ปตท.ปรับแผนลงทุนใหม่เพื่ออนาคต

PTT ทบทวนแผนการลงทุนสำหรับปี 2566 ใหม่ เพิ่มวงเงินอีก 60,254 ล้านบาท จาก 33,344 ล้านบาท เป็น 93,598 ล้านบาท


เส้นทางนักลงทุน

บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ทบทวนแผนการลงทุนสำหรับปี 2566 ใหม่ เพิ่มวงเงินอีก 60,254 ล้านบาท จาก 33,344 ล้านบาท เป็น 93,598 ล้านบาท โดยมี 2 ธุรกิจ คือ ธุรกิจท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ที่เงินลงทุนเพิ่มจาก 7,503 ล้านบาท เป็น 7,945 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 442 ล้านบาท และการลงทุนในบริษัทที่ปตท.ถือหุ้น 100% เพิ่มจาก 12,515 ล้านบาท เป็น 73,779 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 61,264 ล้านบาท

สำหรับ 3 กลุ่มธุรกิจที่ถูกปรับลดงบลงทุนลง ประกอบด้วย ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ จาก 10,023 ล้านบาท เหลือ 9,162 ล้านบาท, ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศและธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย จาก 863 ล้านบาท เหลือ 769 ล้านบาท, ธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐานและสำนักงานใหญ่ จาก 2,440 ล้านบาท เหลือ 1,943 ล้านบาท

การลงทุนในบริษัทที่ปตท.ถือหุ้น 100% เช่น เงินลงทุนสำหรับรองรับการร่วมลงทุนของบริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด ในโครงการ LNG Receiving Terminal แห่งที่ 2 และการร่วมลงทุนในธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร โดยหลักมาจากโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของบริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด และโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในประเทศไทยของบริษัท อรุณ พลัส จำกัด

ก่อนหน้านี้ บริษัท อรุณพลัส จำกัด ได้จับมือกับบริษัท Contemporary Amperex Technology Co., Limited (CATL) เพื่อร่วมจัดตั้งโรงงานประกอบแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนแบบ Cell-To-Pack (CTP) ในประเทศไทย ภายใต้กรอบการลงทุนกว่า 3,600 ล้านบาท โรงงานดังกล่าวจะพร้อมเดินสายการผลิตภายในปี 2567 ด้วยกำลังการผลิต 6 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี ซึ่งถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญของกลุ่ม PTT ในการดำเนินธุรกิจแบตเตอรี่อย่างครบวงจรในอนาคต

ตามงบลงทุนที่ทบทวนใหม่นี้ ในส่วนการลงทุนในโครงการอื่น ๆ ที่เป็นธุรกิจหลัก (Core Business) ของ PTT เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศยังคงเป็นไปตามแผนการลงทุนเดิม เช่น โรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 7 เพื่อทดแทนโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 1 รวมทั้งโครงการท่อส่งก๊าซฯ บางปะกง-โรงไฟฟ้าพระนครใต้ และโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกเส้นที่ 5

การทบทวนการลงทุนครั้งนี้ชี้ว่า PTT มองเป้าหมายธุรกิจระยะยาว ดังนั้นบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) แนะนำสะสมหุ้นเพื่อลงทุน มองการร่วมลงทุนกับ CATL ตั้งโรงงานแบตเตอรี่ EV ถือเป็นบวก ดีระยะยาว การก่อตั้งโรงงานดังกล่าวจะช่วยเสริมศักยภาพการผลิตยานยนต์ EV  อย่างไรก็ตาม PTT มีความเสี่ยง คือกำไรไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ไม่สดใส จากโรงกลั่นและปิโตรเคมี ทั้งนี้ให้ราคาพื้นฐาน 43 บาท คาดอัตราผลตอบแทนเงินปันผล 5% ต่อปี

ด้านบล. แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ระบุว่า เป้าหมายธุรกิจระยะยาวของ PTT คือ การมองหา New Growth ด้วยการเพิ่มสัดส่วนกำไรของธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต และธุรกิจอื่นให้มากกว่า 30% ในปี 2573 จึงมีกลยุทธ์ธุรกิจที่สำคัญ 2 เรื่อง คือการมุ่งสู่ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและยานยนต์ไฟฟ้า (Future Energy) และรุกธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน (Beyond)

โดยหลักการสำคัญในการขยายธุรกิจคือ การมองหาพันธมิตรที่แข็งแกร่ง มีความเชี่ยวชาญจริงในธุรกิจนั้น ๆ พัฒนาธุรกิจใหม่ให้ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ และมองหาช่องทางขยายธุรกิจและสร้างความแข็งแกร่งด้านบริหารจัดการ โดยอาศัยทรัพยากรและฐานธุรกิจที่แข็งแกร่งกว้างขวางของ PTT

PTT ยังมีการลงทุนผ่านบริษัทย่อย อินโนบิก (เอเชีย) เช่น ความร่วมมือกับบริษัท Lotus ซึ่งจดทะเบียนในไต้หวัน ทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายยา โดยมุ่งเน้นยาสามัญที่ครอบคลุมหลายกลุ่มโรค โดยเริ่มลงทุนตั้งแต่ปี 2564 และเข้าถือหุ้น 20% ในบมจ.อินเตอร์ ฟาร์มา (IP) ทำธุรกิจพัฒนา คิดค้น และจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพครบวงจร ตั้งแต่เวชภัณฑ์นวัตกรรมยา จนถึงอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ ร้านขายยา และล่าสุดคือโรงพยาบาล โดยมีแผน Spin-off ร้านขายยาและโรงพยาบาลเข้าจดทะเบียนต่อไป

ตลอดจนลงทุนถือหุ้น 18% ในบมจ.นำวิวัฒน์ เมดิคอล คอร์ปอเรชั่น (NAM) ผู้ผลิต นำเข้า และจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อและให้บริการที่เกี่ยวข้อง โดย NAM ได้ยื่นไฟลิ่งเพื่อเตรียมทำ IPO แล้ว

มองว่าสัดส่วนกำไรจากธุรกิจ Future Energy & Beyond ที่จะค่อย ๆ เพิ่มขึ้น และความเคลื่อนไหวทางธุรกิจในอนาคต จะเป็นตัวช่วยที่ยกระดับ Valuation ในระยะยาวสำหรับ PTT ได้ แนะนำ “ซื้อ”

งบลงทุนของ PTT ที่เพิ่มขึ้น ถือเป็นการต่อยอดโอกาสและการเติบโตในอนาคตสำหรับธุรกิจใหม่ ๆ ซึ่งน่าจะทำให้มูลค่าของ PTT เพิ่มมากขึ้น

Back to top button