กินกลางตลอดตัวแฉทุกวัน ทันเกมหุ้น
ใครๆ ก็รู้ว่า บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL นั้นเป็นลูกค้าระดับ"เด็กปั้น" ที่เป็นของรักของหวงของเจ้าหนี้รายใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ที่ทำตัวเป็น "ป้าชุลีทางการเงิน" มาไม่ต่ำกว่า4 ปี นับตั้งแต่เข้าตลาดฯ มาเลยก็ว่าได้
ใครๆ ก็รู้ว่า บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL นั้นเป็นลูกค้าระดับ“เด็กปั้น“ ที่เป็นของรักของหวงของเจ้าหนี้รายใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ที่ทำตัวเป็น “ป้าชุลีทางการเงิน” มาไม่ต่ำกว่า4 ปี นับตั้งแต่เข้าตลาดฯ มาเลยก็ว่าได้
มีพี่เลี้ยงระดับเหนือกว่าป้าชุลีอย่างนี้ GUNKUL ถึงโตเอาๆๆๆ…ทั้งโตปกติ และโตทางลัด… โตเร็วแค่ไหน ให้ดูหุ่น เอ็มดีใหญ่ สมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย เป็นหมายสำคัญจะเห็นชัดเจน…อิอิอิ
ล่าสุด พี่เลี้ยงที่สวมบทเป็นที่เจ้าหนี้ชั้นดี และที่ปรึกษาการเงิน อย่างSCB ตัดสินใจล่าสุดเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่ GUNKUL เสนอขายให้แก่บุคคลในวงจำกัด (PP) จำนวน 41.50 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 24 บาท ซึ่งกำหนดจองซื้อและชำระราคาในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559
ผลจากการเข้าซื้อและถือดังกล่าว จะทำให้ SCB มีสัดส่วนการถือครองหุ้นของ GUNKUL ทั้งหมดประมาณ 3.13% ก็พอสมน้ำสมเนื้อ และไม่ผิดกฎกติกาอะไรของแบงก์ชาติเขาในการเข้าถือหุ้นที่ไม่ใช่ธุรกิจการเงิน
การตัดสินใจดังกล่าว… คงไม่ได้เกิดกะทันหัน เพราะเรื่องนี้ทางGUNKUL โดยนางสาวโศภชา ดำรงปิยวุฒิ ประธานกรรมการบริหาร เป็นผู้เปิดเผยเองว่า ทาง SCB ได้มีการติดต่อขอซื้อหุ้นมาตั้งแต่ช่วงต้นปี ตามยุทธศาสตร์ “แปลงลูกหนี้เป็นหุ้นส่วน“ แต่ทางกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ในปัจจุบันไม่มีความคิดที่จะลดสัดส่วนการถือหุ้นหรือขายหุ้นออกมา จึงไม่ได้มีความคืบหน้า
เรียกว่า สวยมาก ต้องเล่นตัว…ไม่ใช่พวก “เงินมา ผ้าหลุด” แน่นอน
แม้จะถูกเฉยเมย แต่ทางด้าน SCB จะถือหลัก ตื๊อเท่านั้นครองโลก เทียวไล้เทียวขื่อไม่มีเลิกรา…กะว่ารักแท้ ย่อมแพ้ใกล้ชิด
เจอลูกตื๊อนานๆ เข้า คณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) ของGUNKUL เริ่มทนความอึดไม่ไหว มีใจอ่อนโอนให้ มีการพิจารณาหลายรอบ ท้ายสุดยินยอมตกล่องปล่องชิ้น ตัดสินใจลงมติ ดังกล่าวออกมา ให้ออกหุ้นเพิ่มทุนแบบ PP ขายให้ SCB และเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้น กลายเป็นยุทธศาสตร์ “แปลงเจ้าหนี้เป็นหุ้นส่วน” ทางผู้ถือหุ้นก็เห็นชอบ
การซื้อหุ้น PP ของ SCB นั้น ราคาที่กำหนดสูงกว่ากระดานปัจจุบัน ที่ระดับ 21 บาทเศษ จึงเป็นหุ้นที่ไม่เข้าข่ายเกณฑ์กำหนดการห้ามซื้อขายตามไซเลนต์พีเรียด เพราะราคาที่จัดสรรให้นั้น เป็นราคาที่ไม่ได้ต่ำกว่ากระดาน หรือมีส่วนลดที่สูง
เพียงแต่ทางด้านตัวแทนของ SCB ที่มีอำนาจเจรจาดีลนี้ยืนยันชัดเจน“ทางวาจา” แบบสัญญาสุภาพบุรุษว่า SCB จะไม่มีการ“ฟันแล้วทิ้ง”ขายออกมาในช่วงระยะสั้น เพราะเป็นการเข้ามาลงทุนในระยะยาวตามแผนการลงทุนของธนาคาร
ส่วนจะมีคำว่า…เว้นเสียแต่จะมีความจำเป็น หรือเหตุสุดวิสัย หรือไม่…นางสาวโศภชา ไม่ได้เฉลยเอาไว้…ทิ้งไว้ในฐานที่เข้าใจ
ข้อดีทันทีทันใด 2 ข้อของดีลนี้ คือ
– ช่วยเสริมแรงเรื่องทุนสำหรับรองรับแผนการลงทุน ที่จะมีโครงการพลังงาน 500 เมกะวัตต์ในปี 2560 ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ที่350 เมกะวัตต์แล้ว แต่ยังขาดอยู่ประมาณ 150 เมกะวัตต์ ซึ่งตามแผนจะเข้าร่วมโครงการพลังงานทดแทนของภาครัฐที่คาดว่าจะเปิดในส่วนของสหกรณ์ชุมชน แถมมียังมีโอกาสสูงได้รับงานก่อสร้าง (EPC) เป็นรายได้เสริมต่อยอดอีก เพราะมีคู่แข่งน้อยมาก
– การได้ SCB มาถือหุ้นจะเป็น Strategic partner หรือพันธมิตรทางธุรกิจที่ดี เพราะเป็นสถาบันการเงินที่มีความมั่นคงและมีชื่อเสียง เพราะเข้ามาถือหุ้นพอเป็นพิธีไม่ได้มีส่วนครอบงำการบริหารบริษัท แต่ที่สำคัญกว่านั้น การที่ SCB เข้าซื้อหุ้นPP ทำให้บริษัทมีมูลค่าหุ้นทางบัญชี (Book value) สูงขึ้นประมาณ 10-13%
ทำงานใหญ่ทั้งที ก็ต้องมีหุ้นส่วนแข็งขันเพื่อบรรลุเป้าหมาย เป็นยุทธศาสตร์กินแบ่งที่ถูกต้อง สำหรับการเร่งโตทางลัด เพื่อคว้าโอกาสที่ไม่ได้มีบ่อยครั้งนัก
งานนี้นอกจากได้หุ้นส่วนชั้นเลิศมาเป็นฐานะใหม่ “เจ้าหนี้-ผู้ถือหุ้น” แล้ว นางสาวโศภชา ก็เลยถือโอกาสกลบกระแสแบบ “ตัดไฟแต่หัวลม” ล่วงหน้ากันไว้เลย … แบบว่าทำฉนวนกันไฟไว้รอรับแล้ว…โดยบอกว่า เรื่องกระแสข่าวลือที่ว่าบริษัทหมดเงิน จึงมีแผนจะแปลงสินทรัพย์เป็นทุน ด้วยการนำหุ้น PP ให้แก่ SCB นั้น ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง
ที่ไม่จริงเพราะมีกระแสเงินสดเหลือเฟือ มากกว่า 1,000 ล้านบาท และมีเงินที่ได้รับจากการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม (RO) เหลืออยู่ประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท และคาดว่าจะได้รับเงินจากวอร์แรนต์ที่จะครบอายุในช่วงปี 2560 จำนวน 91 ล้านหุ้น มูลค่าประมาณ 2,500 ล้านบาท ประกอบกับอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) ที่ 1.6 เท่า ยังถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับเพดานที่มองไว้ที่ 3 เท่า
ที่สำคัญ GUNKUL ไม่ได้มีเจ้าหนี้รายเดียว แต่กระจายความเสี่ยง…คนสวยเลือกได้อีกน่ะแหละ
ใครให้เงื่อนไขดีกว่า ก็เลือกใช้บริการฺ…ไม่มีเอ็กซ์คลูซีฟสังกัดค่ายไหนตายตัว
แหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินในแต่ละโครงการของ GUNKUL นั้น มาจากหลายธนาคาร ไม่ว่าจะเป็นธนาคารทิสโก้ ธนาคารธนชาต โดย SCB ก็เป็นหนึ่งในหลายสถาบันการเงินที่เข้ามาช่วยสนับสนุนทางด้านเงินทุนเท่านั้น…แต่มากหน่อย…อิอิอิ
เข้าใจตรงกันนะจ๊ะ…ผู้บริหาร SCB
คำถามข้อสุดท้าย ไม่มีคำตอบตอนนี้ อยู่ที่ว่า การแปลงฐานะใหม่ของ SCB จากเจ้าหนี้-พี่เลี้ยงทางการเงิน มาเป็นหุ้นส่วนด้วย จะทำให้เกิดปัญหาเรื่อง ผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่
เพราะงานนี้ ไม่ใช่ กินหัว หรือ กินหาง…แต่เป็นการ “กินกลางตลอดตัว” เหมือนเกมงูกินหางเลย…(รักษาประเพณีไทยจุงเบย)
คงไม่ถึงกับต้องให้ผู้บริหารแบงก์ชาติมาตอบ…ก็แล้วกัน