กฟผ. ขอแจง..เก็คโค่-วัน.!

หลังจากโรงไฟฟ้าเก็คโค่-วัน เจ้าปัญหา ต้องหยุดผลิตไฟฟ้าโดยยังได้รับค่าความพร้อมจ่ายตั้งแต่เดือน มี.ค.-ต.ค. 2566 เป็นอย่างน้อย ตามคำสั่งของ กฟผ.


หลังจากโรงไฟฟ้าเก็คโค่-วัน เจ้าปัญหา (โครงการร่วมทุนระหว่าง บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ในกลุ่มปตท.ถือหุ้น 65% กับบริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP ถือหุ้น 35%) ต้องหยุดผลิตไฟฟ้าโดยยังได้รับค่าความพร้อมจ่ายตั้งแต่เดือน มี.ค.-ต.ค. 2566 เป็นอย่างน้อย ตามคำสั่งของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)…

นำมาสู่ข้อพิพาท ถูกคู่ค้า AVRA International DMCC (AVRA) ผู้จัดหาถ่านหิน ยื่นร้องต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการของสภาหอการค้านานาชาติ (International Chamber of Commerce หรือ ICC) กรณียกเลิกคำสั่งซื้อถ่านหินจาก AVRA ทำให้ได้รับความเสียหายประมาณ 309 ล้านเหรียญสหรัฐ

ล่าสุดกฟผ.ซึ่งถูกตราหน้าว่าเป็นต้นเหตุของเรื่องนี้ ได้ร่อนหนังสือชี้แจงใน 2 ประเด็นหลัก..!!

ประเด็นแรก คำสั่งหยุดผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าเก็คโค่-วันนั้น กฟผ.นั่งยันนอนยันว่ามิได้สั่งหยุดเดินเครื่องกะทันหันนะออเจ้า…แต่มันมีที่มาที่ไป สืบเนื่องจากโครงสร้างต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าเก็คโค่-วัน มีการอ้างอิงราคาถ่านหินจากดัชนีราคาอ้างอิงย้อนหลัง 1 ปี และ 7 เดือน (ดัชนี : BREE Y-1, ACR M-7) ทำให้สะท้อนไปในช่วงปีก่อนที่ราคาเชื้อเพลิงในตลาดโลกค่อนข้างสูง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าเก็คโค่-วัน ในปีนี้สูงขึ้นอย่างมาก

ในทางกลับกัน สถานการณ์ราคา Spot LNG ในช่วงต้นปีมีการปรับตัวลดลงอย่างมาก ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติมีราคาลดลง ดังนั้นกฟผ.จึงได้ประสานเก็คโค่-วัน เพื่อหารือปริมาณถ่านหินในปี 2566 แจ้งสถานการณ์ราคาเชื้อเพลิง

จากเหตุผลดังกล่าว กฟผ.จึงจัดทำแนวทางการหยุดการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าเก็คโค่-วัน ซึ่งมีราคาสูงและเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำกว่าทดแทนเพื่อไม่ให้กระทบต่อค่าไฟฟ้าของประชาชน เสนอไปยังสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) และที่ประชุมกกพ.เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2566 มีมติรับทราบการดำเนินการของกฟผ.เรื่องดังกล่าว และปฏิบัติตามเงื่อนไขในข้อสัญญาฯ ที่มีกับโรงไฟฟ้าตามขั้นตอน

โปรดเข้าใจตรงกันนะ..!!

ส่วนประเด็นที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า จะไปเกี่ยวพันกับปริมาณสำรองไฟที่ล้นปรี่ในขณะนี้อ๊ะป่าวนั้น..?

ประเด็นนี้กฟผ.ยันหัวชนฝาไม่เกี่ยวข้องกับปริมาณกำลังผลิตสำรองหรือลดกำลังการผลิตแต่อย่างใด

แค่เป็นการปรับเปลี่ยนลำดับการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าตามลำดับต้นทุนค่าไฟฟ้า เพื่อให้กระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด เพราะการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติทดแทนถ่านหินนำเข้าของโรงไฟฟ้าเก็คโค่-วัน จะทำให้ประชาชนจ่ายค่าไฟฟ้าลดลงประมาณ 11,340 ล้านบาท หรือ 6.13 สตางค์ต่อหน่วย

พร้อมสำทับอีกว่า การสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าของศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้า กฟผ. ตระหนักถึงความมั่นคงของระบบไฟฟ้า เงื่อนไขสัญญาที่มีต่อคู่สัญญาและควบคุมต้นทุนค่าไฟฟ้าให้มีความเหมาะสม โดยยึดหลักเกณฑ์การสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนการผลิตต่ำที่สุดตามลำดับ หรือที่เรียกว่า Merit Order ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อความเป็นธรรมในการสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าและคำนึงถึงผลกระทบค่าไฟฟ้าที่มีต่อผู้ใช้ไฟฟ้าเป็นสำคัญ

โอเค…ทราบแล้วเปลี่ยน..!! ส่วนจะฟังขึ้นหรือเปล่า..? แล้วแต่จะคิด…

แหม๊…นี่ถ้าบอกกล่าวกันตั้งแต่แรก คงไม่ต้องจินตนาการไปเลยเถิดขนาดนี้…

คราวหน้าก็กริ๊งกร๊างมาบอกกล่าวกันก่อนได้นะ อย่าปล่อยให้มโนไปเอง…เดี๋ยวจะกลายเป็นดราม่า…ไม่รู้ด้วยนะ

…อิ อิ อิ…

Back to top button