริมสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุน” เช่นนี้
วันนั้น 26 มิ.ย. 66 ถือเป็นวันบันทึกประวัติศาสตร์วันหนึ่งของตลาดทุนไทย ที่องค์กรก.ล.ต.เป็นผู้นำเรียกประชุม 11 องค์กร ล้วนเป็นผู้มีส่วนใดส่วนเสีย ตลอดจนความรับผิดชอบกรณีฉาวโฉ่ STARK ทั้งสิ้น อันประกอบด้วย
1.ธวัชชัย พิทยโสภณ รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการสำนักงานก.ล.ต. 2.ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 3.กุลเวช เจนวัฒนวิทย์ กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย และ 4.สุพจน์ สิงห์เสน่ห์ เลขาธิการ สภาวิชาชีพบัญชี
5.ไพศาล ธรสารสมบัติ กรรมการสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย 6.สมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน 7.สมภพ กีระสุนทรพงษ์ ประธานกรรมการ ชมรมวาณิชธนกิจ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย และ 8.ศักดิ์ดา พงศ์เจริญยง กรรมการผู้จัดการบริษัท ทริสเรตติ้ง จำกัด
9.ชวินดา หาญรัตนกูล นายกสมาคม สมาคมบริษัทจัดการลงทุน 10.ดร.สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย และ 11.สิริพร จังตระกุล เลขาธิการ สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย
ไม่ต้องบอกก็รู้ว่า “สังคมคิดอะไรหรือคาดหวังอะไร” จากการชุมนุม 11 บิ๊กตลาดทุนคราวนี้
บทสรุปการฉ้อฉลทุจริตหมดจดไหม จะจัดการลงโทษผู้กระทำผิดได้รวดเร็วมากน้อยเพียงใด มาตรการเยียวยาผู้เสียหาย มาตรการล้อมคอก (อีกที) หลังจากวัวหายไปหลายครั้งแล้ว ตลอดจนความคาใจผู้สอบบัญชี (ดีลอยท์ ทูช์ฯ) หลับหูหลับตาเสกกำไรให้สตาร์ค 3 ปีได้อย่างไร ทริสฯ ก็อีกให้เครดิตเรตติ้งสตาร์คซะสูงปรี๊ด ตั้ง BBB+
สังคมคงได้คำตอบไปแล้ว ว่า หวังได้ในระดับไหนจากที่ชุมนุมวันนั้น
ก.ล.ต.ก็ทำไปเยอะแล้ว ถึงขั้นหอบหลักฐานไปมอบ DSI จนรับเป็นคดีพิเศษไปแล้ว แต่อย่างว่าคำตอบในเรื่องการ “ล้อมคอก” ยังไม่มี รวมทั้งการควบคุมมาตรฐานการทำงานของ “ผู้สอบบัญชี” ในฐานะเป็นผู้ให้ไลเซนส์ ควรมีประสิทธิภาพในการให้คุณให้โทษดีกว่านี้
ความเสียหายจริงที่ได้รับจากสตาร์คทั้งเงินกู้ หุ้นกู้ เงินเพิ่มทุน และความเสียหายของผู้ลงทุนในหุ้น คิดเป็นตัวเงินในราว 2.7 หมื่นล้านบาท
ส่วนผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ คิดละเอียดลออไปถึงความเสียหายทางบัญชีจากงบปี 65 มีมูลค่ารวม 21,500 ล้านบาท ประกอบด้วย
1)การปรับแต่งตัวเลขสั่งซื้อวัตถุดิบและสั่งสินค้าจากซัพพลายเออร์ถึง 10,400 ล้านบาท 2)การรับรู้รายได้จากการขายและลูกหนี้การค้าสูงเกินความจริงรวมมูลค่า 7,760 ล้านบาท 3)การจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากการขายที่ไม่เกิดขึ้นจริงรวม 670 ล้านบาท 4)การตั้งค่าเผื่อลูกหนี้การค้าเพิ่มขึ้นจากการดำเนินงานที่ไม่ถูกต้อง 794 ล้านบาท และ 5)การขาดทุนจากสินค้าคงเหลือหาย (สต๊อกหาย) 1,790 ล้านบาท
สรุปทั้งรายได้ ค่าใช้จ่าย สต๊อก ภาษี เป็น “ทิพย์” ทุกเรื่อง แล้วจะยังไงต่อไป!
ก่อนหน้าวันชุมนุม 11 องค์กรนี้ ผมเห็นตลาดหลักทรัพย์ฯ ออกข่าวแจกคำแถลงจะมีการปรับปรุงเกณฑ์กำกับดูแลตลาดทั้ง SET และ MAI ผมก็ว่า ดูจะดี พอมีความหวังนะ โดยเฉพาะในเรื่องของการขึ้นเครื่องหมาย “C-Caution”
เพื่อเตือนภัยนักลงทุนในกรณีต่าง ๆ เกี่ยวกับหลักทรัพย์นั้น อาทิ ฐานะการเงินบริษัทที่มีแนวโน้มลดลง การผิดนัดชำระหนี้ หรือกรณีผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงิน ฯลฯ
หากจะให้ดียิ่งขึ้นไปอีก ผมขอเสนอให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งฝ่ายงาน ประมาณว่าเป็นฝ่าย QC หรือ Quality Control หลักทรัพย์ในตลาด ที่มิใช่ทำงานแบบฝ่ายกำกับหลักทรัพย์ของตลาดฯ ที่เอาแต่ถามบจ.เมื่อข่าวปรากฏไปเลย
ตั้งฝ่ายคิวซีตลาดฯ ให้มันจริงจัง จะช่วยทั้งการปราบปรามและการป้องกันการฉ้อฉลทุจริตในตลาดทุนได้ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น